มติชน 7 มิถุนายน 2555 >>>
ที่พรรคเพื่อไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายโภคิน พลกุล และนายสุชน ชาลีเครือ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตประธานรัฐสภาและอดีตประธานวุฒิสภา ร่วมกันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไปยังเลขาธิการสภา ให้แจ้งไปยังประธานรัฐสภาชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยนายโภคินกล่าวว่า เราได้ปรึกษาหารือกันและดูจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ และประเพณีการปฏิบัติตามระบอบประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา ได้ความเห็นสรุปว่า ศาลไม่มีอำนาจออกคำสั่งกับรัฐสภา เพราะหากมีกรณีทำได้เช่นนี้ต้องมีในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะอำนาจของสามองค์กรนั้น องค์กรใดองค์กรหนึ่งจะไปก้าวล้ำการใช้อำนาจขององค์กรอื่นไม่ได้ แต่ทั้งสามองค์กรจะมีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ เช่น ถ้าสภาออกกฎหมายมาแล้วขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งคดีไปสู่ชั้นศาล ก็เป็นเรื่องของคู่ความที่จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลต้องรอการพิจารณาไว้ก่อนตามรัฐธรรมนูญ หรือกรณีเป็นร่างพระราชบัญญัติผ่านทั้งสองสภา โดยนายกฯต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป หากมีคนโต้แย้งว่าร่างดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ นายกฯก็จะต้องชะลอการดำเนินการเอาไว้ก่อน ซึ่งทุกเรื่องกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
นายโภคินกล่าวว่า ขณะเดียวกันการกำหนดนโยบายของฝ่ายบริหารก็จะถูกตรวจสอบโดยสภาและศาล ว่ากระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งแต่ละองค์กรต้องปฏิบัติหน้าที่ส่วนของตนเพื่อให้ถ่วงดุลกัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสั่งรัฐสภาได้ ก็สั่งวุฒิสภาหรืออยู่ดีๆ สั่งศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองได้อีก ทั้งที่ทุกองค์กรใช้อำนาจอธิปไตยในนามของประชาชนทั้งสิ้น ส่วนที่มีการโต้แย้งกันว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ต้องปฏิบัติตามนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องเป็นคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษา ซึ่งจะออกคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาได้นั้นต้องมีขั้นตอน เช่น ต้องมีองค์คณะในการประชุมอย่างน้อย 5 คน แต่ละท่านต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนมาก่อน และแถลงต่อที่ประชุม และหากจะมีคำวินิจฉัยส่วนกลางต้องพูดถึงความเป็นมา ข้อกล่าวหาและสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย เหตุผลและการอ้างอิงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นี่คือคำวินิจฉัย ดังนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันกับองค์กรใดเลย เป็นแค่คำสั่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาศัยข้อกำหนดที่ตนเองออกมาไปโยงกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งกรณีการใช้วิแพ่งก็ต้องให้คนไปร้องขอให้ศาลสั่ง ซึ่งก็ไม่ได้มีการขอ
นายโภคินกล่าวว่า ข้อกำหนดของศาลรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญบอกว่าต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี ซึ่งตอนนี้ก็เกินและยังไม่ได้ออก ระหว่างชั่วคราวนี้ก็ให้ออกเป็นพระราชกำหนดไปก่อน เท่ากับว่าวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญออกโดยคน 9 คน แต่ไปกำหนดให้สมาชิกรัฐสภา 500 คนปฏิบัติตามข้อกำหนดที่คน 9 คนกำหนด ถ้าเป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และออกโดยสภาที่มาจากประชาชน และไปกำหนดให้สภาต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญ แบบนี้ยังพอเข้าใจได้ว่ามาจากประชาชน ดังนั้น ถ้าให้ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งเช่นนี้ได้จะกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยและการทำงานของสภา
นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้เคยปฏิบัติหน้าที่ประธานสภา และอยู่ในช่วงของรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีศาลรัฐธรรมนูญในช่วงนั้น รัฐสภาได้ทำงานกับศาลรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง แต่ตนไม่เคยเห็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรของศาลมีคำสั่งมายังรัฐสภา เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรกที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือมายังประธานรัฐสภา และมีรายละเอียดมาถึงเลขาธิการรัฐสภา เพื่อให้ชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ซึ่งตนกังวลใจว่าหากบังเอิญทางรัฐสภาปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ โดยการชะลอการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม 3 ตามคำสั่งของศาล ตนกังวลว่าต่อไปรัฐสภาซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย จะถูกอำนาจอื่นมาสั่งการได้อีก
"ระบบของประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และตุลาการ ต้องแยกอำนาจกันชัดเจน ไม่เช่นนั้นความเป็นประชาธิปไตยจะถูกทำลาย ประชาชนไม่มีที่พึ่ง ดังนั้น โดยส่วนผมซึ่งเคยทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มาถึงรัฐสภา เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง และถ้ารัฐสภาปฏิบัติตามก็จะเป็นบรรทัดฐานที่ไม่เหมาะสม และไม่สมควรที่รัฐสภาต้องปฏิบัติตามต่อไป ซึ่งในอดีตตั้งแต่ปี 2475 รัฐสภาเป็นองค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมายตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ดังนั้น อยากให้ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาได้คลายกังวลว่าไม่มีใครสั่งรัฐสภาได้ และมีความเป็นอิสระที่ต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการลงมติวาระ 3 ซึ่งไม่มีใครสั่งชะลอการลงมติได้ ไม่อย่างนั้นจะเสียหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย"
เมื่อถามถึงกรณีที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ ระบุชัดว่าการยื่นคำร้องเป็นเรื่องของผู้ทราบ ไม่ใช่เรื่องของอัยการสูงสุดเพียงอย่างเดียว นายโภคินกล่าวว่า เวลาตีความรัฐธรรมนูญใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ศาลไทยใช้กฎหมายไทยหมด ไม่ได้ใช้กฎหมายต่างประเทศ แต่นี่เกิดไปอ้างภาษาอังกฤษขึ้น ทั้งที่ภาษาอังกฤษเป็นคำแปลของภาษาไทย ซึ่งอาจจะแปลถูกหรือผิดได้ และแน่ใจหรือว่าคำแปลที่เขาแปลหมายถึงการยื่นได้ 2 ทาง เพราะรัฐธรรมนูญใช้คำว่าให้ไปร้องอัยการสูงสุด เพื่อสอบสวนและยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป คำมันอยู่ในประโยคเดียวกันหมด นักกฎหมายจะตีความอย่างไรก็ได้ แต่ถามว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการให้คนไปยื่นพร้อมกันสองทางใช่หรือไม่ ต้องตอบคำถามนี้ให้ได้
ด้านนายวันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญไทย ในประเทศไทย และนายวสันต์ก็เป็นคนไทย ดังนั้น ต้องใช้รัฐธรรมนูญที่เขียนด้วยภาษาไทย ยกเว้นว่าเรื่องนี้ต้องไปขึ้นศาลต่างประเทศและตุลาการรัฐธรรมนูญเหล่านั้นเขาอ่านภาษาไทยไม่ได้ ตนไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมาอ้างเอาคำแปลของรัฐธรรมนูญที่เป็นภาษาอังกฤษ แล้วมาอ้างกับคนไทย ถ้าไปอ้างกับฝรั่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่น่าจะมีประเด็นนี้มาอ้าง