จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องทั้ง 5 ราย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 กระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ไว้พิจารณาตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า การรับคำร้องดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ศาลรัฐธรมนูญกำหนดและเผยแพร่ทางเว็บไซต์อยู่ในขณะนี้ ต่อมานายวสันต์ ชี้แจงถึงการตีความรัฐธรรมนูญโดยให้กลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษที่มีความชัดเจนว่าการยื่นคำร้องเป็นเรื่องของผู้ทราบไม่แต่เฉพาะอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว
รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นกับ"มติชน ออนไลน์"ต่อกรณีดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไทยต้องอ่านเป็นภาษาไทยเนื่องจากราชอาณาจักรไทยยึดถือภาษาไทยเป็นภาษาราชการและในกรณีที่ตีความรัฐธรรมนูญไม่ว่าภาษาไทยหรือฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษ ต่างต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ
"ในรัฐธรรมนูญฉบับภาษาไทยมีความกำกวมที่ว่า ผู้ทราบการกระทำสามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ทั้งสองทาง ถือเป็นการเปิดช่องให้เกิดการตีความซึ่งกำลังเป็นประเด็นถกเถียงระหว่างนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อยู่ในขณะนี้" รศ.สิริพรรณ กล่าว
รศ.สิริพรรณ กล่าวเสริมว่า "โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยประเด็นนี้จะนำอะไรมาตัดสินว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การล้มล้างระบอบการปกครอง เนื่องจากกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เนินการตาม มาตรา 291 ผ่านกระบวนการทางรัฐสภาตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้อยู่แล้ว และการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นอำนาจของรัฐสภาที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเพียงองค์กรหนึ่งของผู้ใช้อำนาจประชาธิปไตย ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอำนาจเข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐสภา" รศ.สิริพรรณ กล่าว
ส่วนประเด็นที่นายวสันต์ ระบุ มาตรา 68 มีไว้ในเชิงป้องกัน เพราะหากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการแล้วเสร็จ อาจทำให้เกิดผลเสียแก่ระบบการปกครอง รศ.สิริพรรณ กล่าวในประเด็นนี้ว่า รัฐสภาได้หารือและถกเถียงตามทิศทางของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แม้ศาลจะรับคำร้องไว้พิจารณาแต่ศาลไม่มีอำนาจไปออกคำสั่งให้รัฐสภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว
"สำหรับทางออกของปัญหาในขณะนี้ รัฐสภาควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่ารัฐสภามีอำนาจลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่ตึงเครียดและอาจนำไปสู่การปะทะของมวลชนได้ทุกเมื่อ หากรัฐสภาจะชะลอการลงมติไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะอย่างไรเสียงส่วนใหญ่ในสภาต่างลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภามีอำนาจยึดโยงกับประชาชน"
ส่วนกรณี พ.ร.บ. ปรองดองฯ รศ.สิริพรรณ ให้ความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะไม่นำมาสู่การปรองดองในสังคมไทย ควรนำกลับไปพิจารณาใหม่ให้มีรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยเฉพาะกรณีการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2549 และการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 ส่วนการยกโทษให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ขณะที่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐทุกฝ่ายต้องเข้ากระบวนการยุติธรรมเพื่อชี้ถูกผิด