อาคม สุวรรณนพ: ประชาธิปไตย ไทย-พม่า ใครจะเร็วกว่ากัน ?

ประชาไท 14 มิถุนายน 2555 >>>


สัปดาห์ก่อนนี้ อองซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของพม่า ซึ่งปัจจุบันได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้มาเข้าร่วมประชุมสภาเศรษฐกิจโลกภูมิภาคเอเซียตะวันออก( World Economics Forum on East Asia-WEF ) ที่กรุงเทพฯบ้านเรา และนับเป็นการออกสู่ต่างประเทศเป็นครั้งแรกของเธอ หลังจากที่เธอถูกเผด็จการทหารเมียนม่าร์กักบริเวณไว้ในบ้านพักถึง 21 ปี และเธอไม่มีโอกาสออกจากประเทศเมียนม่าร์ถึง 24 ปีเต็ม
การประชุมครั้งนี้นับเป็นการประชุมครั้งสำคัญในระดับสากล ประเทศต่างๆทุกทวีปและอนุทวีปส่งผู้แทนระดับสูงเข้าประชุมกว่า 630 คนจาก 50 ประเทศ ทั้งมีผู้นำทางความคิดเข้าร่วมกว่า 50 คน จาก 20 ประเทศ นักธุรกิจชั้นนำของโลกกว่า 450 คน ผู้แทนบริษัทชั้นนำของโลกที่กำลังมีการเจริญเติบโตสูกอีกเกือบ 60 ราย ผู้นำรุ่นใหม่ 33 คน และนักพัฒนาสังคมอีก 14 ราย ได้เข้าร่วมกันแลกเปลี่ยนทัศนะและอภิปรายประเด็นปัญหาสำคัญที่เอเซียตะวันออกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ทางประเทศเมียนม่าร์นั้น ทีแรกก็มีข่าวว่าประธานาธิบดีเต็งเส่งจะมาด้วยตนเองพร้อมด้วยนางอองซานซูจีที่ได้รับเชิญเป็นส่วนตัวในฐานะแขกของ WEF แต่ต่อมาทางการพม่าได้แจ้งมาว่าท่านเต็งเส่งนั้นติดภารกิจสำคัญอย่างกระทันหันจึงขอเลื่อนการมาประเทศไทยเป็นวันที่ 4-5 มิ.ย. ย และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและ รมช.กระทรวงท่องเที่ยวมาประชุมแทน
นางอองซานซูจีนั้นในฐานะแขกพิเศษของ WEF ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ 29 พ.ค. แล้วไปเยี่ยมแรงงานรับจ้างชาวพม่าที่มหาชัย ซึ่งก็นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดีจนแรงงานพม่าหลายพันคนยกขบวนมาจากจังหวัดต่างๆเพื่อต้อนรับเธอที่นั่น และเธอก็ได้ใช้โอกาสนั้นพบปะอย่างเป็นกันเองและกล่าวปราศัยเรียกร้องให้ชาวพม่าทุกคนที่ต้องมาอยู่เมืองไทย ให้เคารพกฎหมายไทย และทำตัวอย่าให้มีปัญหาอันใดกับประเทศไทย หากมีปัญหาอันใดเธอก็พร้อมที่จะประสานงานช่วยเหลือ และขอให้รอวันที่จะกลับประเทศในอนาคต วันถัดไปเธอได้ไปตรวจเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบริเวณชายแดนไทย-พม่าทางด้านจังหวัดตาก ซึ่งผู้ลี้ภัยเหล่านี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่านั่นเอง และส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการต่อสู้ของ อองซานซูจี ซึ่งเธอได้รับปากกับพวกเขาว่า จะพาพวกเขากลับบ้านให้จงได้ ในวันที่ 1 มิ.ย. อันเป็นวันสุดท้ายของการประชุมWEF ครั้งสำคัญนี้. เธอได้รับเกียรติให้กล่าวปราศัยในที่ประชุม ซึ่งเธอสามารถใช้เวทีสากลนี้เรียกร้องและขอความเห็นอกเห็นใจจากนานาชาติ เชิญชวนให้เข้าไปลงทุนและช่วยพัฒนาพม่า พร้อมทั้งขอร้องถึงประเทศมหาอำนาจว่า อย่าใช้พม่าเป็นเวทีแห่งการแก่งแย่งผลประโยชน์ แต่ควรจะเป็นพื้นที่แห่งความปรองดอง
สุนทรพจน์ของอองซานซูจีในงานนี้เป็นการกล่าวอย่างไม่มีสคริปส์ แต่เธอสามารถพูดได้ใจความครอบคลุมทุกเรื่องทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีท่วงทำนองในการกล่าวที่งดงาม-กระชับ-รัดกุม ทั้งเบื้องต้น-ท่ามกลาง และบทส่งท้าย ซึ่งตลอดเวลาจะมีเสียงปรบมือสลับไปอย่างกึกก้อง วลีต่างๆที่เธอกลั่นออกมาล้วนแต่จับใจผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง และทั้งหมดไม่มีวลีใดที่เธอจะพูดเพื่อประโยชน์ตนหรือพรรคของเธอ หากแต่เป็นการพูดเพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวพม่าทั้งสิ้น
ถือได้ว่า ประเทศพม่าประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในการให้อองซานซูจีมาประเทศไทยครั้งนี้ !
พม่ากำลังเปิดประตูสู่โลกกว้าง กำลังสร้างความปรองดองในชาติ ข้อตกลงหยุดยิงและหันมาปรองดองกันของรัฐบาลกลางพม่ากับชนเผ่าต่างๆซึ่งมีมากมายได้รับการลงนามตกลงกันได้กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ความสงบรอบแนวชายแดนกำลังบังเกิดขึ้น การพัฒนาประชาธิปไตยก็กำลังดำเนินไปทั่วประเทศ ซึ่งอองซานซูจีก็ได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า การปฏิรูปในพม่าครั้งนี้ เป็นการให้คำมั่นของทหารว่า จะพัฒนาประเทศ จะไม่หันหลังกลับ จะเดินไปข้างหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่อยากถูกคนอื่นทิ้งห่าง
เมื่ออองซานซูจีเดินทางกลับประเทศ หนังสือพิมพ์นิวส์ไลฟ์ออฟเมียนม่าร์ อันเป็นสื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลพม่า ได้ตีพิมพ์บทความชื่นชมถึงความสำเร็จเป็นอย่างสูงของอองซานซูจีที่มาประเทศไทยครั้งนี้ ซึ่งสื่อต่างๆในประเทศไทยล้วนแต่มีความเห็นกันว่า “ เป็นความผิดปกติ” ที่สื่อของรัฐบาลพม่าหันมาชื่นชมอองซานซูจี แต่ว่าในข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งมีความมั่นใจว่า เต็งเส่ง และอองซานซูจีนี่แหละจะช่วยกันสร้างประชาธิปไตยในพม่า
อองซานซูจี มีกำหนดการเดินทางเยือนยุโรปอีกหลายประเทศ จะไปกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ จากนั้นจะไปเข้าพิธีรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 1991 ที่กรุงออสโล นอร์เวย์ ซึ่งเธอได้รับ แต่ไม่อาจไปรับได้ในปีนั้น และหลังจากนั้นเธอจะไปอังกฤษ พบปะกับลูกชายทั้ง 2 ซึ่งจะจัดงานวันเกิดให้แม่ในวันที่ 19 มิ.ย. และได้รับเชิญให้ไปกล่าวสุนทรพจน์ในรัฐสภาอังกฤษในวันที่ 21 มิถุนายน
การที่รัฐบาลพม่าเปิดทางให้อองซานซูจีอย่างกว้างขวางเช่นนี้ น่าจะเป็นสัญญาณให้มั่นใจว่า พม่ากำลังเดินหน้าในทุกๆด้านอย่างเอาจริงเอาจัง-จริง เพราะการปิดประเทศ ใช้ระบบเผด็จการมานาน มีแต่ทำให้พม่าพบแต่ความยากลำบากและล้าหลังลงไปทุกวัน การ หันมาทางประชาธิปไตย และเรียกร้องให้นานาชาติรีบเข้าไปลงทุน พัฒนา ช่วยเหลือ โดยมอบให้อองซานซูจีเคลื่อนไหวทำภารกิจนี้ได้อย่างเต็มที่ อย่างนี้ เชื่อว่าในอีกไม่นาน พม่าจะขึ้นยืนผงาดเป็นประเทศแนวหน้าหนึ่งในอาเซี่ยนเป็นแน่
แล้ว “ พี่ไทย” เราล่ะ ? ประชาธิปไตยจะไปถึงไหน ? รัฐธรรมนูญ ก็ไม่ให้แก้ คนเก่งคนมีความรู้ความสามารถก็ไม่เอามาใช้ แถมยังป้ายสีใส่ให้เลอะเทอะกระเจิงกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง อำนาจเผด็จการยังคงอาละวาดฟาดหัวฟาดหางจนรัฐสภาอันเป็นสถาบันหลักของประชาชนต้องยอมยกธงขาว ไม่อาจจะพาประเทศไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนได้
อย่างนี้ ระวังนะครับคนไทย พม่าจะไปก่อนนะครับ