ทีม กม. สภายันคำสั่งศาล รธน. ไม่มีผลผูกพันรัฐสภา ไม่เข้าข่ายเป็นคำวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 216

มติชน 6 มิถุนายน 2555 >>>


เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ห้องคณะกรรมาธิการ 4 อาคารัฐสภา 1 คณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของประธานรัฐสภา นำโดยนายพิทูร พุ่มหิรัญ  เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือที่ ศร.0006/440 เรื่องแจ้งคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้แจ้งต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ชะลอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ว่า ตนในฐานะเลขาธิการรัฐสภาได้นำความกราบเรียนต่อประธานรัฐสภาให้ทราบแล้ว พร้อมกับเสนอความเห็นของคณะกรรมการประสานงานเสนอไปด้วย 6 ข้อ ดังนี้
1. คณะกรรมการได้พิจารณาและเห็นว่าตามมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญกำหนดว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา ครม. และศาล จึงต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้โดยชัดแจ้งในรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นผลให้การที่รัฐสภาจะผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือคำวินิจฉัยใดขององค์กรใดจะต้องมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งให้ผูกพันหรือต้องปฏิบัติตาม
2. ตามมาตรา 216 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา โดยคำวินิจฉัยนั้นต้องทำโดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งผู้เป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในคำวินิจฉัยในส่วนของตน และประกาศในราชกิจจานุเบกษา คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้ปรากฏว่ามีลักษณะตามที่มาตรา 216 กำหนดไว้ จึงไม่เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อันมีผลผูกพันรัฐสภา
3. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้แบบหนังสือเรียกเอกสาร หลักฐาน บุคคล โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 วรรคหนึ่ง และ ป.วิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2555 ข้อ 6 อันเป็นการใช้อำนาจกำหนดวิธีการคุ้มครองชั่วคราว แต่รัฐสภามิใช่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ ราชการส่วนท้องถิ่น อันอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ดังนั้น รัฐสภาจึงไม่ผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว
4. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 กำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาต้องเป็นไปตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าสมาชิกรัฐสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนร่วมของปวงชนชาวไทย
5. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการออกคำสั่งต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้แจ้งประธานรัฐสภาให้รอดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ไม่ใช่เป็นการออกคำสั่งต่อประธานรัฐสภาหรือรัฐสภาและ
6. การดำเนินการโดยประการใดก็ตามของประธานรัฐสภาและรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวนี้ อาจส่งผลต่อบรรทัดฐานการปฏิบัติหน้าที่ในอนาคตของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งคณะกรรมการประสานงานฯได้นำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อประธานรัฐสภาให้ทราบเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยใช้ดุลพินิจต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า เท่ากับว่าการพิจารณาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 สามารถดำเนินการได้ นายพิทูรกล่าวว่า เป็นความเห็นของคณะกรรมการเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของประธานรัฐสภา ทั้งนี้ ยังเป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภาที่จะใช้ดุลพินิจอยู่
เมื่อถามว่า ขอบเขตของคณะกรรมการชุดนี้มองในเชิงนิติศาสตร์อย่างเดียวหรือมองครอบคลุมในเชิงรัฐศาสตร์และผลกระทบต่อบ้านเมืองด้วย นายพิทูรกล่าวว่า กรรมการชุดนี้ไม่ได้เพิ่งตั้งขึ้นมีมาตั้งแต่สมัยที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานรัฐสภา เพราะฉะนั้นทุกเรื่องที่คิดว่าจะมีปัญหาเราก็จะมาหารือในกรรมการชุดนี้เพื่อดำเนินการก่อนที่จะนำความกราบเรียนประธานรัฐสภาว่าเรามีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไร ทั้งนี้ โดยหลักการคณะกรรมการชุดนี้พิจารณาแต่หลักของกฎหมาย โดยเป็นตัวแทนมาจากฝ่ายกฎหมายของทั้ง 2 ส่วนราชการ
เมื่อถามว่า ได้มองไปถึงการใช้อำนาจตาม มาตรา 68 ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิทูรกล่าวว่า ตามมาตรา 68 ยังมีประเด็นที่โต้แย้งกันอยู่แต่เราไม่ได้พิจารณาตรงนั้น พิจารณาเฉพาะศาลให้เราดำเนินการอะไรหรือไม่ดำเนินการอะไร และเรามีผลผูกพันหรือความคิดเห็นต่อคำสั่งนั้นอย่างไร ก่อนหน้านั้นเราไม่พิจารณาว่าเป็นกระบวนการที่ชอบหรือไม่ชอบอย่างไร เพราะถือว่าศาลท่านสั่งแล้วก็คงจะชอบ
เมื่อถามว่า หากมีการลงมติวาระ 3 ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร นายพิทูรกล่าวว่า ก็เข้ากระบวนการต่อไป
เมื่อถามว่า จะมีโทษอะไรที่จะเป็นละเมิดศาลหรือไม่ นายพิทูรกล่าวว่า ความคิดเห็นเราเป็นความคิดเห็นโดยสุจริต เราไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด มีข้อกฎหมายที่คิดว่าท่านผู้ใช้อำนาจวินิจฉัยควรต้องรู้อย่างไร เราก็นำความกราบเรียนไปในฐานะที่เราเป็นฝ่ายกฎหมายของสภา ส่วนท่านใช้ดุลพินิจอย่างไรก็เป็นอำนาจหน้าที่ของท่าน ดังนั้น ความผูกพันก็ต้องแบ่งส่วนกันไป งานของตนคือการเสนอความเห็น ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเราไม่ทราบแต่เราคิดเห็นโดยสุจริตและไม่มีอาณัติอะไรทั้งสิ้น
เมื่อถามว่า หากการพิจารณาวาระ 3 ผ่านพ้นไปจะมีผลอะไรเกิดขึ้นตามมาหรือไม่ นายพิทูรกล่าวว่า ถ้าเชื่อในสิ่งทำเราเสนอความคิดเห็นอะไรไปก็น่าจะมีความมั่นใจ
เมื่อถามว่า มีการตีความในเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่ ว่าการเดินหน้าจะเป็นการขัดคำสั่งศาลแต่ถ้าเกิดไม่เดินหน้าก็จะขัดรัฐธรรมนูญ นายพิทูรกล่าวว่า เป็นความหนักใจของประธานรัฐสภาท่านอยู่ตรงกลางไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร ท่านจึงพยายามหาความเห็นต่างๆ ในหลายๆ ด้านแต่สุดท้ายท่านจะสั่งอย่างไรก็ต้องรอฟัง
เมื่อถามว่า หากดุลพินิจของประธานรัฐสภามีผลต่อบรรยากาศการเมืองข้างนอก คณะกรรมการจะรับผิดชอบอย่างไร นายพิทูรกล่าวว่า ยืนยัน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าคณะกรรมการก็รักชาติบ้านเมืองเหมือนกัน และความคิดเห็นของกรรมการทุกคนก็อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เราอยู่บนหลักการ แต่ผลจะเกิดอย่างไรบางทีอาจคาดไม่ถึง
เมื่อถามว่า หากมีการเดินหน้าไปทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอมีความกังวลว่าจะมีผลหมิ่นเหม่กับพระราชอำนาจ นายพิทูรกล่าวว่า อยู่บนพื้นฐานของเวลา ณ ปัจจุบันนี้ คำสั่งนั้นมีผลมากน้อยแต่ไหนอย่างไรกับกิจกรรมรัฐสภาที่ต้องเดินต่อไป เราอยู่ในกรอบที่จำกัดไม่ได้มองกว้างขนาดนั้น
เมื่อถามว่า รัฐสภาจะต้องทำหนังสือชี้แจงไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดหรือไม่ นายพิทูรกล่าวว่า การขอคำชี้แจงมีไปถึงประธานรัฐสภาในฐานะผู้ถูกร้อง ซึ่งผู้ถูกร้องจะชี้แจงอย่างไร ฝ่ายกฎหมายของสภากำลังดำเนินการอยู่