นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ดูเหมือนว่าความสนใจของผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลง
เปลี่ยนจากความสนใจในผลงาน "การบริหารงาน" ของรัฐบาล กลับกลายเป็นความสนใจปัญหา "การเมือง"
ทั้งการเมืองในรัฐสภา และการเมืองนอกรัฐสภา !
เมื่อความสนใจเปลี่ยนจาก "การบริหาร" ซึ่งเป็นจุดแข็งของรัฐบาล กลายเป็นสนใจปัญหา "การเมือง" ที่มีความขัดแย้งกันอยู่ในขณะนี้ ทำให้รัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทยที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ อย่าลืมว่าปูมหลังการเมืองไทยในขณะนี้ มีความขัดแย้งระหว่างคน 2 กลุ่มเป็นแรงผลักดัน และท่ามกลางความขัดแย้งดังกล่าวทำให้รัฐบาลแต่ละชุดถูกกดดันให้สร้างความปรองดองแก่ประเทศให้ได้
รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย !
ดังนั้น การที่รัฐบาลชุดปัจจุบันเดินเกมรุกด้วยการใช้ "การบริหาร" นำ "การเมือง" คือการใช้ "การทำงาน" แทน "ความขัดแย้ง" นั้น จึงได้รับการยอมรับขึ้นเรื่อยๆ
แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันร่างพระราชบัญญัติปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. ... ยุทธศาสตร์ "การบริหาร" นำ "การเมือง" กลับตาลปัตรกลายเป็น "การเมือง" นำ "การบริหาร" จึงทำให้ความขัดแย้งต่างๆ ปะทุขึ้นมาอย่างรวดเร็วและชัดเจน
นอกจากนี้ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น มิได้เป็นความขัดแย้งระหว่าง "เสื้อเหลือง" กับ "เสื้อแดง" เท่านั้น หากแต่ยังเป็นความขัดแย้งกันในพรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทยด้วย
ทั้งนี้ เพราะภายในพรรคเพื่อไทยมีความหลากหลาย มีสายตรง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีทีมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร หรือวิปรัฐบาล มีกลุ่มแกนนำภายในพรรค และมีกลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงที่เข้ามาร่วมอยู่กับพรรคเพื่อไทยด้วย
ดังนั้น เมื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มการเมืองต่างๆ จึงเคลื่อนไหว
แรงเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง อันมีผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้วย
ยิ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3 ออกไปก่อน เพื่อรอการวินิจฉัยคำร้องว่าการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 291 นั้น เป็นการ "ล้มล้าง" การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียนโดยตรง แทนที่จะรับผ่านอัยการสูงสุดตามข้อความในมาตรา 68 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ทำให้เกิดข้อแคลงใจสงสัย เป็นข้อสงสัยที่มีปมความขัดแย้งทาง "การเมือง" เป็นแรงหนุน จึงไม่แปลกอีกเช่นกันที่เมื่อเกิดศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งห้ามรัฐสภาโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 กลุ่มคนเสื้อแดงออกมารวมตัวกันอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมืองที่ต่อเนื่องมาจากแรงกระเพื่อมเรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง"
แรงกระเพื่อมดังกล่าวมิได้สร้างประโยชน์แก่รัฐบาล ในทางตรงข้ามอาจกล่าวได้ว่าแรงกระเพื่อมทางการเมืองกลับบดบังการทำงานของรัฐบาลไปเสีย
แรงกระเพื่อมทางการเมือง ทำให้ผลการประชุมเวิลด์อีโคโนมิก ฟอรั่ม ภาคเอเชียตะวันออก ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ถูกกลบลบหายไปจากข่าวสารการบ้านการเมือง
แรงกระเพื่อมทางการเมือง ทำให้ผลการปฏิบัติงานของรัฐบาลทั้งการทำตามนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้ และการสะสางปัญหาเช่นการฟื้นฟูเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศไทยหลังเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้วถูกลืมเลือน
นอกจากนี้ ยังมีข้อตกลงอีกหลายฉบับที่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 รัฐธรรมนูญ ต้องรอค้างเติ่ง เพราะมีความขัดแย้งเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่เบรกลงมติในวาระ 3 เข้ามาแทนที่
แรงกระเพื่อมทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ได้ส่งผลต่อผลงานของรัฐบาล
นอกจากนี้ แรงกระเพื่อมทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการบริหารงานทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยว่ายังมีจุดโหว่ที่ต้องปรับปรุง เพราะขณะที่ "การเมือง" มีความขัดแย้ง แต่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลกลับไม่สามารถชะลอความขัดแย้งได้
ดังที่ปรากฏว่า ขณะที่ปัญหาการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... ยังอยู่ระหว่างการแก้ไข ปัญหาการขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เกิดขึ้น และมีทีท่าว่าอาจจะกระทบถึงพรรคเพื่อไทยหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 68
ขณะที่ปัญหา "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" ยังไม่แก้ ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญประดังเข้ามา
ข่าวคราวการปรับคณะรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลก็ปะทุขึ้นอีก
การปรับคณะรัฐมนตรีคือการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีในรัฐบาล การปรับคณะรัฐมนตรีทุกครั้งย่อมมีแรงกระเพื่อมทางการเมือง เท่ากับว่า การปรับคณะรัฐมนตรีจะเป็นมรสุมการเมืองลูกที่สามที่พร้อมซัดเข้าใส่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล
น่าสังเกตว่า จากมรสุม 3 ลูก คือ "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปรับคณะรัฐมนตรี มีเพียงปัญหาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่เกิดขึ้นจากฝีมือบุคคลที่ไม่ใช่คนของพรรคเพื่อไทยและคนของรัฐบาล
ส่วน "ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง" และการปรับคณะรัฐมนตรีนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลทั้งสิ้น
คำถามก็คือว่า แล้วทำไมรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงต้องสร้างมรสุมการเมืองเข้ามาซัดใส่ตัวเอง
หรือเป็นเพราะการบริหารการเมืองของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลกำลังมีปัญหา ?