ชี้ทางออก 'ปรองเดือด' สู่ 'ปรองดอง'

ข่าวสด 6 มิถุนายน 2555 >>>


เหตุวุ่นวายทั้งในและนอกสภาช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเสนอ พ.ร.บ. ปรองดองเข้าสภา
แม้ล่าสุด สภาจะเลื่อนการพิจารณากฎหมายดังกล่าวออกไป แต่สถานการณ์ก็ยังคุกรุ่นและพร้อมจุดติดความรุนแรงได้ตลอดเวลา หากยังดันทุรังเร่งรีบผลักดัน
มีข้อแนะนำถึงทางออกเพื่อนำไปสู่ความปรองดองอย่างแท้จริง

สมบัติ บุญงามอนงค์
บ.ก.ลายจุด แกนนอนวันอาทิตย์สีแดง


ต้องชะลอการพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดอง ไปก่อน เพราะสถานการณ์มีการเผชิญหน้า โดยเฉพาะเมื่อเป็น พ.ร.บ.ปรองดอง แต่มีเรื่องราวขนาดนี้ก็คงไม่ใช่ พ.ร.บ.ปรองดอง รัฐบาลต้องระมัดระวัง
ผมไม่ทราบทำไม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ถึงรีบเร่งเกินไปและสร้างปัญหาขึ้นอีก เรื่องนี้ต้องชะลอ ต้องสร้างบรรยากาศข้างนอกก่อน ทราบว่ารัฐบาลชะลอเรื่องออกไป พันธมิตรก็เลื่อนการชุมนุม แต่อาจยังเกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันว่าจะทำอย่างที่พูด
ถ้ารัฐบาลไม่เลื่อนโดยคิดว่าเอาอยู่ มันสุ่มเสี่ยง จะเพิ่มความบาดหมางไปทำไมในเมื่อประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจนว่าไม่ยอม ผมไม่เห็นด้วยกับการลุยเดินหน้า ขณะที่รัฐบาลตั้งการ์ดสูง เตรียมปัจจัยพร้อมหากสถานการณ์เลยเถิด
ถามว่าต้องชะลอออกไปนานแค่ไหน ผมไม่รู้ แต่หากสถานการณ์เป็นแบบนี้ไม่คุ้มและมีโอกาสบานปลายและไม่เห็นว่าต้องรีบขนาดนั้น หากผ่าน พ.ร.บ. แล้วทำให้เกิดความตึงเครียด รัฐบาลในฐานะผู้นำต้องไม่เพิ่มความตึงเครียด ต้องทำให้เห็นว่ามีเป้าหมายเพื่อปรองดองจริงๆ
การหาทางออกไม่ยากต้องพูดคุย และหาคนกลาง เพราะในเชิงเนื้อหาขาดกระบวนการคุยกันให้ได้เรื่องก่อนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ
ผมเสนอว่าทำเป็น 2 ขยักดีหรือไม่ จุดเล็กที่ทำได้ให้ทำไปก่อน เช่น นิรโทษกรรมกลุ่มประชาชนหรือมวลชนก่อนและต้องเริ่มได้แล้ว ซึ่งประชาธิปัตย์และพันธมิตรไม่มีปัญหาเรื่องนี้
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยหากนำประชาชนออกมาก่อนก็จะได้ใจมวลชน ส่วนระดับแกนนำหรือผู้สั่งการ ให้รอไว้อีกขยัก
การใช้กระบวนการพูดคุย การค้นหาความจริง การคุยเรื่องประโยชน์จากการปรองดอง ไม่ใช่เรื่องของชนชั้นนำเท่านั้น ต้องลดดีกรีให้เกิดการยอมรับ พอสังคมรู้ข้อเท็จจริงก็จะเกิดการจัดวางที่เหมาะสม
ถ้าหน้าตา พ.ร.บ.ปรองดอง ออกมาอย่างที่เป็นอยู่ พันธมิตรยืนยันไม่ยอมรับ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการคุยกันนอกรอบแล้วทำข้อตกลง อาจเป็นเป็นสัญญาประชาคม ทำเป็นกฎหมายอีกฉบับ เสื้อแดง เสื้อเหลือง อาจร่วมเสนอรายชื่อฝ่ายละ 5,000 ชื่อ หรืออาจให้คนที่เป็นกลาง อาทิ อ.โคทม อารียา หรือองค์กรที่เป็นกลางเสนอตัวเข้ามา คุยกันแบบเสียงดังๆ ที่ให้เฉพาะประชาชนได้รับสิทธิก่อน เมื่อได้แล้วก็เสนอเข้าสภาพิจารณา
ผมเห็นด้วยว่า พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เห็นต่างที่ว่าหากไม่ช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วจะไม่แก้ความขัดแย้ง
ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ดีที่สุด คือต้องจัดการกับคำสั่งคณะรัฐประหาร เพื่อทำให้ผลพวงจากการรัฐประหารไม่เป็นผล

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์


เรื่องของ พ.ร.บ.ปรองดอง ต้องตั้งคำถามก่อนว่าเป้าหมายคือความปรองดองใช่หรือไม่ ก่อนหน้าที่ร่างนี้จะเข้าสภาแม้เราจะยังไม่ปรองดองแต่ก็อยู่ร่วมกันท่ามกลางความขัดแย้ง ความเห็นต่างได้มากขึ้น อดทนกันมากขึ้น หลังเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 เป็นต้นมาเรามีพัฒนาการเชิงบวกขึ้น ให้นึกถึงเป้าหมายหากที่ต้องการคือความปรองดอง วิธีการที่ใช้ก็ต้องนำไปสู่ความปรองดอง ประเมินดูถ้าแตกแยกกันมากขึ้นก็แสดงว่าสิ่งที่ทำอยู่มันผิด ก็ควรระงับยับยั้ง ที่ทำอยู่ในตอนนี้ทำให้เราแตกแยกกันมากขึ้น เห็นกันอยู่แล้วก่อนหน้านี้ว่าหากเสนอการนิรโทษกรรมเมื่อไรก็ต้องทะเลาะกันเมื่อนั้น
ฝ่ายเสียงข้างมากน่าจะเข้าใจอยู่แล้วว่าฝ่ายตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่ไว้วางใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และจะเป็นการลบล้างคำพิพากษาหรือการคืนทรัพย์สินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่
การปรองดองเรื่องการเสนอเป็นกฎหมายควรเป็นขั้นที่สอง ขั้นแรกควรเป็นการพูดคุยกันก่อน ไม่ใช่เสนอแล้วค่อยคุยกัน เพราะยิ่งเสนอยิ่งไม่คุยกัน ผมจึงเห็นว่าควรต้องถอนร่างออกมาก่อน เพราะดูแล้ววิธีการเช่นนี้ไม่ได้นำไปสู่ความปรองดองกลับทำให้เราแตกแยกกันมากขึ้น
ที่จริงแล้วการจัดทำเรื่องปรองดองไม่ใช่ทำแค่ในสภา หากนักการเมืองฟังกันมากกว่านี้สภาคงช่วยแก้ปัญหาได้จริง ดังนั้นการรับฟังเสียงต่างๆ ในสังคมมีความสำคัญมากไม่ใช่แค่ในสภา
หากต้องการปรองดองท่ามกลางความไม่ไว้วางใจของเสียงข้างน้อย เสียงข้างมากเดินหน้าไปก็จะไปต่อไม่ได้ เพราะต้องคุยกันก่อน ตกลงหลักการหลักๆ กันให้ได้ก่อน
ความเห็นผมคิดว่าหากต้องการนิรโทษกรรมกันในส่วนของความผิดที่เกี่ยวกับการละเมิดประกาศ หรือคำสั่งของ ศอฉ. ควรนิรโทษกรรมไปเลย เริ่มจากเรื่องที่เห็นพ้องต้องกันหมดก่อน ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน
ส่วนความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งมี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่ทำให้เกิดการเสียชีวิต อีกฝ่ายคือการทำให้เกิดการเผาสถานที่ต่างๆ ต้องพิจารณาให้ดีว่าควรนิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะเรายังไม่รู้ว่าทั้งสองส่วนใครเป็นคนทำ ใครต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ด้าน
ควรทำให้ความจริงปรากฏก่อนแล้วค่อยพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมว่าควรเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเกิดการเจ๊ากันไป และก็เกิดการกระทำผิดใหม่
ต่อมาคือคดีที่พิพากษาไปแล้ว เช่นคดีที่ดินรัชดาฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี และคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีการยึดทรัพย์
เรื่องนี้ละเอียดอ่อนที่สุด หากการนิรโทษกรรมเพื่อต้องการความปรอง ดองอย่าไปแตะในเรื่องที่ศาลพิพากษาไปแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณ ควรใช้วิธีการขอพระราชทานอภัยโทษในคดีที่ดินรัชดาฯ ส่วนคดีที่ศาลจำหน่ายไว้เป็นการชั่วคราวมี 4 คดี ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มาสู้คดีก็เป็นข้อที่ต้องพิจารณากัน
หากพูดแบบฝ่ายต่อต้านคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องมาติดคุกสถานเดียว คดีทั้งหมดเดินหน้าต่อ ทางฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงไม่ยอม แต่ถ้าจะให้คดีทุกอย่างลบล้างไปหมด ทั้งคดีที่จบแล้วหรือยังไม่พิจารณา ฝ่ายที่อยู่ตรงข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงไม่ยอมเช่นกัน
ทางที่พอไปได้คือคดีที่จบไปแล้วก็ขอพระราชทานอภัยโทษ คดีที่ถูกจำหน่ายไว้ก็ให้กลับมาสู้คดี หากติดใจในสำนวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ก็หาทางว่าทำอย่างไรให้พอรับกันได้ แต่ไม่ใช่มาบอกว่าให้ยกเลิกทั้งหมด
ที่สำคัญอย่าเพิ่งคุยกันเรื่องตัวร่างกฎหมาย แต่ให้ฝั่งเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยคุยกันก่อน เชื่อว่าจะเดินหน้าได้ หากนำเข้าสภาเลยก็เป็นการแบ่งข้าง ไม่ใช่การทำงานเพื่อส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
การนำเรื่องเข้าสู่สภาจึงไม่นำไปสู่การคุยกันตามวัฒนธรรมการเมืองของไทย หากสภาเป็นอย่างนี้ประชาธิปไตยจะเป็นอย่างไร เราต้องนึกถึงประชาธิปไตยมากกว่า พ.ร.บ. ปรองดอง
ฝ่ายเสียงข้างมากไม่ควรดึงดันใช้เสียงข้างมากอย่างเดียวเพราะแก้ปัญหาไม่ได้ จากในสภาก็จะกลายเป็นนอกสภา บรรยากาศจะแตกแยกกันมากขึ้น นอกสภารุนแรงในสภาก็เริ่มรุนแรงอย่างที่เราเห็น
แต่เสียงข้างน้อยเองก็ต้องเล่นตามกติกาด้วย ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยก็ดึงดันเกินไป ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็เล่นนอกกติกาเกินไป ผมคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรใช้วิธีการคัดค้านที่สมเหตุสมผลและอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสมมากกว่านี้
สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาขณะนี้ไม่ใช่แค่ทำให้คนเบื่อการเมือง แต่ผลของมันคือทำให้คนเบื่อประชาธิปไตยซึ่งอันตรายมาก เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสภา
ดังนั้น สรุปคือให้ถอนร่างออกมาก่อน ขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็ไม่ควรทำอะไรให้เกินขอบเขต
ผมอยากให้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แข่งกันเอาชนะใจประชาชนดีกว่าอย่าทำเหมือนที่ทำอยู่ตอนนี้เลย

ไชยันต์ ไชยพร
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ถ้าถามผมก็ต้องบอกให้ชะลอ พ.ร.บ.ปรองดอง ไว้ก่อน
อย่างไรก็ตาม ผมไม่เชื่อว่าจะมีม็อบชนม็อบ เพราะถ้าออกมาปะทะกันรัฐบาลควบคุมไม่ได้ก็เป็นความเสียหายของฝ่ายเพื่อไทย ถ้ามีก็เละ รัฐบาลก็แย่ แล้วหากเกิดจลาจลนองเลือด มีโรคแทรกซ้อนจะเสียหายกันไปหมด
ขณะที่รัฐบาลพยายามลอยตัวว่าไม่เกี่ยว แล้วคนเสื้อแดงได้ประโยชน์อะไรจากการลุยปรองดองในตอนนี้ เพราะ พ.ร.บ.ปรองดอง ตามร่างของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน คนเสื้อแดงเขาไม่เอาเพราะทำให้กรณี 'ราชประสงค์' หายไป
เสื้อแดงมีบ้างประเภทที่ไม่ฟังอีร้าค้าอีรมแต่ในแง่ประโยชน์ ฝ่าย นปช. เขาไม่อยากได้ พ.ร.บ. นี้ ยกเว้นจะใช้รัฐประหารเป็นเครื่องมือ แต่ที่บอกว่ามีความพยายามทำให้เกิดความวุ่นวายเพื่อพยายามล้มรัฐธรรมนูญ 2550 จะได้ไม่ต้องมานั่งแก้ ผมก็ว่าไม่จริง เพราะคนที่จะขึ้นมามีอำนาจยังไม่รู้ว่าเป็นฝ่ายไหน และเขาคงไม่เอาทั้งสองสี
ความเห็นต่างในพรรคเพื่อไทยที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน กับฝ่ายที่ให้เดินหน้า ผมว่าที่สุดแล้วฝ่ายที่บอกให้ชะลอจะชนะ
เพราะมันเสี่ยงเกินไประหว่างลุย พ.ร.บ.ปรองดอง เพื่อให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์ ถ้ามันเสี่ยงนักสู้ปล่อยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำรัฐบาลต่อไปมีค่ากว่าหรือไม่ แต่พูดลำบากว่าจะเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง ได้ในช่วงเวลาไหนจึงเหมาะสม
พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ พล.อ.สนธิ ก็เป็นประโยชน์กับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่เขาไม่เอา กรณีมวลชนหลุดคดีพันธมิตรเอาด้วย ฝ่ายเสื้อแดงก็คงไม่ปฏิเสธ แต่หัวใจสำคัญของ พ.ร.บ. นี้อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ
การทำเรื่องนี้ประเด็นสำคัญคือให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นคดีหรือไม่พ้น เพื่อไทยและเสื้อแดงต้องการให้ พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดคดี เขาเล่นเรื่องทักษิณมาตลอดตั้งแต่หลังโดนคดี กระทั่งมาเกิดเหตุการณ์ในปี 2553 ถึงมีการเรียกร้องเรื่องความยุติธรรม
หากการผลักดัน พ.ร.บ. นี้ไม่มีเรื่องของ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ ก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน การให้แค่มวลชนสองฝ่ายพ้นคดีเท่านั้นคงไม่ทำให้เกิดความปรองดองได้ เพราะหัวมันยังดิ้นพล่าน ไม่ถูกปล่อย การปลดปล่อยมวลชนจึงไม่ใช่ว่าความขัดแย้งจะหมดไป
ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ใช้ พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ พล.อ.สนธิ ก็ได้ หรือนำ 3-4 ฉบับมายำรวมแต่ต้องจบลงด้วยการทำประชามติ และต้องเป็นประชามติเสียงข้างมากแบบพิเศษ ไม่ใช่เสียงเกินกึ่งหนึ่งก็ชนะแล้ว แต่ต้องเป็นเสียงที่ชนะ 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 เมื่อผลประชามติออกมาอย่างไรทุกฝ่ายต้องยอมรับ
หาก 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 อยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ พ้นโทษ ก็ต้องยอมรับ แต่หากเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย แสดงว่าประชาชนไม่อยากเห็นการปรองดองแบบนี้ คนแพ้ต้องยอมรับและจบ
หรือมีข้อแม้ในรัฐบาลนี้ห้ามหยิบยก ขุดคุ้ยเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ไว้รอเลือกตั้งคราวหน้าก็ค่อยว่ากันใหม่
ช่วงเวลาการทำประชามติต้องทำจนกว่าจะตกผลึึก ขยายผล 3-4 เดือน ใครอยากรณรงค์ให้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ทำไป แต่การผลักดันในสภาต้องหยุด ไม่อย่างนั้นเสียงข้างมากก็แถกไปเรื่อย จนประชาธิปัตย์ทนไม่ได้เถื่อนกลับมา
การทำประชามติ เสียงที่กาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนที่เพิ่มขึ้นทุกครั้ง หรือคนที่เป็นกลางจะเป็นคนตัดสิน เรื่องจะจบอย่างสวยงาม