เมื่อกฎหมายกับมวลชนยืนคนละฝั่ง

คมชัดลึก 25 มิถุนายน 2555 >>>




การชุมนุมของ "กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ" (นปช.) ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ภายใต้ชื่อ "80 ปี ยังไม่มีประชาธิปไตย" การปราศรัยบนเวทียังดุเดือดเข้มข้นเหมือนเดิม
แม้ว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา "สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ" ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อให้ถอนคำอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว "ตู่" จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ในคดีก่อการร้าย จากกรณีเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ได้ขึ้นเวทีกล่าวปราศรัยโจมตีการตีความของ "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" เกี่ยวกับมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนอู่ทอง
หลายคนเชื่อว่า "แกนนำคนเสื้อแดง" โดยเฉพาะ "แกนนำ" ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายน่าจะสงบปากสงบคำที่อาจจะทำให้ถูก "ถอนใบอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว" หากปราศรัยพาดพิงถึงศาลหรือปลุกระดมทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย
แต่หากนั่งฟังการปราศรัยจะรู้ว่า การยื่นถอดถอนใบอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวของ "จตุพร" ไม่ได้ทำให้แกนนำบนเวทีคนเสื้อแดงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปราศรัยที่ดุเดือดเข้มข้นลงเลย
เพราะเนื้อหาการปราศรัยครั้งนี้ ส่วนใหญ่ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ยังเป็นเป้าหมายหลักในการถูกโจมตี และขาประจำที่เวทีคนเสื้อแดงต้องกล่าวถึงคือ "อำมาตย์"
และมีบางคนบนเวทีประกาศจะเดินทางไปศาลรัฐธรรมนูญ แม้จะบอกว่า ไม่ได้ไปกดดัน หรือข่มขู่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็น่าจะทำให้สถานการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้น เพราะวันที่ 5-6 กรกฎาคมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนชี้ขาดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
"พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์" หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ก็เตรียมประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้มารักษาความปลอดภัยบริเวณศาลรัฐธรรมนูญ โดยการไต่สวนเรื่องดังกล่าวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังคงทำหน้าที่ไปตามปกติ
การปราศรัยโจมตี "ศาลรัฐธรรมนูญ" โดยเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบนเวทีถือเป็นการตอกย้ำความไม่ไว้วางใจในการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อนจะมีการไต่สวนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อความไม่ไว้วางใจขยายวงกว้างขึ้น โดยขาดการทำความเข้าใจ เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินก็ยากที่จะทำให้อีกฝ่ายเชื่อถือในข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ได้รับ
สิ่งที่หลายฝ่ายกังวล บ้านเมืองอาจจะเกิดความวุ่นวายขึ้นอีกครั้ง ก็มีเหตุและผลรองรับ ถ้าตราบใดไม่เร่งหาตัวบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับมาเป็นคนประสาน "ความไว้วางใจ" เพื่อให้เกิดกับคนทั้งสองฝ่าย
จะเห็นว่า "การเมือง" ในขณะนี้มีความเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมทางการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล
ภายใต้ความไม่ไว้วางใจของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่า "รัฐบาล" จะหยิบจับเรื่องใด "ฝ่ายค้าน" ต้องนำมาเป็นประเด็นตั้งข้อสังเกตแทบทุกเรื่อง แทนที่มุ่งติดตามเฉพาะ "นโยบายรัฐบาล" ที่ขณะนี้มีหลายนโยบายกลายเป็น "โรคเลื่อน" ไม่สามารถทำได้ตามที่หาเสียงไว้
แต่ดูเหมือน "ฝ่ายค้าน" ไม่มุ่งเน้นตามติดสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ไปมุ่งเน้นประเด็นการเมืองเป็นหลัก
พร้อมกับปรับเปลี่ยนยุทธวิธีดึงมวลชนมาเป็นกองหนุนเลียนแบบพรรคเพื่อไทย และเดินสายในพื้นที่หลายจังหวัด ถือเป็นการ "แบ่งแยก" มวลชนให้เลือกข้างอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ "คนเสื้อแดง" ระยะนี้มีความถี่เรื่องการออกมาขับเคลื่อนทำกิจกรรมมากขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
สิ่งหนึ่งที่ "แกนนำเสื้อแดง" ออกมายอมรับว่า การมาทำกิจกรรมของคนเสื้อแดงส่วนหนึ่ง เพื่อต้องการป้องปรามการ "ปฏิวัติ" ถือเป็นการแสดงพลังมวลชนให้สังคมได้เห็นพร้อมจะปกป้องรัฐบาล
อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงให้ "รัฐบาล" เห็นความสำคัญของมวลชนคนเสื้อแดงที่รัฐบาลไม่มีวันตัดขาดออกจากกันได้ เพราะคนเสื้อแดงคือ "แรงกาย" ที่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เมื่อถึงคราวจำเป็น
ต้องยอมรับว่า ลึกๆ แล้ว "รัฐบาล" ก็หวั่นไหวกลัวการปฏิวัติเช่นกัน เห็นได้จากงบประมาณในการจัดงานให้กองทัพถือว่ามีจำนวนไม่น้อย
ภาพรัฐบาลกับกองทัพดูเหมือนเป็นน้ำหนึ่งในการทำงานร่วมกันก็ตาม แต่ในอดีตสมัย "ทักษิณ ชินวัตร" ภาพความสัมพันธ์กับกองทัพใช่ว่าไม่เคยเกิด แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติขึ้นจนได้
การเมืองไทยในขณะนี้ หากมองไปเหมือนกับไม่น่าจะเกิดปัญหาความวุ่นวายตามมา แต่ถ้าดูจากบริบทของแต่ละฝ่ายที่ขับเคลื่อนต่างฝ่ายต่างทำกิจกรรมโดยมีเป้าหมายของตัวเอง
ไม่เน้นการสร้างความเข้าใจและการให้ข้อเท็จจริง นับวัน "มวลชน" จะยิ่งเลือกข้างยืนคนละฝั่งมากยิ่งขึ้น
แต่ละฝ่ายจะไม่ให้ความสำคัญกับ "กฎระเบียบ" และ "กฎหมาย" ของบ้านเมือง เพราะความไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อใจในตัวบุคคลที่นั่งอยู่ในองค์กรนั้นๆ
โดยใช้ "อำนาจ" และ "มวลชน" ที่แต่ละฝ่ายคิดว่าตัวเองมีอยู่เหนือกว่ามาเป็นแรงผลักดันให้ได้มาซึ่งเป้าหมาย
เมื่อองค์กรรักษากฎหมายพบกับประชาชนที่ไม่เชื่อใจคลางแคลงใจ เมื่อขยายวงกว้างขึ้น สุดท้ายสิ่งที่สังคมกังวลอาจจะเกิดขึ้นอีก !