ใบตองแห้งออนไลน์: ใจเท่าอวัยวะมด

ประชาไท 13 มิถุนายน 2555 >>>


เซ็งจนพูดไม่ออกไปเลยกับจิตใจอันวีรอาจหาญเท่าอวัยวะมด ของแกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
มีอย่างที่ไหน มวยกำลังไล่ต้อนฝ่ายตรงข้ามอย่างเมามันส์ ศาลรัฐธรรมนูญมุมน้ำเงินป้อไปแป้มา โดนตุ๊ยท้องจนจะคายของเก่าอยู่รอมร่อ โดนหมักแย็ปจนคิ้วแตกเลือดเข้าตา ต้องอ้างฉบับภาษาอังกฤษ รัฐบาลกับรัฐสภาดันไม่ต้อนเข้ามุม ส่งหมัดเข้าปลายคางเช็กบิล กลับอ้างว่ากลัวจะเป็น killing zone ถอยกรูดเข่าอ่อนเอง ขอพักยกให้เวลาฝ่ายตรงข้ามให้น้ำให้ท่าหน้าตาเฉย
ทั้งที่ศึกวันทรงชัยครั้งนี้ ชกให้ดีๆ มีโอกาสสอยถึงหัวหน้าค่ายด้วยซ้ำไป
อย่ามาอ้างนะว่าขอมติรัฐสภาแล้วแพ้ วุฒิไม่เล่นด้วย ก็รัฐบาลออกอาการตั้งแต่มติวิป มติพรรค มติ ครม.และคำพูดของประธานค้อนหัก ที่ว่าจะไม่ลงมติแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 จะรีบปิดประชุมสภา แล้วจะมาขอมติปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหาค้อนหาหอกอันใด ในเมื่อพวกคุณยอมถอยแล้ว แค่จะแก้เกี้ยวเท่านั้น ผมเป็น ส.ว. ผมก็ไม่เอาด้วย ไอ้กล้วยเอ๊ย
ขนาดนั้นยังมี ส.ว. ลงมติให้ตั้ง 41 คน ซึ่งก็เกินพอถ้ารัฐบาล 300 พร้อมเพรียงกัน แต่นี่เพื่อไทยยังไม่ลงกันครบเลย ขาดประชุมไป 16 คน รวมทั้งยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีสำคัญหลายคน
จากรุกไล่ คราวนี้แหละจะกลายเป็นถูกรุก เพราะเท่ากับรัฐสภาและรัฐบาลยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ปากไม่ยอมรับ แต่ใจฝ่อ แข้งขาอ่อน ศาลก็จะได้ที ไล่บี้ในอีกหลายเรื่อง
กรณีร้ายแรงที่สุด คือวินิจฉัยว่าผิดมาตรา 68 สั่งยุบพรรค อาจไม่เกิดขึ้น เพราะศาลน่าจะหยั่งกระแสแล้ว ถ้าเลอะเทอะถึงขั้นนั้น ต่อให้รัฐบาลขี้แขะ (อู้กำเมืองแฮ๋ม) ขี้ราดเยี่ยวไหลไม่กล้าสู้ แต่มวลชนยุคนี้เห็นศาลเท่าหมูแล้ว จะเกิดอะไรไม่รับประกัน (และยุบพรรคได้ก็ไม่กระทบจำนวน ส.ส.)
นี่ผมวิเคราะห์เองโดยมองยุทธศาสตร์ “อำมาตย์” ว่าเขาจะไม่รีบหักรัฐบาลเพื่อไทย แต่ใช้วิธีบ่อนทำลายไปเรื่อยๆ
กรณีร้ายแรงรองลงมา คือศาลอาจวินิจฉัยว่า ไม่ผิดมาตรา 68 ไม่ยุบพรรค แต่ลงความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำไม่ได้ ให้แก้ไขได้เฉพาะส่วนเท่านั้น
เหตุผลทางกฎหมายจะอ้างอย่างไรผมยังไม่แน่ใจ แต่วิเคราะห์ว่าฝ่ายอำมาตย์กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะ สสร.จะเป็นใครมาจากไหนไม่มีใครทราบ ร้องสั่งข้าวเหนียวกับลาบ เอ๊ย นั่นเพลงสมัย อ่อนวงศ์... สสร.มาจากไหนไม่มีใครทราบ เกิดมันแก้ไขอำนาจทุกส่วน ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ก็ลงเหว ตอนแก้รัฐธรรมนูญ 40 ฝ่ายอำมาตย์ยังวางใจเพราะมี อานันท์ ปันยารชุน, บวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ขนาดนั้นก็ดันร่างรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง จนเกิดทักกี้ขึ้นมาหลอกหลอน คราวนี้จะยอมให้ผิดพลาดอีกไมได้
หรือไม่ก็อาจออกอีกรูปหนึ่ง คือศาลอาจจะบอกว่าไม่ผิดมาตรา 68 แต่ฉวยโอกาสนี้ “คุมประพฤติ” ร่างรัฐธรรมนูญ ว่าในอนาคตในการยกร่างอาจล่อแหลมที่จะล้มล้างระบอบการปกครอง ฉะนั้นขอวางข้อห้ามข้อบังคับ เป็นกับดัก ให้ตัวเองเข้ามาตรวจสอบ ยับยั้ง การร่างรัฐธรรมนูญของ สสร.ได้ ทั้งก่อนลงประชามติ หรือเมื่อมีข้อโต้แย้งรายมาตรา
ฉะนั้น ถ้า สสร.จะยุบศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจเฉไฉไปวินิจฉัยมาตราอื่นว่า ขัดต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ให้ผ่าน
อย่างไรก็ดี มิพักต้องพูดถึงว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถเข้ามาตรวจสอบ วินิจฉัย หรือยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้งไปในทางปฏิบัติ เพราะในด้านกลับกัน ถ้ารัฐบาล รัฐสภา มีหัวจิตหัวใจแค่เนียะ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็หมดความหมายอยู่ดี
ตกลงคุณจะแก้หมวดอะไรบ้าง หรือแก้แค่มาตรา 309 กับมาตรา 237 กล้าแตะศาลไหม กล้าแก้ไขเรื่ององค์กรอิสระไหม ไม่จำเป็นต้องพูดถึงหมวดพระมหากษัตริย์ ที่ยกธงขาวกันตั้งแต่แรก

Killing Zone Killing ใคร

ฝ่ายอำมาตย์ใช้ความขี้ขลาดของรัฐบาลและแกนนำเพื่อไทย เล่มเกมบลัฟฟ์ จนรัฐบาลเชื่อ “ฝ่ายข่าวทหาร” และการวิเคราะห์ของออเหลิม ที่อ้างว่าถ้าร่างแก้ไขมาตรา 291 วาระ 3 ผ่าน นายกฯ ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และอาจไม่ผ่าน “คณะกรรมการกลั่นกรองขององคมนตรี” เท่ากับนายกฯ เดินเข้าสู่แดนประหาร ศาลรัฐธรรมนูญจะออกคำวินิจฉัยทันทีว่าขัดรัฐธรรมนูญ
แดนประหารของใคร ถ้าใจกล้าๆ หน่อย ลองวิเคราะห์ใหม่ไหม
ผมเขียนเรื่อง “ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร” ไว้ในเว็บ Voice TV ว่าความไร้เหตุผลและไม่มีหลักกฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ เป็น “เผือกเผา” ที่ใครก็มารับช่วงต่อลำบาก ถ้าเกิดอำนาจรัฐสภากับอำนาจตุลาการขัดกัน แล้วกองทัพจะทำรัฐประหารโดยอ้างว่ารัฐบาลและรัฐสภาไม่เคารพกฎหมาย ลำพังศาลรัฐธรรมนูญก็เอาตัวไม่รอด ลำพังรัฐประหารก็เอาตัวไม่รอด ถ้ามาสอดรับในช่วงที่กระแสสังคม มวลชน นักวิชาการ และอัยการสูงสุด กำลังกินโต๊ะจีนศาลรัฐธรรมนูญอยู่อย่างนี้ รัฐประหารก็รับไป 2 เด้ง จะกล้าทำก็ให้รู้ไป
ผมไม่ทราบว่า “คณะกรรมการกลั่นกรองขององคมนตรี” ที่ออเหลิมพูดจะหมายถึงใครบ้าง แต่เท่าที่ทราบ ในองคมนตรีมีอดีตประธานศาลฎีกาหลายท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้ใหญ่ มีความแม่นยำเชี่ยวชาญในหลักกฎหมาย (ส่วนพวกที่ออกมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือพวกที่ไม่มีทางได้ขึ้นถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา)
แต่เอาละ ผมคงไม่ก้าวล่วงไปวิเคราะห์ว่า “คณะกรรมการกลั่นกรองขององคมนตรี” ท่านจะวินิจฉัยอย่างไร แต่อยากให้คิดว่า แทนที่รัฐบาลจะใจมด กลัวความกดดันมาตกที่นายกรัฐมนตรี (ซึ่งตัวยิ่งลักษณ์เองก็แสดงอาการจนเห็นได้ชัดเจน) ทำไมคุณไม่คิดบ้างละว่า ความกดดันจะตกไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแทน
อย่าลืมว่ารัฐสภาเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล มีอำนาจชอบธรรม คุณได้เปรียบทุกอย่างอยู่แล้ว ไม่ว่าเรื่องนี้จะต่อเนื่องไปถึงไหน
คำนูณ สิทธิสมาน บลัฟฟ์ไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า กรณีนี้จะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท หากรัฐสภาลงมติแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทำไมไม่บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญสิครับ ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รัฐสภาใช้อำนาจอย่างถูกต้อง ศาลเข้ามาขวาง ศาลต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหา
นี่มันเกมบลัฟฟ์กันชัดๆ ดูว่าใครใจเท่าอวัยวะมด เพราะถ้ารัฐสภาลงมติ ยืดอกพกความกล้า นายกฯ มานำ ส.ส. ยกมือโดยพร้อมเพรียง แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เผลอๆ ยังไม่ครบกำหนด 20 วัน ศาลรัฐธรรมนูญอาจเป็นฝ่ายรีบจำหน่ายคดี บอกว่าไม่มีความผิดตามมาตรา 68 ก็เป็นได้
หรือถ้าไม่ยอม ถ้าจะหักกัน ก็ให้มันรู้แล้วรู้แรดไป ดีกว่ากลายเป็นฝ่ายป้อแป้ยอมแพ้เอง แล้วก็อาจจะแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เพราะคุณออกอาการแล้วนี่ มวยป้อแป้ทั้งที่กองเชียร์แน่นสนาม ฝ่ายตรงข้ามกลับมาเป็นฝ่ายต่อ ทำคะแนนมา 4 ยก ยก 5 ยกเดียวม้วนเสื่อไปเลย
ใครก็ไม่ทราบ ให้ออเหลิมมากำหนดยุทธศาสตร์ ทั้งที่ออเหลิมเป็นได้อย่างมากก็แค่นักยุทธวิธี ยุทธศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมันเกินสติปัญญาออเหลิม บิ๊กอ๊อด บิ๊กเอี้ยทั้งหลายในพรรคเพื่อไทย หรือเผลอๆ จะเกินสติปัญญาบิ๊กแม้วเสียด้วยซ้ำ
นี่พูดด้วยความสงสัยนะครับ เพราะทักกี้เงียบกริบ ทั้งที่ไม่กี่วันก่อนยังบอกว่าจะไม่โดนเขาหลอกอีกแล้ว คราวนี้ไปโดนอะไรมาล่ะ

สถานการณ์พิสูจน์คน ปรับพรรค ปรับ ครม. เดี๋ยวนี้

   “ถ้าปล่อยให้การลงมติวาระ 3 ค้างไว้ในระหว่างปิดสมัยประชุมก็ตัวใครตัวมัน แล้วยังเอา พ.ร.บ.ปรองดอง เข้ามาเสียบไม่ถูกเวลา ไม่หารือ ส.ส. ก่อนเลย พาลจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญพังไปด้วย”
อยากปรบมือให้ดังๆ กับคำกล่าวของ ส.ส. ที่ผมไม่ค่อยได้ยินชื่อ ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ ที่ลุกขึ้นสวนมติกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค ซึ่งมีเสียงข้างน้อยแค่ 2 คนคือ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ก้บจาตุรนต์ ฉายแสง
นั่นรวมถึงณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยที่อาจหาญต่อปากต่อคำกับนายกฯ กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ถ้าจะมีอะไรให้มองโลกแง่ดี คือ ส.ส. ส่วนใหญ่ (ไม่เฉพาะ ส.ส.เสื้อแดง) ไม่เห็นด้วยกับมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค แถมยังจะขอมติเปลี่ยนคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้วย เพราะประชุมพรรคประสาอะไร ไม่ยอมให้ ส.ส. ลงมติ
นี่แสดงว่า ส.ส. ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน กำลังจะ “ก้าวข้าม” แกนนำพรรคงี่เง่าไปแล้ว ขนาดในที่ประชุมรัฐสภา พีรพันธุ์ พาลุสุข ยังลุกขึ้นทักท้วงประธานค้อนหัก จนสุนัย จุลพงศธร ประท้วงพวกเดียวกัน
ขอเสียงมวลชน เอาพีรพันธุ์เป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค หรือเป็นรัฐมนตรีเสียดีไหมครับ เป็น ส.ส. มาตั้งหลายสมัยแล้ว และสู้สุดใจ เสียอย่างเดียว ไม่มีกะตังค์กับเขาเท่านั้น
ในสถานการณ์ที่รัฐบาลขี้แขะพรรคเพื่อไทยขี้ขลาด พาประชาธิปไตยเป็นฝ่ายถูกรุก สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือปรับขบวนเตรียมรับมือให้เข้มแข็ง ขบวนนอกพรรคเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีความเข้มแข็งอยู่แล้วจากนักวิชาการ จากเสรีชนคนรุ่นใหม่ที่ทยอยออกมาสนับสนุนพลังประชาธิปไตย แต่ขบวนในพรรค ในรัฐบาล ใน นปช. สิ สับสนรวนเรมาตลอด
ปรับเสียดีไหม ฉวยโอกาส ยงยุทธ วิชัยดิษฐ โดน ปปช. ชี้มูลคดีที่ดินอัลไพน์ (ผิดถูกว่าอีกเรื่อง อันที่จริงผมเห็นว่าผิดในทางนิติศาสตร์ ถูกในทางรัฐศาสตร์-ฮา) ยังไงก็ต้องพ้นตำแหน่ง ทั้งรัฐมนตรี ทั้งหัวหน้าพรรค
มวลชนต้องช่วยกันกดดันละครับ ไอ้ที่บอกว่า Primary Vote น่ะ รอการเลือกตั้งครั้งหน้าช้าไป มา Primary Vote รัฐมนตรีกันเสียตอนนี้ดีกว่า
ใครไม่สู้ถอยไป อย่ามัวแต่มานั่งเป็นรัฐมนตรีหวงอำนาจ ทำมาหากิน มวลชนเขาสู้ของเขาเองมาได้ ตอนนี้ดันมีพรรคเพื่อไทยมาเป็นอุปสรรคขวางทางมวลชนเสียเอง