“วรินทร์” เตือนดัน รธน.วาระ 3 ระวังโดนตัดสิทธิเกลี้ยงสภา ต้องขอนายกฯ พระราชทาน

ผู้จัดการ 12 มิถุนายน 2555 >>>




“วรินทร์” แจงหากดันแก้ รธน. ผ่านวาระ 3 แล้วศาลตัดสินว่าผิด 416 คน ที่โดนฟ้องจะพ้นสภาพทันที เมื่อนั้น ส.ส.-ส.ว. จะมีไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เกิดสุญญากาศทันที ต้องขอนายกฯ พระราชทาน หรือเว้น รธน.บางมาตราให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง “ปานเทพ” เตือนคิดให้ดี เพราะล้มล้าง รธน. โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต

วันที่ 11 มิ.ย. นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
นายปานเทพกล่าวว่า คาดการณ์ว่าพรุ่งนี้ (12 มิ.ย.) สภาจะลงมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีผลผูกพัน แต่จะยังไม่ลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 เนื่องจากมาตรา 291 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ วงเล็บ 7 ระบุว่า เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
โดยมาตรา 150 บัญญัติว่าร่าง พ.ร.บ. ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ. นั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้
ก็คือถ้าลงมติวาระ 3 พรุ่งนี้ นับไป 20 วัน ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยไม่เสร็จ ยังไม่เริ่มไต่สวนเลย การขึ้นทูลเกล้าฯ โดยที่ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลมีความเสี่ยงสูง สมมติในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญมาตรา 151 บัญญัตติว่า ร่าง พ.ร.บ. ใด พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่าง พ.ร.บ. นั้นใหม่ ถ้ารัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกฯ นำร่าง พ.ร.บ. นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกฯ นำ พ.ร.บ. นั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว มาตรา 291 (7) บอกว่าต้องเฉพาะ 2 มาตรานี้เท่านั้น
แต่บังเอิญมาตรา 154 บอกว่าร่าง พ.ร.บ. ใดที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก่อนที่นายกฯจะนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามมาตรา 150 หรือร่าง พ.ร.บ. ใดที่รัฐสภาลงมติยืนยันตามมาตรา 151 ก่อนที่นายกฯ จะนำร่าง พ.ร.บ. นั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือทั้งสองสภารวมกัน มีไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้เสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา หรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี แล้วให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับความเห็นดังกล่าวส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกฯ ทราบโดยไม่ชักช้า
หากนายกฯ เห็นว่าร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ให้ส่งความเห็นเช่นว่านั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาทราบโดยไม่ชักช้า
ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้นายกฯ ระงับการดำเนินการเพื่อประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ความมีอยู่ว่ามาตรา 291 ไม่ได้เปิดช่องให้มีการเข้าชื่อกัน 1 ใน 10 ของจำนวนสองสภายื่นเพื่อให้ระงับและให้นายกฯ รอ แต่ให้ใช้อนุโลมเพียงแค่ 2 มาตราเท่านั้น คือ ไม่มีใครไปยื่นคัดค้านช่วงเวลาดังกล่าว หมายความว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็จะทูลเกล้าฯ โดยตรงไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยที่ ส.ส.-ส.ว. ก็ไม่อาจใช้สิทธิในการทัดทานนั้นได้ ความหมายก็คือจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทันที
ถ้าสมมติในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยทันที ก็แสดงว่าทรงไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ด้วยความขัดแย้งทุกวันนี้ก็มีโอกาสสูงเช่นเดียวกันที่จะไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ประชาชนจะคิดอย่างไรระหว่างที่ยังไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ประชาชนจะไม่มีรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ฉะนั้น ไม่แปลกใจเลยทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงได้สั่งให้ชะลอชั่วคราวในชั้นนี้ก่อนที่จะลงมติวาระ 3 เพราะหากปล่อยไปก็จะมีคนตีความทางกฎหมายอีกว่าไม่มีใครยับยั้งนายกฯ ได้แล้ว ศาลเห็นว่าเสี่ยงอย่างยิ่งเลยต้องชะลอในชั้นนี้เสียก่อน
แต่บังเอิญคำร้องของพันธมิตรฯ เห็นว่า กรณีใช้มาตรา 291 ใช้ตรากฎหมายลบล้างมาตราตัวเองอาจทำไม่ได้ เหตุผลคือ มาตรา 136 บัญญัติชัดเจนว่า ในกรณีต่อไปนี้ให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน วงเล็บ 16 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 แสดงว่ารัฐสภาบัญญัติให้สองสภาประชุมกันก่อน ไม่ใช่เสนอมาเพื่อให้แก้ตัวเองโดยตรง จึงเห็นว่าพรุ่งนี้คงลงมติแก้เกี้ยวก่อนในชั้นต้นคือไม่รับคำสั่งศาล ถ่วงเวลาสักช่วงค่อยลงมติวาระ 3 ถ้ายื่นเร็วแล้วถ้าเกิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย จะเกิดอะไรขึ้น สังคมไม่มีทางเข้าใจได้ว่าทำไมไม่ทรงลง เพื่อไทยจะถูกกระแสมวลชนไม่พอใจสูงขึ้นมาก
นายวรินทร์กล่าวว่า การแปลความตามรัฐธรรมนูญ มีหลักว่า ต้องแปลให้มีผลบังคับใช้ให้ได้ มาตรา 291 (7) ให้นำมาตรา 150 และ 151 ใช้โดยอนุโลม ซึ่งใช้คำว่าร่าง พ.ร.บ. แต่มาตรา 291 ใช้คำว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เอามาใช้ไม่ได้ เลยใช้คำว่า อนุโลม เมื่ออนุโลมใช้ก็อยู่ที่มาตรา 154 ด้วย เพราะ 2 อันนั้นคือขั้นตอนการเสนอ แม้ตั้ง พ.ร.บ. เองก็ยังมีการดุลอำนาจในการตรวจตรา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจตรา ขนาดกฎหมายลูกยังสามารถตรวจตรา แล้วถ้ากฎหมายแม่ไม่มี มันผิดหลักการตรากฎหมาย
ส่วนเรื่องลงมติไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ต้องลงแน่ เพราะถ้าไม่ลง มาตรา 216 จะมีผลทันที รัฐสภาก็โดนด้วย จากนั้นเขาก็จะเดินหน้าลงวาระ 3 แน่ เพราะถ้าไม่เดินหน้าต่อไปภายหน้า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องของตน เขาก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ หรือถ้าไม่ทำ มาตรา 291 บอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำต่อเนื่อง 3 วาระรวด หลังจากลงวาระ 3 แล้ว ก็คงนำขึ้นทูลเกล้าฯเลย ซึ่งเสี่ยงสูง แต่แนวคิดเพื่อไทยคิดว่าหากผ่านวาระ 3 แล้ว ศาลไม่มีสิทธิวินิจฉัยแล้ว แต่ความจริงแล้วมาตรา 154 นำมาใช้ได้ โดยเข้าชื่อกันให้นายกฯ ชะลอจนกว่าจะมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไปตีความ ส่วน 5 คำร้องที่อยู่ในศาลก็ไม่ตก ต้องเข้าสู่การวินิจฉัยของศาลอยู่ดี
นายวรินทร์กล่าวต่อว่า โทษที่จะโดนมันสูง ผู้ที่รู้เห็นเป็นใจก็จะโดนด้วย ตัวนายกฯ ก็โดน คนอยู่ในห้องประชุมก็เช่นกัน หรือแม้แต่คนเชียร์นอกสภา ทั้งในและนอกราชอาณาจักรโดนเหมือนกันเพราะถือว่ารู้เห็นเป็นใจ เพราะความผิดฐานนี้ใช้คำว่ารู้ถึงการกระทำรับผิดเสมือนตัวการ
นายปานเทพกล่าวเสริมว่า ถ้าประธานสภาเสนอก็จะมีความผิดส่วนตัว เชื่อว่าตอนนี้คิดหนัก อีกทั้งเดิมพันสูงไม่ใช่คดีเล่นๆ เพราะมันคือการสมรู้ร่วมคิดฉีกรัฐธรรมนูญ ผิดตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐ โทษสูงสุดคือประหารชีวิต
เมื่อถามว่าหากผ่านวาระ 3 ไปแล้ว และศาลมีคำวินิจฉัยออกมาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ผิด จะเกิดอะไรขึ้น นายวรินทร์ กล่าวว่า 416 คน ที่ตนฟ้องจะหายไปเลย โดนยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง ตัดเป็นตัวเลขกลมๆ 400 คน ตอนนี้สองสภามี 650 คน ลบแล้วเหลือ 250 เปิดประชุมไม่ได้เพราะไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา กรณีไม่มีสภาผู้แทนราษฎรให้วุฒิสภาทำหน้าที่สภา ก็ต้องไปดูว่าเหลือถึง 75 เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ ถ้าเกินก็ทำได้ กระบวนการตรงนี้ก็จะเริ่มใหม่ แต่ไม่มีนายกฯ แล้วตอนนี้ วุฒิสภาต้องขอนายกฯ พระราชทานตามมาตรา 7 เพื่อมายุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่ถ้าวุฒิสภาก็ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตอนนั้นต้องมาตรา 7 ล้วนๆ เลย หรือไม่ก็ต้องขอยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราว่านายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง มันเกิดสุญญากาศก็จริง แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้วิธีนอกรัฐสภาอย่างเช่นการรัฐประหาร
นายปานเทพกล่าวเพิ่มเติมให้ว่า 416 คนที่ถูกฟ้องนั้น ประกอบด้วย ส.ส. 305 คน ทั้งต่อมา 76 คนเป็น ส.ว. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 149 คน นั่นก็คือถ้าโดน ส.ว. ก็จำนวนไม่ถึงที่สามารถทำหน้าที่ได้ และอีก 36 คน คือคณะรัฐมนตรี รวมถึงประธานสภาด้วย
ฉะนั้น หากศาลตัดสินผิด ไม่มีใครคุมประชุมสภาได้ ไม่มีรัฐบาลรักษาการ ไม่มี ส.ส.-ส.ว. ที่จะเปิดประชุมได้ ไม่มีนายกฯ แล้วใครจะประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งใหม่ เกิดสุญญากาศ ส่วนคดีอาญา แม้จะนานแต่ พล.อ.ธรรมรักษ์ เป็นตัวอย่าง โดนไม่รอลงอาญา แล้วนี่โทษหนักถึงขั้นประหารชีวิตจะโดนติดคุกกันกี่ปี