ความขัดแย้งระหว่างรัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญในตอนนี้ ถ้าเปรียบเป็นมวยราชดำเนิน ศาลมุมน้ำเงินก็ได้แต่พิงเชือกโอนไปเอนมา ยกการ์ดป้องคางไม่ให้ถูกน็อก ขณะที่รัฐสภามุมแดงถลุงได้ถลุงเอา
ขอโทษ ครั้งนี้ศาลเป็นคู่ชกนะครับ อย่าคิดว่าเป็นกรรมการ เพราะนี่คือการปะทะกันระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการ ซึ่งรัฐสภายืนยันว่ามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบหรือยับยั้ง
แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับไปลอดช่องอ้างมาตรา 68 ทั้งที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องบุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันนั้นเขามีไว้เล่นงานพวกที่เรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารต่างหาก
แถมในแง่กระบวนการ ศาลยังไปตีความคำว่า “เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย” เป็นทำได้ 2 อย่าง ทั้งยื่นผ่านอัยการและยื่นศาลเอง ผลก็เป็นอย่างที่เห็น คือเมาหมัดจนต้องอ้างฉบับภาษาอังกฤษ
ไม่ใช่แค่รัฐสภาและนักวิชาการ อัยการสูงสุดยังซ้ำให้อีกดอก ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยเลือกตั้ง สสร. และลงประชามติ มันจะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยไปได้ไง การที่ประชาชน 70 ล้านคนลงมติว่าจะใช้รูปแบบการปกครองใด นั่นแหละคือประชาธิปไตย แต่การที่คน 7 คน 9 คน มาคอยชี้ว่ารูปแบบการปกครองควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นแหละไม่ใช่ประชาธิปไตย
ในความเห็นผม หมัดหนักที่สุด คือ คอป. โดย อ.คณิต ณ นคร ซึ่งเตือนศาลรัฐธรรมนูญว่า ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตีความตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะอาจนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาของประชาชน
นิ่มๆ แต่หนักหน่วง ฮุคเข้าตรงลิ้นปี่
รสนา โตสิตระกูล คร่ำครวญในเฟซบุ๊กว่าถ้าไม่ช่วยกันปกป้องอำนาจตุลาการ แล้วจะเหลือใครตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมือง ก็ถ้าตุลาการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ใช้อำนาจเกินขอบเขต ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย ก็ต้องเสื่อมไปสิครับ นี่คือสังคมกำลังตรวจสอบอำนาจตุลาการ แต่ถ้าตุลาการใช้อำนาจอย่างถูกต้อง มีหลักการ เหตุผล ตรวจสอบนักการเมืองอย่างไม่มี agenda ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะตรวจสอบไม่ได้
ผมกลับรู้สึกครื้นเครง สะใจ ที่ได้เห็นนักการเมืองบางคนขึงพืดตุลาการผู้สูงส่ง นี่ถ้ารัฐสภาชนะ ก็ไม่ใช่แค่ชัยชนะของรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย แต่เป็นชัยชนะของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยในแง่นี้หมายถึงการตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาอำนาจตุลาการมักไม่ถูกตรวจสอบ ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ กลัวความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือละเมิดอำนาจศาล ตุลาการในสังคมไทยถูกยกย่องเชิดชูเป็นผู้สูงส่ง อยู่เหนือปุถุชนคนธรรมดา เป็นผู้มีความเที่ยงธรรมมีจริยธรรมจนแตะต้องไม่ได้ สังคมไทยทั้งกลัวทั้งยำเกรง ซึ่งนั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยอยู่บนทัศนะที่เชื่อว่าเราทุกคนคือมนุษย์ธรรมดา กินปี้ขี้นอน มีกิเลสตัณหา มีรักโลภโกรธหลง ไม่ว่าใครก็ตามที่มีอำนาจ ล้วนมีโอกาสเหลิงอำนาจ หรือใช้อำนาจในทางที่ผิดด้วยกันทั้งสิ้น
ฉะนั้นทุกคนจึงต้องถูกตรวจสอบ ไม่มีใครสูงส่ง ไม่มีใครอ้างคุณธรรมจริยธรรมได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ
อำนาจตุลาการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นด้วยกระบวนพิจารณาที่เคร่งครัด รัดกุม รอบคอบ โปร่งใส ไม่ได้ให้ผู้พิพากษาใช้อัตวิสัยของตัวเอง แต่ใช้หลักกฎหมายพิเคราะห์พยานหลักฐานตามน้ำหนัก กระบวนการต่างหากที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ตัวคน เราจึงเห็นได้ว่าผู้พิพากษาตัวเป็นๆ พอหลุดออกนอกศาลมาเล่นการเมืองหรืออยู่องค์กรอิสระ ก็เสื่อมไปนักต่อนัก
หรือแม้แต่อยู่ในศาลก็เถอะน่า สมัยวิกฤติตุลาการ ก็สาวไส้กันเองจนชาวบ้านรู้ว่ามีผู้พิพากษาตัดสินให้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินป่าช้าสีลมราคาหลายพันล้านหน้าตาเฉย
อำนาจตุลาการจึงต้องตรวจสอบได้ ต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้ และต้องถูกถ่วงดุลโดยอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ
อำนาจตุลาการจึงต้องใช้อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ขยายอำนาจ ตีความกว้างไกลโดยใช้อคติสุคติ แล้วอ้างว่าท่านมีคุณธรรมจริยธรรมเหนือคนอื่น แบบเที่ยวเดินสายสอนคน ทำยังกะตัวเองเป็นพระ เห็นชาวบ้านโง่ แค่เงินพันบาทก็ซื้อได้
เราทุกคนต่างก็เป็นมนุษย์ ไม่มีใครเป็นอรหันต์หรือโสดาบัน ถ้าสังคมไทยตระหนักข้อนี้ แล้วพิจารณาด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยศรัทธาประชาธิปไตยก็จะพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง