ประชาไท 6 มิถุนายน 2555 >>>
"วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ชี้กรณีศาลสั่งสภาระงับการพิจารณาแก้ รธน. หลังมีผู้ยื่นศาลโดยตรงโดยไม่ผ่านอัยการ ไม่ใช่เรื่องศาลตีความกว้าง แต่เป็น "ตีความผิด" ยันรัฐสภามี "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ" ส่วนคำนูณหวั่นถ้าสภาผ่านวาระ 3 การยกร่าง รธน. จะหลุดไปสู่ สสร. แล้วไม่กลับสภาอีก ถ้าศาล รธน. ไม่มีอำนาจปัดเป่า จะกลายเป็นการยกอำนาจให้พรรคการเมือง โดยไม่สามารถมีองค์กรอะไรมาถ่วงดุลได้
เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย. 55) รายการ "ตอบโจทย์" ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ดำเนินรายการโดยภิญโญ ไตรสุริยะธรรมา มีการเชิญ ผศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ระบบสรรหา ร่วมอภิปรายกรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างมาตรา 68 ตามรัฐธรรมนูญ 2550 (คลิกที่นี่เพื่อชมคลิปการอภิปรายระหว่างวรเจตน์ กับคำนูณ)
โดยนายภิญโญ เริ่มถามนายวรเจตน์ว่า ตกลงการเสนอแก้ไขกฎหมาย รธน. ม.291 เป็นการกระทำที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขหรือไม่
โดยนายวรเจตน์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ ที่ทำมา 2 วาระ เป็นแก้ไข ม.291 เพื่อเปิดทางนำไปสู่การจัดทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คล้ายๆ กับที่ทำมาตอนแก้รัฐธรรมนูญเมื่อปี 2534 และก่อให้เกิด สสร. และรัฐธรรมนูญปี 2540 สภาพก็คือเป็นการดำเนินการไปตามกระบวนการขั้นตอน ในส่วนที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291
ทีนี้มีคนไปร้อง ศาลรัฐธรรมนูญก็เข้ามาออกคำสั่งระงับ หรือคุ้มครองช่วยคราว คือสั่งไม่ให้สภาลงมติในวาระ 3 ให้รอการวินิจฉัย จึงมีข้อถกเถียงในสังคมว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจไหม ที่จะสั่งได้ตามมาตรา 68
มาตรา 68 อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ส่วนการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ทีนี้มาตรา 68 กำหนดว่าถ้าใครใช้เสรีภาพ ใช้สิทธิในการล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ก็ให้เสนอไปที่อัยการสูงสุด ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการ
เพราะฉะนั้น องค์ประกอบของมาตรา 68 มีอยู่ 2 ส่วน อันแรกต้องมีการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ล้มล้างการปกครอง หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิธีการที่ไม่เป็นตามรัฐธรรมนูญ สอง คนที่รู้การกระทำการ ส่งเรื่องไปที่อัยการ อัยการจะตรวจสอบว่ามีมูลหรือไม่มีมูล พอมีมูลเขาจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วศาลก็จะวินิจฉัยว่าจะระงับ หรือสั่งห้ามกระทำ
ทีนี้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรรคการเมือง แต่เป็นการกระทำของรัฐสภา ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐ อีกอย่างการเสนอเรื่อง คนฟ้องไปร้องตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ คือไม่ได้ผ่านอัยการ เพราะฉะนั้นการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณา ผมจึงมีความเห็นว่าไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ คือผิดในสองลักษณะ คือหนึ่ง ผิดในแง่ที่ว่า มันไม่ใช่เรื่องใช้สิทธิเสรีภาพ เพราะเป็นเรื่องสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ อีกอันหนึ่ง ผิดที่ว่าคนยื่นก็เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่อัยการสูงสุด นอกจากนี้ศาลก็ไปอนุโลมเอาอำนาจที่ตัวเองไม่มี คือไปเอากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไประงับการกระทำของรัฐสภา กลายเป็นว่าเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นองค์กรซึ่งไปหยุด หรือไปสั่งห้ามการดำเนินงานขององค์กรอื่น พูดง่ายๆ ในความเห็นผม คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่ให้องค์กรอื่นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเขามีหน้าที่ต้องปฏิบัติ
ส่วนนายคำนูญ กล่าวว่า อันที่จริง ก็เคยคิดว่ามันจะมีทางใดที่จะทำให้มีองค์กรใด องค์กรหนึ่งวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ต้องเข้าใจว่า แก้รัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แก้เป็นรายมาตรา อาจจะแก้เป็น 100 มาตราก็ได้ แต่ทีนี้การแก้มาตราเดียว แต่มีผลทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิก และมีองค์กรทำหน้าที่เขียนรัฐธรรมนูญใหม่เรียกว่า สสร. อันนี้ ต้องยอมรับว่ามีผู้สงสัยยาวนานมาพอสมควร ตั้งแต่เริ่มต้นว่าทำได้หรือทำไม่ได้ประการใด
อาจจะมีการพูดถึงว่าสมัยปี 2539 ทำได้ มี สสร. 1 ทำ รัฐธรรมนูญ 2540 หรือย้อนไปถึง รัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งเกิดจากรัฐธรรมนูญ 2475 สรุปคือเคยมีการทำมาแล้ว 2 ครั้ง แต่รัฐธรรมนูญ 2534 หรือ 2475 ไม่มีไม่มีเนื้อหาทำนองมาตรา 68
เพราะเวลารัฐสภาลงมติวาระ 3 แล้ว กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มันหลุดลอยจากสภาเลย ไปสู่องค์กรของ สสร. แล้วไม่กลับมาอีก ก็คือไปลงประชามติเลย ประเด็นนี้ต้องยอมรับว่าเป็นที่สงสัยกันมาก แล้วเนื่องจากว่ารัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนให้อำนาจองค์กรใดองค์กรหนึ่งไว้โดยตรงว่าจะวินิจฉัยได้หรือไม่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้มันถูกต้องหรือไม่ ในขณะที่แม้กระทั่งร่าง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ร่าง พรบ.ทั่วไป ถ้า สว. สส.สงสัย ก็ยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ แม้กระทั่งพระราชกำหนดก็ส่งให้ศาลตรวจสอบได้ 2 เงื่อน ผมก็เคยทำและศาลไม่เห็นด้วย
เพราะฉะนั้นเลยสงสัยว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญ มีลักษณะที่เป็นการโอนอำนาจรัฐสภาไปให้องค์กรอื่น แล้วหลุดลอยไปเลย จะไปเขียนอย่างไรก็ได้โดยไม่ได้กำหนดกรอบเอาไว้ เราสงสัยว่ามันขัด มันจะไปสู่องค์กรที่มีหน้าที่ชี้ขาดได้อย่างไร ประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงกัน มาตรา 68 ก็มีคนพูด ด้วยความเคารพด้วยความสัตย์จริง ทีแรกผมก็อ่านว่ามันต้องไปอัยการสูงสุดก่อน คำว่า "และ" นี่ ถ้าอัยการสูงสุดเห็นว่ามีมูลก็ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เผอิญความเห็นของผมก็เป็นผม ของวรเจตน์ก็เป็นของอาจารย์วรเจตน์ ความเห็นขัดกัน ไม่สามารถบอกได้ว่าใครถูกใครผิด องค์กรผู้มีหน้าที่ชี้ขาดคือศาลรัฐธรรมนูญ แต่คราวนี้ศาลรัฐธรรมนูญท่านแปลความมาตรา 68 อย่างกว้าง อาจเรียกว่ากว้างมากพอสมควร คือท่านมองว่าถ้าเผื่อศาลไม่มีอำนาจรับเสียเลย ก็จะผิดเจตนารมณ์ของมาตรา 68 ที่ไม่สามารถจะป้องกันหรือปัดเป่าการกระทำข้อความที่เขียนไว้ร้ายแรงตามมาตรา 68 ท่านจึงรับ แต่คำว่ารับของท่าน ถ้าดูคำชี้แจงของเลขาศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือประธานศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์จริงๆ ก็ดี ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อถึงเวลาที่ผู้ยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไปยื่นชี้แจงแล้ว ผู้คัดค้านทั้ง 5 สำนวนไปชี้แจงแล้ว ท่านต้องวินิจฉัยว่ามันขัดรัฐธรรมนูญ มันอาจจะไม่ขัดก็ได้
ทีนี้เรากำลังมาสู่ประเด็นที่ว่ารัฐสภา จะต้องเชื่อตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมเห็นว่าประเด็นนี้มันก็จะมีมุมองที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งผมว่านักนิติศาสตร์ ทั้งอาจารย์วรเจตน์ ทั้งใครต่อใครก็อาจคิดต่างออกไป ที่ผมสนใจ ก็คือถ้าเผื่อรัฐสภาเดินหน้า นัดลงมติรัฐธรรมนูญวาระ 3 แล้วทำสำเร็จ อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศนี้ แล้วมันจะเป็นการทำร้ายหรือซ้ำเติมสถานการณ์ของประเทศนี้หรือไม่ ประธานรัฐสภาควรจะตัดสินใจอย่างไร ผมว่าประเด็นนี้สำคัฐ
นายภิญโญ ถามว่า ขอกลับมาที่ มาตรา 68 ว่าตกลงคำว่า "และ" ในกฎหมาย หมายความว่า คนธรรมดาไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้เลย หรือต้องผ่านอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นายวรเจตน์ ตอบว่า บุคคลธรรมดายื่นไม่ได้ ผมตอบเรื่องนี้ด้วยความมั่นใจอย่างเป็นที่สุด เพราะว่าในเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เขียนเอาไว้ว่า เรื่องนี้คนที่จะยื่นคืออัยการสูงสุด ไม่ได้เขียนว่าอัยการสูงสุดหรือบุคคลทั่วไป อีกอย่างถ้ารัฐธรรมนูญให้สิทธิบุคคลทั่วไปจะเขียนไว้ชัดเจน เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีอำนาจมาก มาตรา 68 เป็นการถ่วงดุลกัน ไม่อย่างนั้นก็ยื่นกันเปรอะหมด ใครสงสัยอะไรก็ไปยื่น ศาลจะรับไว้ทุกเรื่อง แล้วออกมาตัดสินก็วุ่นวายหมด
นายภิญโญ ถามว่า ศาลมีสิทธิตีความอย่างกว้างหรือเปล่า นายวรเจตน์ ตอบว่า ด้วยความเคารพ ผมคิดว่านี่ตีความผิดไม่ได้ตีความอย่างกว้าง แล้วจริงๆ เวลาตีความ ถ้อยคำมันก็ค่อนข้างชัดอยู่แล้วว่าอัยการรับเรื่องแล้วตรวจสอบว่ามีมูล แล้วส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งที่ตัดสินใจคดีนี้ ตอนที่เป็น สสร. ตอนที่ประชุมกันในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็เข้าใจตามนี้ เข้าใจตรงกันหมดว่าเป็นเรื่องอัยการสูงสุด ดูทางภาษาให้ใครๆ อ่านก็เข้าใจว่า ผ่านอัยการ และไปที่ศาล
เพราะฉะนั้นเป็นไปไม่ได้ บอกตรงๆ นี่ไม่ใช่เรื่องการขยาย แต่เป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความผิดพลาดชัดเจน อีกอย่างตอนนี้เราไปมุ่งเน้นที่อัยการ ผมเรียนว่าเรื่องนี้แม้ไปถึงอัยการ อัยการก็จะส่งไปไม่ได้เหมือนกัน เพราะไม่ใช่เรื่องสิทธิเสรีภาพ หมวดนี้อยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ความมุ่งหมาย ซึ่งเป็นเอกชน ไปทำอะไรก็ตาม ล้มล้างการปกครอง สั่งให้มีการระงับแต่การกระทำของรัฐสภา ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบ ตรวจสอบอย่างไร มาตรา 68 ที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามา เข้ามาไม่ได้ ผิดหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้
นายภิญโญถามต่อว่า มีสิทธิหรือเปล่าที่รัฐสภาจะไปแก้รัฐธรรมนูญ แล้วโยนอำนาจให้สภาร่างรัฐธรรมนูญเลย
นายวรเจตน์ ตอบว่า ในทางกฎหมายอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจคนละลักษณะจากอำนาจตรากฎหมาย อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญเวลาทำขึ้น ตัวรัฐธรรมนูญจะก่อตั้งอำนาจให้รัฐสภาในการออกกฎหมายพระราชบัญญัติ ก่อตั้งอำนาจให้ฝ่ายบริหารในการบริหารราชการแผ่นดิน ก่อตั้งอำนาจให้ศาลในการตัดสินคดี
ทีนี้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้แก้ไขตัวมันเองได้ อำนาจชนิดนี้ทางวิชาการเรียกว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญให้เอาไว้กับองค์กรที่มีอำนาจแก้ไข เพราะฉะนั้นถามว่ากรณีนี้รัฐสภามีอำนาจไหม คำตอบคือ ถ้าเขาทำตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญ หมายความว่า ตราบเท่าที่การแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หรือไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ รัฐสภามีอำนาจทำได้
ประเด็นก็คือแล้วระบบการตรวจสอบเป็นอย่างไร คำตอบคือในระบบของเรา ศาลรัฐธรรมนูญในบ้านเราเป็นศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจที่กำหนดไว้เป็นเรื่องๆ เราไม่ได้มีศาลรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจเป็นการทั่วไป เนื่องจากจะกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญจะใหญ่กว่าองค์กรอื่นทั้งหมด และศาลรัฐธรรมนูญเป็นเพียงองค์กรที่รับอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ
ที่เราพูดถึงรัฐสภาตอนนี้ ที่วุฒิสภาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ต้องเข้าใจว่ารัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่องค์กรนิติบัญญัติที่จะเท่าๆ กับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นองค์กรซึ่งทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งสูงกว่า เพราะฉะนั้นทำไมถึงบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญถึงสามารถตรวจสอบพระราชบัญญัติได้ ตรวจสอบกฎหมายอื่นได้ เป็นเพราะว่ากฎหมายเหล่านั้นตราขึ้นโดยอำนาจนิติบัญญัติ แล้วรัฐธรรมนูญให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญชัดแจ้งว่าถ้าผ่านสภาไปแล้ว 3 วาระ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า มีคนสงสัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ อย่างนี้ให้อำนาจศาลเข้ามาตรวจสอบ แต่กรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้ เพราะว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญสูงกว่าอำนาจตุลาการ จึงเป็นเรื่องที่ให้รัฐสภาตัดสินใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เว้นไว้แต่เรื่องรูปของรัฐ และรูปแบบการปกครอง ที่ถ้าเกิดจะทำจะกลายเป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย
ด้านนายคำนูณ อภิปรายต่อว่า ในทางทฤษฎีมันคงเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเวลาเราจะพูดเราจะพูดถึงทฤษฎี พูดถึงตัวบทรัฐธรรมนูญ โดยละเลยสถานการณ์ปัจจุบันมันจะเป็นไปได้ยาก ในขณะนี้เราคงได้ยินคำว่า "เผด็จการรัฐสภา" ในที่นี้ไม่ได้ไม่ได้จงใจหมายถึงเฉพาะรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่จงใจหมายถึงรัฐบาลทุกรัฐบาล เป็นแนวคิดที่นักนิติศาสตร์มองว่าการที่ประเทศไทยมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บังคับให้ผู้ที่สมัครผู้แทนต้องสังกัดพรรค ปฏิบัติตามมติพรรค มีวินัยพรรค ทำให้กลายเป็นว่า เสียงข้างมากของอำนาจนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกับรัฐบาลหรืออำนาจบริหาร
เพราะฉะนั้นอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจบริหารถ้าร่วมมือกันแล้วก็จะใหญ่เหนืออำนาจทั้งปวง ก็เหมือนเรากำลังพูดว่า "เราปฏิเสธการรัฐประหาร" ใช่ ไม่มีใครยอมรับ แน่นอน แต่ว่าในอีกด้านหนึ่ง เราก็ต้องพูดถึงการปฏิรูปประเทศโดยรวมด้วย ที่ไม่ใช่ว่าถ้าเราปฏิเสธอำนาจการรัฐประหาร เราก็จะกลายเป็นยกอำนาจให้กับพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ภายในกรอบอย่างนี้ และทำอะไรโดยที่ไม่สามารถมีองค์กรอะไรมาถ่วงดุลได้ นี่เป็นประเด็นรากฐานที่ถกเถียงมาอยู่ก่อน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องพูดรากฐานปัญหาด้วย และขณะนี้มันเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้นมาว่า เสียงข้างมากของอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร แล้วการกระทำทุกอย่างในนามของการทำให้เป็นประชาธิปไตยขึ้น ในนามของการล้างผลของการรัฐประหาร อะไรต่อมิอะไร ผมไม่ได้พูดถึงนิติราษฎร์นะ ผมพูดถึงโดยรวม ว่ามันเป็นประโยชน์ต่อคุณทักษิณ ชินวัตร ในที่สุดก็ลงมาประเด็นนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 มันรองรับการกระทำของคณะรัฐประหาร และองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็ไปรองรับความชอบธรรมให้องค์กรที่ตรวจสอบคุณทักษิณด้วย
ในเมื่อมันมีความไม่ไว้วางใจของสังคมในขณะนี้ ผมยังมองว่าถ้าเผื่อการแก้รัฐธรรมนูญใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ 2550 ตามมาตรา 291 ถ้าทำเข้ามาแล้วเอาให้เห็นชัดๆ เลยว่าแก้กี่ประเด็น แก้กี่มาตรา เอาแบบนิติราษฎร์ก็ได้ จะทำให้ทุกคนเห็นว่าแก้ยังไง แต่ในขณะนี้ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นว่าจะแก้อย่างไร เพียงแต่ว่าในกระบวนการได้มาซึ่ง สสร. และการพิจารณาร่าง ม.291 ขณะนี้มันก็มีความระหกระเหิน ฉายแววให้เห็นถึงความเร่งรีบ ฉายแววให้เห็นถึงการที่คณะกรรมาธิการไม่ฟังเสียงที่คัดค้านเข้ามา และทำให้มองเห็นว่า พอออกไปแบบนี้คนที่จะเข้ามาเป็น สสร. ทั้งประเภท 1 และประเภท 2 รวมๆ กันแล้ว 70% อย่างน้อย หรือ 80% จะได้คนที่มีความเห็นตรงกับรัฐบาล ตรงกับพรรคเพื่อไทย ตรงกับทักษิณ ชินวัตร และตรงกับเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฉะนั้น ผมเห็นว่าถ้าจะพูดให้ทะลุกันจริงๆ ต้องพูดประเด็นนี้ด้วย และการที่จะหาทางออกให้ประเทศพ้นวิกฤต ผมว่าต้องคุยกันก่อน ก่อนดำเนินการเป็นส่วนๆ ทุกวันนี้เราดำเนินการเป็นส่วนๆ เรากำลังจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เรากำลังออกกฎหมายปรองดอง เดินไปส่วนไหนมันติดขัดปัญหาหมด เพราะเราไม่เห็นภาพรวมว่าที่จะเอาคนที่มีความขัดแย้ง 5-6 ปีมาเลิกรากัน แล้วเดินหน้าประเทศไทยไปใหม่ อะไรที่เรารับกันได้ อะไรที่เรารับกันไม่ได้ ทำในส่วนที่เรารับกันก่อนได้ไหม