เอวัง..สัญญาบีทีเอสเงื่อนปมบ่วงรัดคอ กทม.

สยามธุรกิจ 16 มิถุนายน 2555 >>>


พลันที่ธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ แถลงถึงความคืบหน้ากรณีพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบกรณีเรื่องการต่อสัญญา บีทีเอส ของกรุงเทพมหานครโดยมีแนวโน้มว่า กรณีดังกล่าวอาจเข้าข่ายการต่อสัญญาไม่ถูกต้อง ส่อเค้าว่าเป็นสัญญาโมฆะ ชวนให้ติดตามว่าแท้จริงสัญญาดังกล่าวเป็นอย่างไร กันแน่
แน่นอนว่าผู้ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว อันดับต้นคือ เจ้าของเรื่องอย่าง กทม.บนข้อครหา “ความโปร่งใสในการทำงาน” อีกครั้งหนึ่งที่รับไปแบบเต็มๆ แต่ผลกระทบวงกว้าง และชัดเจนที่สุดก็คือประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ที่ต้องรับบ่วงกรรมจากผลพวงดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“สยามธุรกิจ” ฉบับที่ 1,301 เคยนำเสนอเรื่องนี้ในภาพมุมกว้างกันไปแล้ว ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเรื่องราวการต่อสัญญาบีทีเอส ในมุมมองแบบ ลับเฉพาะ ด้วยความคิดเห็นจากผู้ที่คลุกวงในกับคดีดังกล่าวอย่างชัดแจ้งเห็นจริง
ในนัยสาระสำคัญของการสอบสวนคดีดังกล่าวคือการตีความข้อสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพฯ กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ในชื่อสัญญาว่า “การให้บริการเดินรถและซ่อมโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บีทีเอส”
แหล่งข่าวระดับสูงจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผย “สยามธุรกิจ” ว่า การต่อสัญญาระหว่าง บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัดกับบีทีเอสนั้นไม่ใช่สัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับบีทีเอส เป็นผู้ดำเนินการ ให้บริการเดินรถต่อไปจากสัญญาเดิมที่จะหมดอายุ สัญญาในอีก 17 ปีข้างหน้า แต่เป็นสัญญาจ้างใหม่ เพื่อที่ กทม.จะนำเงินที่ได้จากการทำสัญญาดังกล่าว มาเป็นงบประมาณในการลงทุนสร้างระบบรางเส้นทางใหม่ ซึ่ง กทม. ขาดเงินงบประมาณในส่วนนี้อยู่ หลังจากที่เคยขออนุมัติจากรัฐบาลแล้วไม่ได้
เมื่อย้อนกลับไปในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่ทำขึ้น 3 ฝ่ายคือ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพ มหานคร และบีทีเอส เป็นสัญญาที่ระบุว่าการต่อสัญญาจะทำได้ก็ต่อเมื่อ 5 ปีก่อนอายุสัญญาจะหมด หลังจากสัญญาหมดหากไม่มีการต่อสัญญาแล้วทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. แต่การทำสัญญาในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาสัมปทานที่จะต้องมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ร่วมทำสัญญา
   “เข้าใจว่าการต่อสัญญาครั้งนี้ เจตนาแท้ จริงเพื่อเป็นการระดมงบประมาณมาลงทุนขยาย เส้นทางใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา กทม. เคยขออนุมัติเงินทุนแต่กลับได้รับการปฏิเสธ ทั้งที่ความเป็นจริง กทม.มีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดระเบียบเรื่องระบบขนส่งมวลชนอยู่แล้ว ตามมาตรา 89 ของ พ.ร.บ.การปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นกทม.จะต้องดำเนินการอันเปรียบเสมือนว่าการทำงานล่วงหน้า โดยในสัญญาดังกล่าวมีการตกลงที่จะต้องจ่ายงบประมาณในการก่อสร้างเส้นทางเดินรถใหม่ก่อน”
แหล่งข่าวคนเดิมยังกล่าวอีกว่า เรื่องดังกล่าว กทม. ได้ประชุมหารือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานด้วยกันเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการต่อสัญญาเพื่อแสวงหางบประมาณในการก่อสร้างเส้นทางต่อขยาย ที่ไม่ใช่สัญญาสัมปทาน และทางออกนั้นก็คือการทำสัญญา ให้บริการเดินรถ และซ่อมโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน ซึ่งการทำสัญญาดังกล่าว ทางสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมมีมติว่าสามารถทำได้
แน่นอนการทำสัญญาในรูปแบบนี้อาจเข้าข่าย เป็นการเอางบประมาณของบีทีเอส มาลงทุนในกิจการของบีทีเอสเอง โดยเมื่อหมดสัญญาในอีก 17 ปีข้างหน้า ก็เป็นที่แน่นอนว่า กทม. พร้อมจะมอบสัญญาให้กับบีทีเอสอีกครั้งเพื่อให้บริหารกิจการการเดินรถในระบบขนส่งมวลชนต่อไป
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ออกมาเปิดเผยกับ “สยามธุรกิจ” ว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาการให้บริการที่มีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานเดิม เพราะในสัญญาฉบับใหม่นี้มีข้อความสำคัญว่าด้วยเรื่องของการขยายสัมปทาน และการว่าจ้าง การเดินรถในส่วนต่อขยายที่เพิ่มขึ้น
   “หนังสือที่ กทม. ชี้แจงมานั้นพยายามเลี่ยงว่าการทำสัญญาฉบับใหม่ ไม่ใช่สัญญาสัมปทานแต่อย่างใด หากแต่เป็นสัญญาให้บริการ ภายใต้ชื่อ ‘สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือบีทีเอส’ แต่เนื้อหาข้อความกลับสอดแทรกเรื่องของการขยายสัมปทาน ที่เดิมเหลืออายุสัญญา 17 ปี และ ต่ออายุสัญญาออกไปอีก 13 ปีและว่าจ้างเดินรถ ในส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นอีก 3 จุด ซึ่ง กทม.ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเช่นนั้น เนื่องจากเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของการ เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ นี่คือเรื่องที่คณะสอบ สวนได้ตีความตามตัวหนังสือในสัญญา”
แหล่งข่าวจากดีเอสไอ ยังกล่าวอีกว่า “ณ ปัจจุบันตามข้อมูลของ กทม. ได้อ้างสิทธิ์การทำสัญญาตามข้อบัญญัติ และกฎหมายการปกครอง ส่วนท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตามหากการพิจารณาของดีเอสไอพบว่าสัญญาดังกล่าวเข้าข่ายเป็นไป ตามกฎหมายสัมปทานซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ และเกี่ยวโยงกับ พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็จะต้องมาวิเคราะห์กันว่าเข้าข่ายหรือไม่ เวลานี้สถานการณ์ ข้อได้เปรียบของ กทม. ถือว่าเป็นรอง และอาจถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะได้ เนื่องจากอำนาจในการดำเนินการต่อสัญญาในส่วนนี้เป็นของกระทรวงมหาดไทย และเป็นสัญญาที่ถือว่าเป็นการกระทำที่กระทบต่อผลประโยชน์ของประชาชนในส่วนรวม”
ขณะที่คำกล่าวของนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กลับยืนยันว่า ได้ดำเนินการทุกอย่างด้วยความถูกต้อง ซึ่งเมื่อเรื่องถึงที่สุดแล้วจะอยู่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช. และศาล อย่างไรก็ตาม กทม. ได้มีการชี้แจงไปยังคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่ปรึกษาทางกฎหมายของไทย คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา และ กระทรวงการคลัง ซึ่งและ พ.ร.บ.ร่วมทุน ต่างมีใจความว่า กทม. ไม่ได้ขยายสัมปทานให้กับบีทีเอสซี แต่เป็นการต่อสัญญาจ้างเดินรถเท่านั้น ดังนั้น ตนเองจึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีคนบางคนไม่เข้าใจเสียที ฉะนั้น การดำเนินการใดๆ ก็ตามของคนที่ดำเนินการนั้นก็ต้องรับผิดชอบการกระทำของตนเองด้วย
   “กทม.ยืนยันว่าทำตามกฎหมายในการจัดจ้าง ซึ่งทุกฝ่ายมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น แต่ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะสุดท้ายเรื่องนี้คงต้องไปสิ้นสุดที่ศาล หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หาก มีการรับเรื่องก็พร้อมจะอธิบาย เพราะได้ชี้แจงเรื่องนี้มาหลายหน่วยงานแล้ว ส่วนการดำเนินการฟ้องกลับทางกฎหมายกำลังดูว่าจะดำเนินการอย่างไร และยืนยันอีกครั้งว่า กทม. ทำเพื่อคนกรุงเทพฯ เพราะประหยัดงบประมาณจ้าง 17 ปีเป็น 30 ปี ถึง 6,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถแจกแจงรายละเอียดได้หมด แต่ยังคงมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ และโยงใยให้เป็นเรื่องการเมือง”
บทสรุปสุดท้ายของเรื่องราว แนวโน้มของจุดจบอาจกลับกลายว่าสัญญานี้เป็นโมฆะ หรือไม่อย่างไร คงไม่แคล้วเรื่องนี้โยงใยไปยังภาพเกมการเมืองบ้านเรา ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ อาศัยเรื่องน้ำเน่ามาทำลายกัน สุดท้ายใครจะชนะไม่สำคัญแต่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ คงหนีไม่พ้นวิบากกรรมความเดือดร้อนนี้ไปได้