ณรงค์เดช สรุโฆษิต: หยุดคิดสักนิดก่อนเดินหน้าโหวตร่างรัฐธรรมนูญ

ประชาไท 7 มิถุนายน 2555 >>>


วันนี้ขอถอดหมวก “นักวิชาการ” วิเคราะห์ความเป็นไปได้เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด (worst case scenario) ของการเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามและนำเสนอทางเลือกอื่น
เบื้องต้น เห็นว่า คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไว้พิจารณา และคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลดังที่มีนักวิชาการและนักกฎหมายหลายภาคส่วนนำเสนอไปแล้ว
ก่อนที่รัฐสภาจะเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในวาระที่สาม ตามมาตรา 291 (5) ทั้ง ๆ ที่ยังมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ท่านสมาชิกรัฐสภาได้โปรดไตร่ตรองและตอบคำถามต่อไปนี้เสียก่อน
1. สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2549 การชุมนุมพันธมิตร ยุบสภา บอยคอตเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เรื่อยมาจนถึงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หรือไม่
การดึงดันเดินหน้าพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป จะถูกใช้เป็นข้ออ้างปลุกม็อบ และสร้างความชอบธรรมให้แก่เทียบเชิญรัฐประหารที่ปลิวว่อนเกลื่อนกรุงอยู่ ณ ขณะนี้ ด้วยหรือไม่
2. การพิจารณาวาระที่สามต่อไปนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำมาซึ่งความรับผิดทางกฎหมายต่อไปนี้
2.1 สมาชิกรัฐสภาที่โหวตเห็นชอบให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม เสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 270 ในข้อหา“ส่อว่า”จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
เสียงของพรรคฝ่ายค้านที่จะชงเรื่องเกิน 1 ใน 4 อยู่แล้ว หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีมติเสียงข้างมาก (5 จาก 9 ท่าน) ว่าข้อกล่าวหามีมูล “ส.ส. ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ” ณ จุดนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ปปช. จะชี้มูลดังกล่าว
เมื่อชี้มูล ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลที่โหวตเห็นชอบร่าง รธน. กว่า 290 ท่านโดยประมาณ แม้ยังดำรงตำแหน่ง แต่ก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้เหลือ ส.ส. เฉพาะพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ ปปช. อาจชี้มูลในระหว่างสมัยประชุมสามัญทั่วไปหาก ส.ส. ฝ่ายค้านยื่นญัตติไม่ไว้วางใจในระหว่างนั้น นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจยุบสภาได้ ผลการโหวตในสภาจะเป็นเช่นไร และน่าจะจินตนาการกันต่อ ๆ ไปได้
เมื่อเรื่องกลับมาจาก ปปช. ในการลงมติเพื่อถอดถอนของวุฒิสภา ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อนี้ทำหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้น คะแนนเสียง 3 ใน 5 (ประมาณ 66 เสียง) ของจำนวน ส.ว. เท่าที่มีอยู่(ประมาณ 110 คน) ที่ต้องใช้ในการลงมติถอดถอนจึงไม่ใช่ตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียวเพราะเพียงแค่ ส.ว. สรรหาก็ 73 คนแล้ว
อนึ่ง จำนวนเสียงขั้นต่ำเพื่อผ่านวาระ 3 คือ 325 เสียง กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลจึงน่าจะต้องการเสียง ส.ว. ประมาณการคร่าว ๆ บวก/ลบ 40 ทั้งนี้ ไม่รวมปัจจัยอื่น ๆ เช่น หาก ส.ส. พรรคร่วมอื่นไม่เอาด้วย ก็จำเป็นต้องมีเสียง ส.ว. มากขึ้น ดังนั้น จำนวน ส.ว. ที่เหลืออยู่ในกระบวนการถอดถอนจะอยู่ที่ประมาณ 110 คน
ผลของการถอดถอนก็คือ ส.ส. ส.ว. ดังกล่าว ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที และถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ เป็นเวลา 5 ปี
2.2 แม้ ส.ส. ส.ว. จะมิใช่ “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา และมิใช่ “ข้าราชการการเมือง” ตาม พรบ. ข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 แต่ก็เป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ตามพรบ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในฐานะ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง”
หาก ปปช.เกิดมีเหตุสงสัย (อาจต่อเนื่องจากข้อ 2.1) หรือมีผู้กล่าวหาต่อ ปปช. ว่า มีการกระทำผิดตามมาตรา 123/1 ของ พรบ. ดังกล่าว  และ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล เรื่องก็จะไปสู่อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งในกรณีนี้ ท่าน ส.ส. ส.ว. จะไม่มีความคุ้มกันตาม รธน. ม. 131 (ดู รธน. ม. 277 วรรคสาม) ดังนั้น จึงยื่นฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาได้ตลอดเวลาไม่ติดข้อจำกัดในเรื่องสมัยประชุม
ยิ่งไปกว่านั้น หากศาลพิพากษาว่า การฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญจัดระเบียบวาระการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่สาม (ประธานรัฐสภา) และการลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ส.ส. ส.ว.) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามมาตรา 123/1 กฎหมาย ปปช. ขึ้นมา สถานการณ์การเมืองไทยจะเป็นเช่นไร
หากศาลพิพากษาให้จำคุก แม้จะรอการลงโทษ สมาชิกภาพของ ส.ส. และ ส.ว. เหล่านั้น ก็จะสิ้นสุดลงทันที และตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษบวกไปอีก 5 ปีจะลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (รธน. ม. 102 (5) และ ปอ. ม.56-57)
2.3 การลงมติในวาระที่สามทั้ง ๆ ที่ยังมีคำสั่งศาลคาอยู่นี้ อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส. ในสังกัดโหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ คดีมาตรา 68 ก็ตั้งแท่นรออยู่ในศาลแล้ว-- เสี่ยงถูกยุบพรรคตามวรรคสามและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการพรรคตามวรรค 4 หรือไม่
ทั้งนี้ แม้ตามหลักกฎหมายยุบพรรคในรัฐเสรีประชาธิปไตยและตราสารด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรณีเช่นนี้ไม่อาจถือเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งได้แน่ ๆ แต่ผลการตัดสินหลายคดีที่ผ่านมา ล้วนบ่งชี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมิได้ถือตามหลักกฎหมายสากลดังกล่าว (ประเด็นนี้มิได้วิจารณ์ลอย ๆ แต่มีงานวิจัยรองรับ)
3. การตอบโต้การก้าวล่วงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้น สามารถกระทำโดยช่องทางอื่นที่มิใช่การเดินหน้าพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สาม  ได้หรือไม่ อาทิ
3.1 การยื่นถอดถอนตุลาการรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งตามรธน. ม. 270
3.2 การเร่งพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรธน. ม. 216 วรรคหก ให้แล้วเสร็จเสียที (ดูม. 300 วรรคห้า) เพื่อมิให้มีช่องทางใช้ข้อกำหนดศาลโยงไปใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ. แพ่ง เช่นนี้ได้อีก รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการรับพิจารณาคำร้องตามรธน. ม. 68 ให้ชัดเจน เช่นเดียวกันกับกรณีการสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลรัฐธรรมนูญจะมีได้ในกรณีใดบ้างและภายใต้เงื่อนไขเช่นไร
3.3 การเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์ประกอบ ที่มา และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ในวาระโอกาสต่อ ๆ ไป
3.4 การเสนอญัตติให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามออกไปก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
กล่าวคือ ณ ขณะนี้ ตามสารบบงาน ยังไม่ถือว่ารัฐสภารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวแม้สมาชิกรัฐสภาแต่ละคนจะทราบจากสื่อต่าง ๆ แล้วก็ตาม ทั้งนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องมีการประชุมรัฐสภาเพื่อให้เลขาธิการสภาผู้แทนฯ แจ้งคำสั่งดังกล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา ในการนี้ ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอญัตติที่ 1 รับทราบคำสั่งศาลและขอให้มีมติชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญออกไปก่อน  จากนั้น เสนอญัตติที่ 2 ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาลงมติประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับ (การรับคำร้องตามมาตรา 68 และคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) อย่างเป็นทางการ เพื่อจารึกไว้ในประวัติศาสตร์รัฐสภาไทย
แม้ทางเลือกนี้ดูจะย้อนแย้งกันอยู่ในที เพราะทางหนึ่ง บอกว่า คำสั่งไม่ชอบ ซึ่งโดยตรรกะ เมื่อไม่ชอบ ก็ไม่สมควรที่รัฐสภาจะปฏิบัติตาม แต่อีกทางหนึ่ง กลับยอมรับสภาพบังคับของคำสั่งนั้นโดยยินยอมชะลอการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทางเลือกนี้ ก็เสี่ยงต่อความรับผิดต่าง ๆ น้อยกว่า และเป็นช่องโหว่นำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์น้อยกว่า การยืนยันอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภากลับไป โดยพิจารณาวาระที่สามต่อไปในทันที
การตอบโต้การใช้อำนาจระหว่างกันขององค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในรัฐเสรีประชาธิปไตยทั้งหลาย หากแต่เมื่อใดที่เหตุการณ์เช่นนั้นบังเกิดขึ้นบนพื้นปฐพีแห่งนี้ ท่าน ส.ส. และ ส.ว. ทุกท่านโปรดตระหนักไว้ว่า การตัดสินใจของท่านในครานี้ อาจนำไปสู่ทางตันทางการเมือง รัฐประหาร และการนองเลือด