“วรินทร์” ย้ำยังไม่เห็นทางออกไหนเลยว่าแก้มาตรา 291 จะไม่ขัดมาตรา 68 ระบุหากศาลตัดสินผิดจริงต้องถูกนำสู่คดีอาญา-ยุบพรรค-ตัดสิทธิทางการเมือง อย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจน ด้าน “คำนูณ” แจง 6 ก.ค. ศาลยังไม่วินิจฉัย เพราะต้องรับฟังคำแถลงของทั้ง 2 ฝ่าย คาดอย่างเร็วสุดตัดสิน 13 ก.ค. อย่างช้า 21-22 ก.ค.
วันที่ 2 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายวรินทร์ เทียมจรัส ส.ว.สรรหา ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV โดยนายคำนูณ กล่าวว่า ศาลวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ว่าขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ ผลคงไม่ออกมาในวันที่ 6 กรกฎาคม แบบที่บางกลุ่มเข้าใจ เพราะวันที่ 5 กรกฎาคม ศาลจะให้เวลาสำหรับผู้ร้อง ซึ่งมี 5 สำนวน อาจมีการขออนุญาตศาลแถลงการด้วยวาจา
วันที่ 6 ศาลก็จะให้ผู้ถูกร้องมาแถลงด้วยวาจา แต่ถ้าท่านไม่ติดใจ การแถลงด้วยวาจาก็ไม่มี ก็ถือว่าใช้คำแถลงด้วยลายลักษณ์อักษร จากประสบการณ์ของตน เชื่อว่าวันที่ 6 หลังศาลฟังทั้งสองฝ่ายเสร็จแล้วก็จะมีรายงานทางกระบวนการพิจารณา หรืออาจมีรายงานกระบวนการพิจารณาตั้งแต่วันที่ 5 ซึ่งรายงานกระบวนการพิจารณาอาจนัดวันให้ฟังคำวินิจฉัย ซึ่งโดยปกติก็อีกภายใน 7 วัน ฉะนั้นเวลาที่เร็วที่สุดที่ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยได้ ก็คือ 13 กรกฎาคม หรือ 2 สัปดาห์ ก็บวกไปอีก 7 วัน ประมาณวันที่ 21-22 กรกฎาคม
นายวรินทร์กล่าวถึงกลุ่มคนที่ออกมาด่าศาลว่ามีการตั้งธงคำวินิจฉัยว่า ขอเตือนว่าอย่าพูดว่ามีธง เพราะศาลเป็นดุลแห่งองค์กรอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ฉะนั้นประชาชนจะได้รับการคุ้มครองในการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และการแสดงความคิดเห็นเช่นว่านั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ถ้าบอกว่าศาลมีธงถือว่ากดดันศาล ถ้าเป็นศาลธรรมดาได้รับหมายแน่นอน แต่ถ้าแน่ใจคำว่ามีธง เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต บอกไปเลยธงว่าอย่างไร ให้ชัดเจนเลย แต่ถ้าพูดไปเรื่อยๆมีปัญหา
นายคำนูณกล่าวว่า ข้อกล่าวหาตั้งธงไว้ เสื้อแดงผูกเรื่องราวต่างๆเข้าด้วยกันแล้วบอกว่าเป็นแผนอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าวางแผนไว้ศาลต้องยับยั้ง พ.ร.ก.กู้เงิน-พ.ร.ก.โอนหนี้ แล้ว แต่นี่ก็ไม่ได้ยับยั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็ต้องมองตัวเองด้วย ว่าทำเรื่องนี้ไปอย่างไม่ฟังใคร เดินหน้าไม่ฟังเสียงทักท้วงเลย ซึ่งถ้าฟังยังใช้ประเด็นในการต่อสู้ได้
ประเด็นสำคัญสุดต้องทำความเข้าใจว่าไม่มีใครคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ แม้อาจไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่จะแก้ แต่ก็อยากให้มาสู้กันด้วยเหตุด้วยผล แพ้ก็คือแพ้ ชนะก็คือชนะ แต่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นการแก้แบบมาตุฆาต กับอัตวินิบาตกรรม ล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และโอนอำนาจไปให้องค์กรนอกรัฐธรรมนูญ แล้วไม่กลับมาที่สภาอีกเลย
“การที่ศาลรับพิจารณาว่าขัดมาตรา 68 หรือไม่ เพราะถ้าไม่รับสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญก็ไม่เกิดผล การตัดสินว่ารับมันยากกว่าตีความว่าสิ่งที่ทำขัดมาตรา 68 เสียอีก เพราะพอรับแล้ว อ่านตามภาษาชาวบ้านทั่วไป ยังไงก็ขัด วินิจฉัยไม่ยาก” นายคำนูณระบุ
นายวรินทร์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้แก้ไขได้ เขียนไว้ในมาตรา 291 ถ้าทำตามนั้นก็ไม่มีปัญหา ต่อมาหลังจากร่าง พ.ร.บ.ผ่านวาระ 3 กฎหมายก็ให้สมาชิกแห่งรัฐสภาทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็คือการเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการชี้ขาดว่าเป็นอย่างไร แต่บังเอิญกฎหมายฉบับนี้เป็นร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. ก็เลยตีความว่าเตะออกไปนอกรัฐสภาเลย จึงเกิดช่องว่างที่เรียกว่าเผด็จการรัฐสภา กลไกกฎหมายจึงเขียนกันไว้อีกรอบ คือให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตกอยู่กับประชาชนในมาตรา 68
อีกทั้งผู้ถูกร้องกินปูนร้อนท้อง คือกลัวว่าศาลจะย้อนเกล็ดไปฟังข้อเท็จจริงว่าก่อนแก้รัฐธรรมนูญ มีความคิดอย่างไร กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นอาชกรรมทางการเมือง มีโจทย์ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว พอเป็นรัฐบาลก็มีแนวคิดว่าจะแก้มาตราไหนบ้าง หยั่งเชิงออกมาทีละมาตรา ทั้งนิรโทษกรรม พระราชทานอภัยโทษ สุดท้ายก็มาที่ปรองดอง แล้วก็จะข้ามไปแก้มาตรา 309 ซึ่งอันนี้มาตราเดียว คนเมืองนอกกลับบ้านได้เลย แล้วกล่าวหาว่าศาลมีธง ศาลทำโดยอำเภอใจไม่ได้ เพราะต้องทำโดยเปิดเผย เปิดให้เข้าฟัง แล้วเปิดให้คัดค้านตัวผู้พิพากษาก็ได้
นายวรินทร์กล่าวอีกว่า จะมองว่ามาตรา 68 เป็นเรื่องการใช้อำนาจไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คนแก้อ้างว่าเป็นอำนาจ แต่อำนาจก็คือสิทธิอย่างหนึ่งซึ่งมีกฎหมายรองรับให้ทำ แม้คุณใช้สิทธิในการล้มล้างรัฐธรรมนูญก็มีความผิดตามมาตรา 68 แน่นอน ตนยังไม่เห็นทางออกตรงไหนเลยว่าไม่ขัด แล้วผลของกาารขัดมาตรา 68 จะเกิดผล 3 ประการ คือ
1. ศาลมีอำนาจสั่งให้ยุติการกระทำทั้งหมด
2. ผู้กระทำผิดไปสู่การลงโทษทางการเมือง ก็คือการยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ตรงนี้ก็จะไปว่ากันในกระบวนการของ กกต.
3. กฎหมายเขียนว่าไม่ตัดสิทธิดำเนินคดีอาญา ปัญหาคือผู้ตัดสิทธิเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ต้องไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระบวนการนี้ก็ตัดตอนไปที่ ป.ป.ช. แล้วก็ชงสำนวนย้อนกลับมาอีกรอบหนึ่ง
ฉะนั้นมันจะแตกรูปคดีอีก 2 คดีแน่นอน มี 1 แล้ว 2-3 ต้องตามมา กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น ขึ้นอยู่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง แล้วผล 2-3 จะมีกระบวนการเยียวยาก็ค่อยว่ากันอีกที
นายคำนูณกล่าวเสริมว่า โดยทั่วไปตนเห็นว่าพรรคเพื่อไทยก็ถอยหลายก้าว ทั้ง พ.ร.บ.ปรองดอง แก้รัฐธรรมนูญมติวาระ 3 และเรื่องนาซา ต่อให้ศาลวินิจฉัยอย่างไร ตราบใดที่ยังเป็นนายกฯ ยังเป็นรัฐบาล สามารถถอยได้ทุกเรื่อง เพราะอย่างไรก็เป็นแค่นักการเมืองธรรมดา ไม่ใช่กองหน้าขบวนการประชาธิปไตยแบบที่เสื้อแดงเชื่อ ขอเพียงให้ได้มีอำนาจต่อไปยาวๆ สามารถยอมได้ทุกอย่าง