หากที่ประชุม ครม. ในวันอังคารที่ 26 มิถุนายน ไม่ให้ความเห็นชอบต่อโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ก็น่าเสียดาย ไม่เพียงแต่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จะเสียดาย
หาก ดร.นริศรา ทองบุญชู แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ก็ยิ่งเสียดาย เพราะเคยร่วมโครงการนี้มาแล้วเมื่อปี 2544 ที่ฮ่องกงและญี่ปุ่น
ยิ่ง ดร.ธวัช วิรัตติพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายออกแบบและติดตั้งระบบการสื่อสารบนยานอวกาศ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือนาซา ยิ่งเสียดายเป็นทบเท่าทวีคูณ
เพราะว่าโครงการนี้นาซาศึกษามาตั้งแต่ปี 2526 ที่ฮาวาย ปี 2544 ที่ฮ่องกง ที่ญี่ปุ่น 2547 ที่สหรัฐ 2549 ที่เม็กซิโก 2551 ศึกษาขั้วโลก เป็นโครงการศึกษาที่มีนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 คนได้เข้าร่วม รวมทั้ง ดร.นริศรา ทองบุญชู ของไทย
น่าประหลาดหากจะมีก็แต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่จะยินดีหากว่า โครงการการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพภูมอากาศไม่ผ่านความเห็นชอบ
เพราะเท่ากับกระบวนการคัดค้าน ต่อต้าน จากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรประสบผลสำเร็จ
ได้ชัยชนะ
เป็นชัยชนะต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นชัยชนะต่อพรรคเพื่อไทย และที่สุดแล้วก็อาจปุโลปุเลว่าเป็นชัยชนะต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างแน่นอน
จริงนั่นแหละ กระนั้น ผู้แพ้ทั้งหลายมิได้มีแต่ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้มีแต่พรรคเพื่อไทย มิได้มีแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากแต่ยังทำให้โอกาสที่การศึกษาวิจัยในเรื่องอันเกี่ยวกับภูมิอากาศของไทยต้องหยุดชะงักลงไป
อย่างน้อยที่องค์การมหาชนอย่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เคยทำกับนาซาตั้งแต่เมื่อปี 2553 ยุคคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคยทำไว้ก็ต้องงันชะงัก
ผู้แพ้แท้จริงกลับเป็น "วิชาการ" แรกที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ออกมาทักท้วงเรื่องนี้
หลายคนล้างหูน้อมรับฟัง แต่พลันที่กระบวนการต่อต้านตกไปอยู่ในมือของคนอย่าง นายถาวร เสนเนียม และเลเพลาดพาดถึงมือของคนอย่าง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต ตลอดจน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล เรื่องก็ดำเนินไปอย่างที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสรุป
"เลอะเทอะ"
เลอะเทอะถึงระดับที่อ้างเว็บไซต์นาซาว่ามีการขนอุปกรณ์เข้ามายังสนามบินอู่ตะเภาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม เลอะเทอะถึงขนาดนำเอาภาพถ่ายทางทะเลระบุว่าจะมีการสำรวจไปยังแหล่งพลังงานอันเป็นผลประโยชน์ของเชฟรอน และแน่นอนรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วย
ยิ่ง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ร่วมใส่สีตีไข่ว่าด้วยการเข้ามาของขีปนาวุธ ยิ่งโกโซบิ๊ก ความจริง อาการเลอะเทอะเหล่านี้ไม่ว่า พ.อ.ธนาธิป แสงสว่าง โฆษกกระทรวงกลาโหม ไม่ว่า พล.ร.อ.ฆนัท ทองพูล ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการแห่งกองทัพเรือ ก็ชำระล้างได้อย่างหมดจดด้วยน้ำยาชั้นดี
แต่ความเลอะเทอะก็ยังดำรงอยู่ กรณีโครงการสำรวจเมฆและฝุ่นครั้งนี้จะเป็นหินลองคมแหลมในการตรวจสอบคุณภาพอย่างสำคัญ
ตรวจสอบคุณภาพรัฐบาล ตรวจสอบคุณภาพของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบความตระหนักในคุณค่าความหมายของวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบคุณภาพของพรรคฝ่ายค้าน
อะไรของจริง อะไรของปลอม