เหลือง-แดงกับเชียงใหม่มหานคร

ผู้จัดการ 18 มิถุนายน 2555 >>>


มีแนวโน้มชัดเป็นลำดับว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองซึ่งจะเข้ามาแทนที่กระแสเหลือง-แดงนับจากนี้คือกระแสการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ-กระจายอำนาจ
การปฏิรูปยุคใหม่ที่มีพลังและประสบผลสำเร็จต้องมาจากชุดอุดมการณ์ที่ผูกติดกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงและมีประชาชนผลักดันอย่างแท้จริง (ขณะที่ในยุคก่อนแค่ผู้มีอำนาจสูงสุดของแผ่นดินเห็นชอบก็ปฏิรูปได้) ซึ่งข้อเรียกกระจายอำนาจปกครองจัดการตนเองนี่แหละที่เข้าข่ายเงื่อนไขข้างต้น
กระแสการเรียกร้องเชียงใหม่ปกครองตนเองและผลักดันร่างพรบ.เชียงใหม่มหานคร อันเป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดกำลังก่อตัวขึ้นและมีกำหนดจะใช้ฤกษ์ 24 มิถุนายนนี้ในการประกาศเจตนารมย์ผลักดันให้เป็นผลสำเร็จขึ้นมา
ผมได้เข้าไปใกล้ชิดรู้จักคุ้นเคยกับคณะผู้ผลักดันร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานคร มาระยะใหญ่ คนเหล่านี้มีทั้งเสื้อสีเหลือง สีแดง หลากสี สามารถกล่าวได้เต็มปากว่าขบวนการประชาชนที่ขับเคลื่อนการปกครองตนเองรอบนี้มีสายตาจ้องมองไปสู่เป้าหมายที่ชัดกว่าใหญ่กว่าความขัดแย้งระดับประชาชนแบบกีฬาสีที่เคยเป็นมา เพราะการกระจายอำนาจเป็นประเด็นใกล้ตัวสัมผัสและจินตนาการได้
นี่จึงไม่ใช่วาระของสีใดสีหนึ่ง จึงพอจะเข้าใจได้ที่คณะทำงานเชียงใหม่ปกครองตนเองเลือกสีส้มมาเป็นสัญลักษณ์ของการรณรงค์
หากการรณรงค์เป็นไปตามเป้า กระแสปฏิรูปก่อตัวเป็นกระแสสูง ขยับขึ้นไปสู่ขบวนการขับเคลื่อนทางสังคมยุคใหม่หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งเท่ๆ ว่า “New Social Movement” เมื่อนั้นพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมดจะถูกกดดันครั้งใหญ่..จะยอมตามกระแสกระจายอำนาจหรือยืนหยัดปฏิรูปรวมศูนย์อำนาจแทน
แต่ก็ต้องยอมรับว่าทอดตามองแล้วพรรคการเมือง พรรคราชการ ตลอดถึงทุนใหญ่ที่มีบทบาทในเวลานี้เหมือนจะยังยินดีปรีดาพอใจอยู่กับแนวทางรวมศูนย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

ปชป.-อำมาตย์-ทักษิณเพื่อไทย ล้วนแต่รวมศูนย์

พรรคประชาธิปัตย์มักจะอวดตัวเสมอว่าเป็นผู้ทำคลอดกฎหมาย อบต. และเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลายๆ ครั้งของวงการปกครองท้องถิ่นไทย แต่ประชาธิปัตย์มีจุดอ่อนซ้ำซากอันเนื่องมาจากวัฒนธรรมของพรรคนั่นคือไม่ว่าเรื่องอะไรไม่เคยทำให้สุดติดโน่นติดนี่ สวมการ์ดป้องกันตัว เหยียบเรือสองแคม จัดเป็นพรรคที่เยี่ยวไม่สะเด็ดไปเสียแทบทุกเรื่อง
อย่างเช่นตอนที่มีอำนาจปากหนึ่งรับนโยบายปฏิรูปที่ดิน-โฉนดชุมชนมาดำเนินการแต่ก็เดินหน้าแบบเสียไม่ได้ พอขยับไปได้นิดหน่อยแค่ยึดหัวหาดเพื่อประกาศว่าตัวเอง “ก็ทำนะ” แทนที่จะเอาจริงให้กัดฟันผ่านกฏหมายภาษีก้าวหน้าต่อผู้ครอบครองที่ดินรายใหญ่ เอาจริงเรื่องการกระจายการถือครอง โซนนิ่งเขตเกษตรกรรม ฯลฯ ประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้เดินหน้าจริง แล้วค่อยมาส่งเสียงทวงบุญคุณ เอามาเป็นผลงานตนเองตอนที่ไม่ได้รัฐบาลแล้ว !
วัฒนธรรมของประชาธิปัตย์เป็นมวยรับเน้นรอบคอบรัดกุมก็เลยช้าไปทุกลีลา เล่นไพ่ทุกหน้า เผื่อทางถอย แตะมือเอาด้วยทุกฝ่ายก็เลยเดินหน้าอะไรไม่สุดสักเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องการกระจายอำนาจ เพราะที่สุดแล้วพรรคการเมืองทุกพรรค นายทุนใหญ่ทุกค่าย ข้าราชการใหญ่ๆ ล้วนแต่ได้ประโยชน์เน็ตๆ เนื้อๆ จากระบบรวมศูนย์อำนาจทั้งสิ้น
ส่วนพรรคอำมาตย์ (ระบบราชการ-Bureaucracy ตามความหมายของ Max Weber) ก็เป็นระบบรวมศูนย์โดยตรงต่อเนื่อง ยิ่งไม่เอาด้วยกับการกระจายอำนาจ อย่าไปหวังเลยที่คนมหาดไทยจะออกหน้ามาสนับสนุนให้ตัดการปกครองส่วนภูมิภาคออกจากโครงสร้าง เพราะนั่นคือการตัดกรมการปกครองออกจากระบบโดยพฤตินัย
คนระดับอธิบดี รองอธิบดี ผ.อ.ส่วนกลาง ทั้งหลายในกระทรวงกรมต่างๆ เขาก็ไม่เอาหรอกครับกับการกระจายอำนาจ ธรรมเนียมของราชการอะไรที่เป็นประโยชน์เน้นๆ เนื้อๆ ประเภทการออกใบอนุญาต การอนุมัติ หรือการยกเลิกไม่เคยกระจายให้ระดับเขตหรอก ปากหนึ่งบอกว่าต้องมีเขตเพื่อกระจายอำนาจแต่อำนาจที่แท้จริงกลับไม่กระจายลง การขุดแร่ เหมืองหิน ขุดทราย เส้นทางเดินรถโดยสาร การตัดถนนหนทาง ฯลฯ ล้วนแต่เป็นอำนาจของราชการส่วนกลางทั้งสิ้น ระดับจังหวัดมีไว้แค่รับเรื่องส่งเรื่องตามพิธีการราชการเท่านั้นเอง
ขณะที่พรรคทักษิณเพื่อไทยยิ่งแล้วใหญ่ เพราะธรรมชาติของระบอบทักษิณคือระบบรวมศูนย์อำนาจ เมื่อ ต.ค. 2545 ที่มีการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ นอกจากเพิ่มกระทรวงแล้ว หัวใจสำคัญอีกประการคือการกระชับอำนาจราชการ ผู้ว่า ซีอีโอ. อธิบดีซีอีโอ รวมศูนย์รับการสั่งการตรงจากฝ่ายนโยบาย
การปฏิรูปของทักษิณที่เพิ่มกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดูเผินๆ เหมือนส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่เนื้อแท้เจ้าหน่วยงานนี่กลับเป็นมือไม้ของนักการเมืองส่วนกลางเพื่อต่อรอง-กดดัน-บีบบังคับ-และเปิดช่องสมประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่น ผ่านงบอุดหนุน
เนวิน ชิดชอบ เข้าใจความสำคัญของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นดี เพราะนี่คือต้นธารการเชื่อมสัมพันธ์กับอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ท้องถิ่นผ่านงบอุดหนุน พรรคภูมิใจไทยจึงสามารถต่อรองการสนับสนุนบางประการจากอปท.ได้ และประชาธิปัตย์เองก็ทำเป็นหลับตามองไม่เห็น มาถึงรัฐบาลนี้ข่าวล่าสุดที่มีการล็อบบี้ต่อรองกับ ส.ว. เพื่อผ่านกฏหมายสำคัญถึงขนาดว่า จะกันเปอร์เซ็นต์งบอุดหนุนให้อปท. ของแต่ละท้องถิ่นให้เพื่อแลกเปลี่ยนการสนับสนุน
พรรคการเมืองทั้งหลายไม่ว่าซีกใดฝ่ายใด ไม่ได้จริงใจกับการกระจายอำนาจเพราะการกระจายอำนาจที่แท้จริงต้องกระจายงบประมาณให้โดยไม่มีข้อแม้ แต่นี่กลับใช้ช่องทางงบอุดหนุนเพื่อเป็นเงื่อนไข พวกใครขึ้นมาก็ผลัดกันปู้ยี่ปู้ยำท้องถิ่น อปท.กันคนละที คนละหนุบหนับ
สมมติว่าตำรวจถูกยกให้ขึ้นกับ อปท. ตำรวจแต่ละจังหวัดกินเงินเดือนองค์กรท้องถิ่นโดยตรง การโยกย้ายก็มี ก.ตร. กลางปลอดจากอำนาจการเมืองโดยนัยสำคัญ (เพราะยากจะมีพี่เบิ้มผูกขาดอำนาจใน ก.ตร.) ดังนั้นการโยกย้ายแต่งตั้งและรับเงินเดือนตำรวจย่อมอยู่ที่ท้องถิ่น ตำรวจย่อมสนใจคดีประเภท มอเตอร์ไซด์ โจรย่องเบาปีนขึ้นเรือน หรือฉกชิงวิ่งราวฯลฯ มากขึ้นกว่าปัจจุบันเพราะประชาชนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นนั้นจะกดดันผ่านผู้บริหารที่ตนเลือกตั้งมา
ในทางกลับกันระบบตำรวจในปัจจุบันที่ “รัฐมนตรีนักการเมืองหรือเจ้านายส่วนกลาง” แต่งตั้งมาไม่เห็นจะต้องแยแสสนใจว่าท้องที่ตนมีเหตุลักรถมอเตอร์ไซด์ประจำวันเพราะเขาจะอยู่หรือไปขึ้นกับเจ้านายที่โน่น ไม่ใช่ประชาชนที่นี่
การกระจายอำนาจเต็มระบบจะทำให้พรรคการเมืองและเหล่าปลัดฯ-อธิบดีมีเงินน้อยลง เพราะงบประมาณแผ่นดินถูกกระจายและจัดสรรลงท้องถิ่นโดยตรง ท้องถิ่นจะตัดสินใจก่อสร้างถนนใหม่หรือพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ งานบริการต่างๆ ด้วยตนเองมากขึ้น
ด้วยเหตุที่เงินน้อยลง อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายก็ไม่มี งบพัฒนาก็ไม่เหลือ ดังนั้นการแย่งชิงเก้าอี้เหมือนหมูหมาแย่งชามข้าว แทงข้างหลัง ปล่อยข่าวกระตุกขาหลังกันเอง ตลอดถึงการแข่งขันทางการเมืองแบบซื้อเสียงถอนทุนขนาดใหญ่แม้จะไม่หมดเสียทีเดียวแต่จะลดลงไปในระดับสำคัญ
เหตุการณ์ที่เอ่ยมาทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องงบประมาณน้อยลง อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายหลุดไป อำนาจอนุมัติเรื่องทรัพยากรแร่ธาตุสัมปทานก็หลุดไป ฯลฯ เป็นสิ่งที่นักการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหนไม่อยากเห็นหรอก     
แต่ที่สุดแล้วเมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจระหว่างแนวทางปฎิรูปกระจายอำนาจกับแนวทางกระชับรวมศูนย์อำนาจก็จะเกิดขึ้น ไม่ช้าก็เร็ว
ประชาชนก็ต้องเลือกว่าจะยืนหยัดเพื่อบอกให้พรรคการเมือง-พรรคราชการโอนอ่อนยอมตามความต้องการของประชาชน หรือจะยอมตามแนวทางที่เคยเป็นมา
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยครับ เพราะระบบรวมศูนย์อำนาจเองก็มีจุดแข็งของมันอยู่บ้างเหมือนกัน นั่นคือ นักการเมืองที่กุมอำนาจสามารถใช้ทรัพยากรรวมศูนย์สร้างความพึงพอใจ (ประเดี๋ยวประด๋าว) ส่งตรงถึงประชาชน ข้ามหัวองค์กรท้องถิ่นไปเลยก็ได้ ยกตัวอย่างเช่นงบกองทุนพัฒนาสตรี SML บัตรทองบัตรเครดิตอะไรทั้งหลายแหล่
กระแสปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ-กระจายอำนาจกำลังมาแล้วครับ แต่จะผ่านด่านอำนาจรวมศูนย์ที่หยั่งรากยาวนานผนึกแนบแน่นกับระบบราชการ-ทุน-พรรคการเมืองได้หรือไม่ย่อมคู่ควรกับการติดตามอย่างยิ่งเพราะเอาแค่คำถามเรื่องจะอกแบบระบบอย่างไรเพื่อป้องกันการเตะหมูเข้าปากหมา มีมาเฟียผู้มีอิทธิพลคนโกงคนเลวเข้าไปมีอำนาจจะแก้ยังไงซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานที่พบมากพบบ่อย
ผมแอบมีความรู้สึกลึกๆ ว่ากระแสนี้จะมาแทนกระแสเหลือง-แดงที่ครอบงำสังคมไทยมาหลายปี เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว คนที่เห็นด้วยกับเรื่องกระจายอำนาจมีกระจายอยู่ในทุกสี ขณะที่คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีอยู่ในทุกสีทุกกลุ่ม
มีคนจัดให้ประเวศ-อานันท์ เป็นฝ่ายอำมาตย์ แต่เชื่อไหมครับข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่ม (สีส้มๆ) จัดเป็นข้อเสนอที่ทำลายรากฐานอำนาจของอำมาตยาธิปไตยไทย -Bureaucracy อย่างถึงแก่น และก็เชื่อไหมครับคนที่สนับสนุนร่างพรบ.เชียงใหม่มหานครที่ผมสัมผัสมามีคนเสื้อแดงที่เอางานเอาการอย่างยิ่งจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจหากพรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนเรื่องนี้ผมก็เชื่อว่าเขาเหล่านั้นจะยืนหยัดยืนยันอยู่ฝ่ายกระจายอำนาจโดยไม่ลังเล