ผมเข้ามานั่งตรงนี้ก็อยากพิสูจน์ตัวเอง และอยากให้คนที่คิดว่ามีคนอื่นที่ดีและเหมาะสมกว่าให้โอกาสด้วย
หลังพ้นโทษการเมือง นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ ประเดิมเก้าอี้ใหญ่เป็นรายแรกในฐานะสมาชิกบ้าน 111
นั่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี หลังจากก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งโฆษกส่วนตัวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พลิกปูมประวัติไม่ใช่คนอื่นคนไกล เคยทำงานร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ยุคพรรคพลังธรรมก่อนล่มหัวจมท้ายที่พรรคไทยรักไทยด้วยกัน
นายสุรนันทน์เปิดใจถึงตำแหน่งที่ได้รับ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากคนในพรรคเพื่อไทย รวมถึงการทำงานร่วมกับ นายกฯ หญิงไว้ดังต่อไปนี้
รู้ตัวมาก่อนว่าจะรับตำแหน่งนี้
บอกตรงๆ ว่าไม่รู้ตัว การช่วยงานตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมใหญ่ ไม่คิดว่าจะได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ ก่อนหน้านี้ก็ทำงานเอกสารบางอย่างให้ แต่ไม่ได้คาดหวัง รู้ตัวจริงๆ ก่อนประชุม ครม. (5 มิ.ย.) แค่วันเดียว นายกฯ เป็นคนบอก
เสียงวิจารณ์ถูกวางตัวมานานแล้ว
คงไม่ใช่ เพียงแต่เมื่อผมเข้ามาช่วยงาน นายกฯ อาจดูอยู่ว่าทำงานอะไรได้ แต่แปลกใจที่ได้ตำแหน่งเร็ว หลังปลดล็อกมีตัวเลือกหลายคนให้นายกฯ พิจารณา ผมไม่ปฏิเสธว่าเป็นหนึ่งในคนที่ถูกมอง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องตั้งเร็วขนาดนี้
ผมอาจอยู่ในสถานการณ์ที่แปลกกว่าคนอื่น คือ ทำงานกับนายกฯอยู่แล้ว เหมือนนายกับลูกน้อง ทำมาสักพักท่านก็มอบหมายให้เป็นโฆษกส่วนตัว
แต่ครั้งนี้คงอยากตั้งให้เป็นเลขาธิการนายกฯ ท่านถามว่าผมพร้อมมั้ย จะรับมั้ย ผมบอกว่ายินดีทำงานให้ ไม่มีเงื่อนไข
แต่ไม่ใช่เรื่องการเสนอตัว เป็นการทำงานให้นายกฯ ให้ประเทศชาติ อย่าคิดมาก อาจมีคนที่มีความสามารถมากกว่าผม ถ้าวันหนึ่งนายกฯ จะให้คนเหล่านี้มาทำงานแทน ผมก็ยินดี
มีคนไม่เห็นด้วยกับการรับตำแหน่ง
ทุกคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองน่าจะเข้าใจ กรณีมีคนได้รับตำแหน่งใหญ่ๆ จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เป็นเรื่องธรรมดา
ผมเข้ามานั่งตรงนี้ก็อยากพิสูจน์ตัวเอง และอยากให้คนที่คิดว่ามีคนอื่นที่ดีและเหมาะสมกว่าให้โอกาสด้วย ผมพร้อมจะประสานกับทุกฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมทำหน้าที่เต็มที่ ไม่คิดอย่างอื่น
ไม่หวังเก้าอี้รัฐมนตรีหรือ
ไม่หรอก ผมอยู่ตรงไหนแล้วจะทำงานตรงนั้นให้ดีที่สุด ไม่ใช่มาอยู่ตรงนี้เพื่อรอโอกาสอื่น ตรงนี้ไม่เหมาะสม ตำแหน่งพวกนี้ก็ไม่ถาวรอยู่แล้ว มาแล้วก็ไป ฉะนั้นต้องทำให้ดีที่สุด หมดภาระหน้าที่แล้วก็ไปทำอย่างอื่น
ถูกแบน 5 ปีส่วนใหญ่ทำอะไร
ที่ผ่านมาไปจัดรายการโทรทัศน์ที่เป็นคอมเมนต์การเมือง รายการวาไรตี้ จัดรายการวิทยุ เขียนคอลัมน์หนังสือพิมพ์ ก็สนุกและเหนื่อยไปอีกแบบ
สมาชิก 111 บางคนก็คุยปรับทุกข์สุกดิบกัน เช่น นายภูมิธรรม เวชยชัย น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผมขอคำปรึกษาจากเขาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนคนอื่นๆ ก็ทำงานร่วมกันบ้าง ขอคำปรึกษาหารือโดยเฉพาะคนที่ช่วยงานพรรคเพื่อไทยซึ่งล้วนมีความสามารถ
นามสกุลเป็นปัญหาต่องานหรือไม่
เป็นคำถามตั้งแต่ผมมาเล่นการเมืองปี 2538 สมัยพรรคพลังธรรม ซึ่งจะตอบว่าอุดมการณ์ทางการเมืองนั้น คนละฝั่งอยู่แล้ว คิดคนละแบบ ความเชื่อคนละอย่าง การทำงานก็คนละสไตล์ เป็นเช่นนี้มา 20 ปี วันนี้ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง
ครอบครัวที่เห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มี แต่ฝั่งที่เชื่อในตัวผมและมาแสดงความยินดีก็มี เรื่องนี้ไม่เป็นอุปสรรคเพราะมันชัดเจน
สำหรับเพื่อนๆ บางคนที่ผมไม่สนิทในพรรคเพื่อไทยก็ไม่ต้องห่วง ความสงสัยเคลือบแคลงอาจมีได้ แต่ผมอยากพิสูจน์ตัวเอง วันนี้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว หวังว่าเพื่อนๆ จะให้โอกาส
การปรับตัวทำงานกับนายกฯหญิง
ผมให้เกียรตินายกฯ ยิ่งลักษณ์เหมือนที่ให้เกียรติอดีต นายกฯ ทักษิณ ไม่ได้มองเรื่องเพศชายหรือหญิง แต่ให้เกียรติโดยตำแหน่ง
แต่แน่นอนการเป็นสุภาพสตรี เราซึ่งเป็นผู้ชายต้องระมัดระวัง จะพูดจาโผงผางเหมือนทำงานกับผู้ชายคงไม่ได้
นายกฯ แม้เป็นผู้หญิงแต่เข้มแข็ง ใจนักเลงพอๆ กับนักการเมืองผู้ชาย ผมทำงานกับนายกฯยิ่งลักษณ์ ท่านใจนักเลงกว่านักการเมืองผู้ชายบางคนเสียอีก ฉะนั้นไม่มีอะไรที่ตะขิดตะขวง
นายกฯยิ่งลักษณ์ดุมั้ย
เรื่องดุไม่แพ้อดีตนายกฯ ทักษิณ แต่เป็นคนที่ทำงานด้วยแล้วสบายใจ พูดแล้วจบจากนั้นก็ทำงานต่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
ผมชอบทำงานกับผู้บังคับบัญชาที่เปิดเผย นายกฯ ยิ่งลักษณ์มีอะไรก็พูดกันตรงๆ ชอบไม่ชอบก็บอกกันตรงๆ แทนที่จะอึมครึมจนคบหากันไม่ได้
ภาพนายกฯ ที่เดินตามเงาทักษิณ
เป็นเรื่องโจมตีทางการเมืองมากกว่า เสียงสะท้อนนี้ออกมาจากการเมืองฝั่งตรงข้ามเยอะมาก ขอความเป็นธรรมให้นายกฯ ด้วย คนที่ทำงานกับท่านจะรู้เลยว่าเป็นไปไม่ได้ นายกฯ ตัดสินใจแก้ปัญหาเองโดยไม่ต้องมีทักษิณสไกป์
การขอคำปรึกษาน่าจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ ไม่ว่าอยู่ในตำแหน่งไหนต้องฟังเสียงข้างนอก จากผู้มีประสบการณ์ ที่ผ่านมานายกฯ ทำตลอด ไม่เฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีสมาชิก 111 รวมถึงคนนอกที่เคยเป็นที่ปรึกษา เช่น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์
ฝ่ายค้านพยายามโจมตีจุดอ่อนนายกฯ
เขาไม่ลดละดิสเครดิตรัฐบาลและนายกฯ ยิ่งลักษณ์อยู่แล้ว แต่วันนี้นายกฯ อยากให้เอาผลงานเป็นตัวชี้วัด จะทำให้การเมืองที่เน้นวิวาทะกึ่งโวหารกึ่งเล่นเกม ไม่มีความหมายทันที
แต่ถ้าไปเล่นเกมตอบโต้ทางการเมือง รัฐบาลจะเหนื่อยเพราะฝ่ายค้านเก่งเรื่องนี้ มีลูกเล่นแพรวพราว สามารถพลิกลิ้นได้เสมอ หนนี้เราไม่อยากทำอย่างนั้น นายกฯ จึงเน้นผลงาน
ส่วนในสภาก็ว่ากันไป แต่นายกฯ สื่อสารไปยัง ส.ส.เพื่อไทย ให้ทำตามกติกา อย่าเล่นนอกกติกาเด็ดขาด
ยิ่งตอนนี้ฝ่ายค้านทำตัวไม่เหมาะสมหลายเรื่อง เล่นเกมที่ไม่เคารพกติกาของสภา ขณะที่พรรคเพื่อไทยยิ่งอยู่ในเกมกติกา ประชาชนจะเห็นความแตกต่างเอง
เรื่องปรองดองที่สะดุดอยู่บ่อยๆ
นายกฯ เป็นห่วงเรื่องนี้ อยากให้คนเข้าใจว่าการปรองดองเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ไม่ใช่การแพ้ชนะในสภา หรือแพ้ชนะกันทางคำพูด แล้วกระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการของการเยียวยา ใช้เวทีสภามาถกเถียงกัน
หรือเป็นเวทีขององค์กรอื่นๆ เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ทุกอย่างต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้า ประคองทั้งประเทศ แต่ต้องไม่ออกนอกกติกา
ส่วนอะไรที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็ทิ้งไว้ก่อน หาเวลาที่เหมาะสมมาเจรจากันใหม่
ปัญหาการไม่เล่นตามกฎกติกา
น่าเป็นห่วง ฝ่ายค้านทำกับประธานสภาในวันนั้นไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การตะโกนโห่ปากันในสภา มันทำไม่ได้ หากไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ทั้ง 4 ฉบับ ทำไมไม่เสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาประกบ
พอวาระ 2 ก็ถกเถียงกันในกรรมาธิการ ไม่จบก็ขอยืดเวลา ระหว่างนี้อาจเกิดจังหวะที่คุยกันรู้เรื่องก็ได้ แล้วเอาข้อเสนอแต่ละฝ่ายมารวมกันใน พ.ร.บ.
ความไม่สบายใจบางเรื่องเช่นอดีตนายกฯ ทักษิณก็มาคุยกัน ถ้าไม่เริ่มคุยก็ประจันหน้ากันอยู่อย่างนี้
การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
ไม่เป็นห่วงเรื่องนโยบายเพราะเดินหน้ามาเยอะ แต่เป็นห่วงการเมืองจะทำให้นโยบายขับเคลื่อนไม่เต็มที่ รวมถึงเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจในภาพรวมโดยเฉพาะความผันผวนในโลก เศรษฐกิจของยุโรปที่ทำท่าจะแย่ลง
นายกฯ ให้ความสำคัญกับตรงนี้จึงเน้นการเตรียมตัวรับมือกับเศรษฐกิจโลก ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดกับอาเซียน และการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ
โอกาสที่ประเทศจะสะดุดจากการเมือง
นายกฯ ถึงได้ย้ำเรื่องสร้างความปรองดอง ถ้าปรองดองแล้วการเมืองนิ่ง มั่นคง ความเสี่ยงทางการเมืองจะลดลง ทำให้นักธุรกิจนักลงทุนเข้ามา ประเทศก็จะเดินหน้า
เหมือนตอนวิกฤตเศรษฐกิจปีที่เราพ้นมาได้ เพราะการเมืองมีความเสี่ยงแทบจะเป็นศูนย์ หลังวิกฤตเราฟื้นตัวเร็วมาก ดังนั้นถกเถียงกันไม่เป็นไร แต่ขอให้อยู่ในสภา อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ฝรั่งรับได้ นักลงทุนรับได้
แต่ถ้าออกมาข้างถนนหรือเล่นกันจนสภาไม่เป็นสภาจะเป็นความเสี่ยง ฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบ อย่าคิดว่าตัวเองจะค้านตะบันโดยไม่คิดถึงประเทศ