ลิขิต ธีรเวคิน: นัก (แสวงหาผลประโยชน์ทาง) การเมือง

คมชัดลึก 20 มิถุนายน 2555 >>>




มีผู้ถามผมว่าความวุ่นวายต่างๆ ในบ้านเมืองทุกวันนี้ เป็นเพราะนักการเมืองหรือไม่ ? ซึ่งผมได้ให้ความเห็นว่าเป็นเพราะบ้านเราไม่มีนักการเมืองต่างหาก ที่เห็นหน้าเห็นตากันอยู่เวลานี้ล้วนเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น
และความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วก็เป็นเพียงการต่อรองผลประโยชน์ การโก่งค่าตัว และการสร้างแรงกดดันหรือสร้างทางเลือกอื่น เพื่อบีบบังคับอีกฝ่ายให้จำยอมตามความต้องการของตน
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ได้แสดงคุณลักษณะของนักการเมืองที่ดีไว้ 5 ประการ คือ
ประการแรก: นักการเมืองผู้นั้นต้องมีความผูกพันทางอุดมการณ์ (Ideological Commitment) โดยในการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีความเชื่อและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย และต้องเข้าใจว่าประชาธิปไตยนั้นเป็นกรรมวิธี (means) เพื่อจุดมุ่งหมายบางอย่าง และขณะเดียวกันก็มีสิ่งที่เป็นเป้าหมายบั้นปลาย (end) ที่มีคุณค่าในตัวของมันเอง นักการเมืองที่ดีจึงเป็นนักการเมืองที่ปฏิบัติตามกรอบกติกาเพื่อรักษาไว้ซึ่งกระบวนการประชาธิปไตย โดยไม่ตะแบงละเมิด
ประการที่สอง: นักการเมืองที่ดีจะต้องมีจริยธรรมทางการเมือง (Political Ethics) ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองจะรวมจริยธรรมอยู่ด้วย แต่จริยธรรมทางการเมืองอาจจะเป็นรายละเอียดที่อยู่นอกกรอบอุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งเป็นกรอบใหญ่ ประเด็นจริยธรรมทางการเมืองจะเกี่ยวข้องกับความถูกต้องตามกฎหมาย ความชอบธรรมทางการเมือง และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งศรัทธา การกระทำอันใดก็ตามถึงแม้จะถูกต้องตามกฎหมายต้องพยายามหลีกเลี่ยงถ้าเกิดผลเสียตามมาจริยธรรมทางการเมืองจะเป็นเครื่องชี้แนวทางในการปฏิบัติ ในขณะที่อุดมการณ์ทางการเมืองจะทำหน้าที่เหมือนจิตวิญญาณของระบบการเมืองในภาพรวม
ประการที่สาม: นักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในฐานะนักการเมืองที่ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคม ไม่ว่าจะในฐานะสมาชิกรัฐสภาหรือรัฐมนตรีจะต้องมีความรู้ทางการเมือง (Political Knowledge) ซึ่งความรู้ดังกล่าวคือความรู้ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีวิชาหนึ่งวิชาที่เริ่มต้นในอังกฤษเป็นที่ทราบกันว่าเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาทางการเมือง ความรู้เกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐศาสตร์ หรือที่เรียกว่า PPE (Philosophy, Politics and Economics) วิชาดังกล่าวมีแนวคิดที่ว่า การบริหารประเทศนั้นจะต้องกระทำโดยบุคคลที่มีความรู้ทางการเมือง อันรวมถึงความรู้ทางสังคมด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ ทั้งเศรษฐศาสตร์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ แต่ที่สำคัญต้องมีความรู้เรื่องปรัชญาทางการเมือง ซึ่งปรัชญาทางการเมืองนั้นจะรวมทั้งอุดมการณ์และจริยธรรมเพื่อเป็นเครื่องชี้นำในการปฏิบัติ นักการเมืองที่มีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาดเนื่องจากขาดข้อมูลและความรู้ ที่สำคัญขาดอุดมการณ์ที่จะเป็นเครื่องชี้นำ
ประการที่สี่: นักการเมืองที่ดีจะต้องมีประสาทสัมผัสทางการเมือง (Political Sense) ความสามารถในการเข้าใจนัยสำคัญทางการเมืองอันเกิดจากเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลในทางลบหรือทางบวกนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการอ่านสถานการณ์การเมืองที่ผิดพลาดอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียอย่างมหาศาล กระบวนการทางการเมืองที่เริ่มต้นจากคนเพียงคนเดียวที่ดูเหมือนไม่มีความสำคัญเนื่องจากการอ่านสถานการณ์ที่ผิดพลาด อาจจะนำไปสู่การขยายขอบเขตอย่างกว้างขวาง เป็นผลร้ายต่อการเมืองได้
ประการที่ห้า: นักการเมืองที่ดีคือนักการเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ทางการเมือง (Political Mood) ของสังคม การขาดความเข้าใจอารมณ์ทางการเมืองของสังคมจะนำไปสู่ความเสียหายทางการเมืองอย่างหนัก อารมณ์การเมืองสามารถกระตุ้นปลุกเร้าให้เกิดขึ้นโดยขบวนการทางการเมือง ความไม่เข้าใจอารมณ์ทางการเมืองย่อมบ่งชี้ถึงการขาดประสาทสัมผัสทางการเมือง เพราะทั้งสองส่วนนี้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างแน่นแฟ้น
ครับ ลำพังแค่คุณสมบัติ 2 ประการแรก เราก็ไม่มีคนที่สามารถเรียกตัวเองได้ว่า “นักการเมือง” อย่างเต็มปากเต็มคำ หลงเหลืออยู่แล้วล่ะครับ