ธนพล บางยี่ขัน: ทุ่มหมดหน้าตักดับเครื่องชนศาล รธน.

โพสท์ทูเดย์ 5 มิถุนายน 2555 >>>




ชักธงรบเปิดฉากตอบโต้กลับศาลรัฐธรรมนูญเต็มสูบ !!!
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับ 5 คำร้องซึ่งยื่นเรื่องให้พิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเข้าข่ายมีผลให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่
พร้อมส่งหนังสือแจ้งไปยังรัฐสภาให้รอดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย จนทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันมาจนถึงเปลาะสุดท้าย ถึงขั้นเตรียมนัดลงมติวาระ 3 วันที่ 5 มิ.ย. ต้องกลายเป็นฝันค้าง
หลังชะงักไปเล็กน้อย “เพื่อไทย” กลับมาส่งสัญญาณลุยต่อ เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อให้เสร็จในวาระ 3 ไม่สนใจคำทัดทานศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า “คำสั่ง”ศาลรัฐธรรมนูญไม่ผูกพันองค์กรอื่น ไม่เหมือน “คำวินิจฉัย” ที่จะผูกพันทั้ง ครม. รัฐสภาและศาล
สัญญาณจาก “เจริญ จรรย์โกมล” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ชัดเจนผ่านการให้สัมภาษณ์ว่า จากการหารือกับฝ่ายกฎหมาย คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผลผูกพันต่อรัฐสภา จึงเตรียมเดินหน้ากระบวนการทางรัฐสภาต่อไป พร้อมหยิบยกเหตุผลตามข้อกฎหมาย ที่หลังจากลงมติในวาระ 2 แล้ว ต้องรอเวลา 15 วัน จึงลงมติในวาระ 3 ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหา
ยิ่งกว่านั้น “เพื่อไทย” ต่อยอดประเด็นนี้ เรียงหน้าออกมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติ พร้อมเดินหน้ารณรงค์ถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กระทำการเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญซะเอง
แม้ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาชี้แจงยืนยันว่า ไม่มีเจตนาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากมีผู้มาร้องขอให้ศาลดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ซึ่งศาลก็ต้องไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงว่าเป็นไปตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่ และย้ำว่าการรับพิจารณาคำร้องดังกล่าวไม่ถือว่าศาลเข้าไปแทรกแซงฝ่ายบริหาร
อีกทั้งหากพ้นจากวาระ 3 ไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถไปดำเนินการใดๆ ได้แล้ว หรือแม้แต่เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างเสร็จแล้วเป็นร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไปวินิจฉัย พร้อมให้เหตุผลว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีการไต่สวนก็เพื่อทำให้ลดความตึงเครียด และความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาล และรัฐสภาลงได้
ทว่าเพื่อไทยยังหยิบยกปมปัญหาในมาตรา 68 ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุในวรรค 2 ว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินการคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว มาขยายผลต่อเนื่อง
เริ่มตั้งแต่ “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มองว่า ศาลรัฐธรรมนูญตีความภาษาไทยแบบพิสดาร เพราะกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ปฏิบัติกันมาจะต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาและเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้ก็ ผู้ที่ร้องนั้นจะไปร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่ต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด
   “เหมือนเป็นการเล่นกลภาษาไทยเพื่อหักล้างหลักการใหญ่ทั้งหมดของรัฐธรรมนูญที่ว่าอำนาจในการร่างและวินิจฉัยรัฐธรรมนูญคือรัฐสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะมาวินิจฉัยได้”
ซ้ำด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่วิดีโอลิงก์ตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญว่า ทันทีทันควันว่าศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐาน ทำให้กติกาบ้านเมืองไม่เหลือ
ที่สำคัญ “เพื่อไทย” ยังเปิดเกมแรง เตรียมยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวออกคำสั่งที่มิชอบตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่เป็นเยี่ยงอย่างต่อบุคคลอื่นๆ อีกในอนาคต
ต้องยอมรับว่ายุทธการดับเครื่องชน เปิดเกมสวนกลับศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของเพื่อไทย ถือเป็นมาตรการตอบโต้ “ตุลาการภิวัฒน์” ที่กำลังจะ “ดับฝัน” ทำให้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่เพื่อไทยผลักดันมาต่อเนื่องต้องชะงัก
ในเมื่อ “เป้าใหญ่” ของเพื่อไทยระลอกนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งมีความพยายามที่จะเข้าไปรื้อองค์การอิสระ ที่ถือเป็น “หอกข้างแคร่” ที่เพื่อไทยไม่อาจไว้วางใจปล่อยให้ขวางหูขวางตาต่อไปในระยะยาว
รวมทั้งเนื้อหาในหมวดหมู่ “นิรโทษกรรม” ที่ต้องการกรุยทางสะสางอุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้กระบวนการล้างผิด ผ่าน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองฯ ไม่ต้องสะดุด จึงต้องเปิดทางวางหลักประกันเป็นลายลักษณ์อักษรในตัวรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น หากต้องถูกกระบวนการขัดขวางให้ยื้อออกไปนานกว่านี้ ย่อมเป็นเรื่องที่เพื่อไทยย่อมมิอาจรอต่อไปได้ เพราะอาจกระทบกับยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวอื่นๆ ที่ปูทางเคลื่อนไหวคู่ขนานมาก่อนหน้านี้ และทำให้ทุกอย่างต้องสะดุดหยุดลง ส่งผลเสียหายในการเคลื่อนไหวโดยรวม
อีกด้านหนึ่งที่เพื่อไทยต้องเลือกเปิดศึกกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า “อำนาจ” ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีแค่การวินิจฉัยชี้ขาดในข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการชี้เป็นชี้ตายอนาคตทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปจนถึงการยุบพรรค ซึ่งมีเรื่องจ่อที่จะรอการพิจารณาหลายเรื่อง
อย่าลืมว่ามาตรการที่เพื่อไทยรวมไปถึงกลุ่มคนเสื้อแดงพยายามปลุกกระแสสองมาตรฐานในช่วงเวลาที่ผ่านมา เป็นยุทธศาสตร์ต่อเนื่อง ที่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกกระทำมาโดยตลอด พร้อมสร้างน้ำหนักเพิ่มความชอบธรรมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
จังหวะนี้จึงถือเป็น “นาทีทอง” ที่จะรุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากนำไปสู่กระบวนการถอดถอนได้ ย่อมสะเทือนไปถึงผลที่อยู่ในคดีทั้งหลายให้ต้องได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรืออาจลุกลามจนเกิดสุญญากาศทางการเมืองที่จะยิ่งเข้าทางเพื่อไทย และเครือข่ายเสื้อแดงมากยิ่งขึ้น