พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: กลับมายืนที่เดิม ? บทบัญญัตินิรันดร์หรือศัตรูนิรันดร์

คมชัดลึก 19 มิถุนายน 2555 >>>




ความจริงอยากจะเชื่อว่าสงสัยสังคมไทยอาจจะต้องการการพักรบอันเป็นนิรันดร์ซะแล้วมั้ง หลังจากการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และเรื่องราวไม่ว่าจะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องของพระราชบัญญัติปรองดองที่เพิ่งจะจบลงไปแบบมึนๆ กันหลายฝ่าย บางฝ่ายก็ถูกใจ บางฝ่ายก็ไม่ถูกใจกันไปบ้าง
สังคมเราบางทีถ้ากล้ามองกันจริงๆ ก็คิดว่าคงมีสภาพแบบกองเชียร์ธิปไตยอยู่มิใช่น้อย คือทั้งฝ่ายศาล และฝ่ายสภาก็ตกอยู่ในสภาพที่ถูกกองเชียร์กดดันกันอยู่มิใช่น้อย
แต่ก็นั่นล่ะครับ ระหว่างที่เราเรียกว่าพักรบ หรือสภาพกองเชียร์ หรือสภาพผู้เล่น ก็อย่าลืมคนอื่นๆ ที่ยังต้องรอต่อไปนะครับ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังถูกพิจารณาคดีอยู่ในทุกๆ ฝ่าย
เอาเป็นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในเกมการเมืองนี้ ก็อย่าลืมเร่งรัดกระบวนการยุติธรรมสำหรับคนที่อยู่ในคุก
และสำหรับคนทั่วไปที่ยังพยายามเหลือเกินที่จะเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ยังมีอยู่นะครับ
นอกจากนี้ขอฝากเรื่องไว้สักสามเรื่อง
เรื่องแรก คือผมคิดว่าคงต้องคิดเรื่องท่าทีกันเล็กน้อย เพราะถ้าการเมืองคือเรื่องที่เราต้องอยู่ด้วยกัน และการเมืองก็คือการไปให้ถึงสิ่งที่เราเชื่อ ก็คงจะต้องกล้ายอมรับกันด้วยว่าเราก็ต้องพยายามจะอยู่ด้วยกันและบี้กันไปอย่างนี้ล่ะครับ
พูดกันตรงๆ ว่า ไม่ว่าเราจะถกเถียงกันอย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังใช้อยู่ และคงไม่ง่ายนักที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญนี้ในแบบไม่ให้ความชอบธรรมเอาเสียเลย และไม่ยอมว่ารัฐธรรมนูญนี้ก็มาจากเสียงประชามติ
ผมคิดว่าไม่แปลกที่จะยอมรับรัฐธรรมนูญนี้ในระดับหนึ่ง และก็ต้องมีทฤษฎีที่จะอธิบายให้ได้ว่าแม้ว่ารัฐธรรมนูญมาจากการทำรัฐประหารและได้รับการลงประชามติ แต่ก็ยังมีสิ่งที่สามารถพูดคุยแก้ไขกันได้
หมายความว่าถ้าต้องการแก้รัฐธรรมนูญก็คงจะต้องใช้ท่าทีบางอย่างที่ต้องอธิบายให้แก่คนที่ลงประชามติไปด้วย และคนที่ไม่ได้เลือกพรรคเพื่อไทยเช่นกัน
ดังนั้นผมคิดว่าการพยายามเข้าใจรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในฐานะที่เป็นระบบที่เราใช้ชีวิตอยู่ และอธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะทำให้ระบบที่เป็นอยู่ดีขึ้นอย่างไรก็น่าจะดีไม่น้อย
พูดง่ายๆ ว่าอย่าไปมองเรื่องการเมืองในสภา-นอกสภาง่ายๆ ให้มองว่าฝ่ายในสภาจะอธิบายให้ฝ่ายนอกสภาที่ไม่ได้ยืนตรงข้ามตัวเองอย่างไร เพื่อให้การเมืองแบบเครือข่าย กับการเมืองแบบจำนวนนั้นแปรสภาพไปเป็นการเมืองของความเข้าใจมากกว่านี้
สอง เราคงต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรให้เรามีสติกับความเข้าใจว่าแม้ว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ก็ย่อมจะต้องแก้ไขได้ และต้องแยกให้ออกระหว่างการแก้ไข การร่างใหม่ และการแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งผมคิดว่าคงต้องทำได้ทั้งสามแบบ แทนที่จะมองว่าใครถูกใครผิด
สรุปว่าแทนที่จะหาแค่ตัวอย่างหรือหาเหตุผลว่าทำไม่ได้ มาช่วยกันคิดดีไหมว่าเราควรจะทำได้ทั้งสามอย่าง แต่จะทำได้อย่างไร
สาม ประเด็นสำคัญของเรื่องราวที่ว่าตกลงมีอะไรแก้ไขได้หรือไม่ได้ คงไม่ได้อยู่ที่การอ้างอิงง่ายๆจากประสบการณ์ของต่างประเทศว่าประเทศไหนมีหรือไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว เพราะเรื่องสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่าบทบัญญัติที่ห้ามแก้ไขในบางส่วนนั้นมันมีบทบัญญัติที่ว่าด้วยเรื่องการยอมรับรัฐธรรมนูญใหม่เลยไหม
และที่สำคัญคงต้องมาถามว่าอะไรที่เขาห้ามแก้นั้นเพราะเขากลัวอะไร และเขากลัวร่วมกันทั้งประเทศไหม
ผมว่าบ้านเราบางพวกกลัวรัฐประหาร บางพวกกลัวทักษิณ แต่ไม่ได้มีอะไรที่กลัวร่วมกันเลยล่ะมั้ง ...(ศัตรูที่กลัวร่วมกันจนเป็นนิรันดร์ย่อมต้องเป็นที่มาของบทบัญญัติอันเป็นนิรันดร์ มิใช่หรือครับ)