ศิษย์ออกซ์ฟอร์ด

ข่าวสด 19 มิถุนายน 2555 >>>




เขียนถึง ออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่าอีกครั้ง หลังกล่าวสุนทรพจน์รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ประทับใจผู้คน ด้วยเนื้อหาที่มีความหมายต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านอุดมการณ์และแนวทางปฏิบัติ
ข้อความที่กล่าวนั้นสังเกตได้ว่ามาจากประสบการณ์ตรง จึงไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู คนภายนอกรับรู้ว่า รางวัลนี้ไม่ได้มีคุณค่าต่อนางซู จี เท่านั้น แต่นางซู จี ก็มีคุณค่าต่อรางวัลด้วย
เรื่องน่าสังเกตจากสุนทรพจน์ของนางซู จี ก็คือ แม้จะเป็นถ้อยคำของผู้นำฝ่ายค้าน แต่ไม่มีแม้แต่ประโยคเดียวที่เสียดสี โจมตีรัฐบาลพม่า ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือรัฐบาลพลเรือน
ข้อเรียกร้องถึงการผลักดันสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย หรือกระบวนการปรองดองนั้น ระบุว่าเพื่อประเทศพม่าโดยรวม และโลกทั้งมวล ไม่ได้แบ่งแยกว่ามี "พม่าดี" หรือ "พม่าเลว"
ส่วนภาษาอังกฤษของนางซู จี นั้น ดีเลิศสมกับเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือไม่ได้พูดถึงแต่ตัวเอง หากพูดถึงเพื่อนร่วมอุดมการณ์ นักโทษการเมือง แรงงานพม่าในไทย ผู้อพยพ ชนกลุ่มน้อย ที่อยากให้โลกนึกถึงคนเหล่านี้ให้มากๆ และร่วมมือกันช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้
น่าดีใจแทนพม่าที่มีหัวหน้าฝ่ายค้านแบบนี้ กล่าวคือจิตใจสูงส่งแต่ไม่เหยียบย่ำผู้อื่น ไม่เคียดแค้น แม้แต่ผู้ที่เคยจับตนเองขังไว้ในบ้านนานรวมกว่า 15 ปี กลับหาจุดร่วมที่เป็นปัจจัยปรองดองให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้
หากจะคิดไปว่า นางซู จี เลี่ยงพูดไม่ดีต่อรัฐบาลพม่า เพราะกลัวจะกลับประเทศไม่ได้ ก็คงไม่ใช่
เพราะการต่อสู้ที่ผ่านมานั้นสะท้อนถึงอุดมการณ์และวุฒิภาวะการเป็นผู้นำ แม้จะไม่ได้เป็นผู้นำรัฐบาลก็ตาม ไม่ใช่ว่าใครที่จบออกซ์ฟอร์ดแล้วจะเป็นอย่างนี้ได้