การเมืองไทยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา บรรยากาศความขัดแย้งทั้งภายในและนอกสภายังวนเวียนอยู่กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอร่างกฎหมายปรองดองแห่งชาติ
เริ่มจากการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 2 ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาใช้เวลาการอภิปรายยาวนานถึง 15 วัน 15 คืน ก่อนทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยมติสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก ประธานรัฐสภาจึงนัดประชุมลงมติ วาระ 3 ในวันที่ 5 มิ.ย.
ระหว่างนั้นมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่เป็นสมาชิกรัฐสภา และไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวทำได้หรือไม่
จากนั้นการเมืองก็กระโดดเข้าสู่โหมดร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง 4 ฉบับ เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ 1 ฉบับ และเสนอโดย ส.ส.เพื่อไทย 3 ฉบับ
แต่เพียงก้าวเข้าสู่วาระแรก การประชุมสภาผู้แทนฯไทยก็เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ส.ส.ฝ่ายค้าน กลุ่มหนึ่งบุกขึ้นไปยื้อยุดฉุดกระชากประธานสภาถึงบนบัลลังก์ ลากเก้าอี้ไปโยนทิ้ง ขว้างปาแฟ้มเอกสารปลิวว่อนห้องประชุม ยังไม่นับเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันในหมู่ ส.ส. จนนำไปสู่การยื่นถอดถอน ยื่นตรวจสอบจริยธรรม บางคนได้ของแถมเป็นคดีอาญาข้อหาทำร้ายร่างกายติดตัวคนละคดีสองคดี
ขณะที่บรรยากาศการชุมนุมนอกสภา นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเสื้อหลากสี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองฝ่ายค้านได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมสภา ขัดขวางไม่ให้ส.ส.รัฐบาล เข้าประชุมได้ จนในที่สุดประธานสภาผู้แทนฯ ต้องสั่งเลื่อนการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ออกไปไม่มีกำหนด
ก่อนจะมีกระแสข่าวตามมาว่ารัฐบาลตัดสินใจ "พักยาว" ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง โดยสภาจะยังไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ซึ่งนับว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ของแกนนำฝ่ายค้าน แต่ก็ต้องแลกด้วยชื่อเสียงเกียรติภูมิของพรรคเก่าแก่ 66 ปีที่ตกต่ำอย่างน่าใจหาย
ภาวะฝุ่นตลบจากร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ยังไม่ทันจาง กรณีมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านกรณีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คาไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็กลับมาปะทุอีกรอบ เมื่อมติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 1 รับคำร้องดังกล่าวไว้จำนวน 5 คำร้อง
พร้อมกันนั้นยังมีคำสั่งผ่านไปยังเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไว้ก่อน เพื่อรอคำวินิจฉัยของศาลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามที่มีผู้ยื่นร้องไว้หรือไม่
ต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ก็เฉกเช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง คือ มีผู้เห็นต่างเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน
ฝ่ายหนึ่งประกอบด้วย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ส.ส.ประชาธิปัตย์ ส.ว. และนักวิชาการจำนวนหนึ่ง
ฝ่ายหนึ่งคือรัฐบาล พรรคเพื่อไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111 กลุ่มคนเสื้อแดง ส.ส.-ส.ว. ส่วนใหญ่ในรัฐสภา รวมถึงที่ปรึกษากฎหมายรัฐสภา นักนิติศาสตร์ นักวิชาการ อาจารย์กฎหมายมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ที่เห็นว่าไม่ว่าจะโดยหลักการข้อกฎหมาย หลักอำนาจอธิปไตยที่แบ่งเป็น 3 ฝ่าย หรือขั้นตอนการรับคำร้องของคณะตุลาการฯ ก็ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
พูดง่ายๆ คือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง ด้วยการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งที่กรณีนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้เองโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด
อีกทั้งคำสั่งให้ชะลอการลงมติวาระ 3 ไม่มีผลผูกพันต่อรัฐสภา เนื่องจากไม่ใช่คำวินิจฉัย เป็นเพียงคำสั่งที่ขาดกฎหมายรองรับ
ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องศักดิ์ศรีรัฐสภา และดำรงไว้ซึ่งหลักอำนาจอธิปไตย สรุปความเห็นของฝ่ายนี้เห็นควรว่าประธานรัฐสภาควรเดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อไป
เพราะไม่เพียงนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะระบุว่า คำสั่งศาลบังคับใช้กับรัฐสภา ที่ผ่านมาไม่เคยมีเกิดขึ้นในประเทศไทย ในโลกนี้ก็ไม่เคยมี
แม้แต่อัยการสูงสุดก็วินิจฉัยให้ทั้ง 5 คำร้องตกไป ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากพยายามหาทางออกจากข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ แต่ยิ่งชี้แจงก็ยิ่งเหมือนเป็นการผูกปมขัดแย้งขึ้นมาใหม่
โดยเฉพาะการที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ อ้างถึงมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญฉบับภาษาอังกฤษ ว่าได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องได้ โดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดเพียงช่องทางเดียว กลายเป็นประเด็นเฮฮา นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงกว่าเดิม
ทั้งยังกระตุกสังคมให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีต เมื่อครั้งศาลรัฐธรรมนูญเปิดพจนานุกรม เพื่อหาความหมายของคำว่า "ลูกจ้าง" ตัดสินให้นายสมัคร สุนทรเวช พ้นจากนายกฯ ด้วยข้อหาทำกับข้าวออกรายการทีวี
อย่างไรก็ตามเมื่อความขัดแย้งเคลื่อนตัวมาถึงจุดนี้ ไม่ว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะตัดสินใจเดินหน้าเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 หรือไม่
ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญก็คงกอบกู้สิ่งที่สูญเสียไปคืนมาไม่ได้
ทิ้งไว้แต่ความเคลือบแคลงสงสัยในใจประชาชนว่า การที่บางองค์กร บางกลุ่ม บางพรรคการเมือง ทุ่มเทสกัดกั้นไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นผลสำเร็จนั้น เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายและมีเป้าหมายอันใหญ่โตอะไรหรือไม่ ถึงขั้นลุยฝ่าใช้ไม้ตาย ระเบิดพลีชีพ