สยามธุรกิจ 16 มิถุนายน 2555 >>>
บรรยากาศการเมืองไทยยามนี้ ดูจะเริ่มผ่อนคลายลงไปบ้าง หลัง “ประธานขุนค้อน” สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เคาะปิดเกมโหวต ! ร่างรัฐธรรมนูญ “วาระ 3” เอาไว้ก่อน...ซึ่งด้านหนึ่งก็มองได้ว่า ทำไปด้วยเจตนาดี เพราะไม่ต้องการให้ปมแก้รัฐธรรมนูญ กลายเป็น “เงื่อนไข” แห่งการเผชิญหน้า ที่นำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงในสังคม
แต่นั่นคือ “เหตุผลเบื้องหน้า” ที่อยู่ในความรับรู้ของสังคม เช่นเดียวกับที่เลื่อน “เกมดันปรองดอง” ที่ยื้อออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งก็ไปสอดรับกับ “จังหวะก้าว” ของทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยและวิปรัฐบาล ที่ต่างประสานเสียงกันแข็งขัน ในการออก พ.ร.ฎ.ปิดประชุมสภา แล้วค่อยไป ว่ากันต่อในสมัยประชุมหน้า
แม้ในช่วงนี้ จะถูก “ยาดำ” ศาลรัฐธรรมนูญสั่งตะบี้ตะบันให้ “รัฐสภา” ชะลอการโหวต “รธน.วาระ 3” ออกไปก่อน ซึ่งที่สุดได้กลายเป็น “ชนวนแห่งปัญหา” ที่มีการโต้แย้งกันว่า “คณะตุลาการ” ชุด ดังกล่าว มีอำนาจเข้าแทรกแซงการทำหน้าที่ หรือสั่งการ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” หรือไม่ ?!
ขณะที่กระแสเสียงในทางสังคม ยังมี ความกังขาว่า “การตีความ” ของคณะตุลาการจะนำไปสู่สิ่งใดกันแน่...ยิ่งกับซีกมวลชน “เสื้อแดง” ที่เปิดแนวรบรอบใหม่ ด้วยการ “ยื่นถอดถอน” องค์คณะตุลาการทั้งเจ็ด ขณะที่ “ข้อกล่าวหา” ล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นข้ออ้างยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาไปทอดยอดนั้น ปลายทางคือการ “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิทางการเมือง” เช่นที่ว่านี้ กรณีขัดแย้งที่กลายเป็น “วิกฤติแห่งรัฐธรรมนูญ” ทางอัยการสูงสุดก็ชี้ไปแล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น จึง “ไม่จำเป็น” จะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เหนืออื่นใดยังคงมีนานาทรรศนะ ทั้งในส่วนนักวิชาการกูรูด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักการเมืองรุ่นลายคราม ที่ออกมาประสานเสียง “คัดค้าน” การออกคำสั่งซึ่ง “ขัดต่อหลักการ” โดยคณะตุลาการภิวัฒน์! ไปในทิศทางเดียวกัน ด้าน “อ๋อย-จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ในฐานะประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย ย้ำหัวตะปูผ่านเวทีเสวนาทางวิชาการว่า กระบวนการที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ มีความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ก่อนการทำรัฐประหารในปี 2549 โดยแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการยุบพรรคการเมืองและถอดถอนนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 2 คน อีกทั้งยัง “มีเจตนา” ที่จะหักล้าง “มติ” ของประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นมาเป็นรัฐบาล
การแตะเบรก “วาระ 3” ได้มีข้อสังเกต ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” สามารถกระทำได้หรือไม่ เนื่องจากเมื่อปี 2549 ศาลเคยยกคำร้องกรณีที่ “สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ยื่นคำร้องให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และยังมีกรณี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรค ปชป.เสนอให้มี การใช้มาตรา 7 โดยชี้แจงว่า “สุรพงษ์” ไม่มีสิทธิยื่นเรื่องตรงมาที่ศาล แต่ต้องเสนอ ให้อัยการสูงสุดทำการ สอบสวนและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เท่านั้น !!!
“การตีความมาตรา 68 ที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญนั้น กำลังทำให้ศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไปแล้ว ทั้งๆ ที่ศาลไม่มีสิทธิสั่งรัฐสภาได้ และอำนาจในการบัญญัติและพิจารณารัฐธรรมนูญ ก็อยู่ที่รัฐสภาเท่านั้น แต่ศาลกลับใช้รัฐธรรมนูญ ตามอำเภอใจโดยไม่ยึดถือตามหลัก”
ฉะนั้นสิ่งที่เป็นอันตรายก็คือ เมื่อ ศาลก้าวเข้ามาตรวจสอบกระบวนการแก้ไข รัฐธรรมนูญแล้ว จะตามมาด้วยการ “ยกเลิก” การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผิดกฎหมาย อันจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองและถอดถอนคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้ประเทศ ตกอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ” ไม่มีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ และจะนำไปสู่การ ใช้มาตรา 7 เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล อันเป็นการกระทำที่ผิดหลักนิติธรรม และจะก่อให้เกิดวิกฤติในประเทศอย่างรุนแรง
ในข้อเท็จจริง ก็ยากจะปฏิเสธได้ว่า “ปัจจัยสำคัญ” ที่ทำให้สังคมและการเมืองไทยจมอยู่ในภาวะความขัดแย้ง ที่ยังไร้ซึ่งทางออก สาเหตุประการหนึ่งมาจาก “ความไม่เชื่อมั่น” และ “ข้อกังขา” ที่สังคมมีต่อ “วิธีเลือกปฏิบัติ” ของคณะตุลาการ ซึ่งอาศัยการพิจารณาความโดยใช้พจนานุกรม ในอดีต หรือแม้กระทั่งการถามย้ำถึง “จุดยืน” ที่แปรเปลี่ยนไป แม้จะเป็นคดีเดิมๆ หรือตัว บทกฎหมายเดียวกัน เช่นการบังคับใช้มาตรา 68 ที่สั่งยกคำร้อง “คดี (ไม่) ยุบ ปชป.” ทั้งที่มีการ “กางหลักฐาน” ไว้อย่างชัดเจน
แม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต่างกันที่ “วิธีปฏิบัติ” ดังนั้นอย่าแค่ “กวาดขยะ เอาไปซุกใต้พรม” เพื่อเลี่ยงหลีกปัญหาชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละการกระทำย่อม บ่งชี้ถึงเจตนา ยิ่งในอีกไม่กี่อึดใจนับจากนี้ ก็มีแนวโน้มสูงยิ่งว่าจะเผชิญกับ “ชนวนปัญหา” ที่รุนแรงเสียยิ่งกว่า
เช่นที่ว่านี้ หลายกระแสเสียงในสังคม ต่างชี้ตรงกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่สามารถ “ล้มล้าง” รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยลงได้ เพราะเป็นช่องทางที่ “รัฐธรรมนูญ” เปิดไว้ให้มีสิทธิที่จะแก้ไข อยู่แล้ว ถ้าคณะ ตลก.รธน. ยังคง “ดื้อตาใส” มุ่งจะตีความแบบ “สองมาตรฐาน” ก็เชื่อได้เลยว่า วิกฤติหนนี้จะมิใช่แค่ “วิกฤติรัฐธรรมนูญ” เท่านั้น แต่จะบานปลายไปสู่วิกฤติความชอบธรรมของศาล ซึ่งแน่นอน “ทั้งกระบวนการ” คงไม่ได้รับการยอมรับและเชื่อถืออีกต่อไป !?!