รัฐเสียงไม่พอโหวตพิจารณาคำสั่งศาล รธน. ไม่ได้

โพสท์ทูเดย์ 12 มิถุนายน 2555 >>>




สภาเสียงไม่พอลงมตินำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาไม่ได้ ขณะที่ "มาร์ค" ไม่ร่วมโหวตนำ ส.ส.ประชาธิปัตย์ วอล์กเอาท์

ในการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. พล.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร เสนอญัตติขอให้มีการลงมติว่าคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับรัฐสภาหรือไม่ ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายไม่เห็นด้วย พร้อมระบุว่าตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถเสนอญัตติให้เข้ามาพิจารณาในสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติได้
จากนั้น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างอภิปรายตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.เพื่อไทย อภิปรายว่าการลงมติดังกล่าวสามารถทำได้ ขณะที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ต่างอภิปรายไม่เห็นด้วย พร้อมคัดค้านการเสนอให้ลงมติ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ไม่เห็นที่จะให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติในญัตติใดๆ อีกทั้งประเด็นนี้เป็นวาระเรื่องที่ประธานแจ้งต่อที่ประชุมให้รับทราบเท่านั้น หากจะมีผู้เสนอญัตติถือว่าเป็นการเสนอวาระที่ไม่ได้มีการนัดหมายไว้ก่อน และก่อนหน้านั้นประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้ชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระสาม ไปเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมาแล้ว แต่หากประธานรัฐสภา จะเปลี่ยนดุลยพินิจ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนให้กับต่อรัฐสภาและสังคม
ทั้งนี้ที่ประชุมได้อภิปรายตอบโต้ในประเด็นดังกล่าวกว่า 1 ชั่วโมง ทำให้นายสมศักดิ์ ใช้อำนาจประธานรัฐสภาวินิจฉัยให้มีการลงมติในญัตติที่มีผู้เสนอ โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 136 (5) และมาตรา 127 ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้น อภิปรายว่า ไม่สามารถร่วมลงมติในญัตติดังกล่าวได้ เพราะเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ พร้อมเดินนำส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกจากห้องประชุม ขณะที่กลุ่ม 40 ส.ว. ก็เดินออกจากห้องประชุมเช่นกัน ก่อนที่ นายสมศักดิ์ จะสั่งพักการประชุม เป็นเวลา 5 นาที
อย่างไรก็ตามหลังจากเปิดประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์ได้ให้มีการลงมติว่าจะให้นำญัตติเรื่องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันกับรัฐสภาหรือไม่ มาพิจารณา โดยผลการลงมติปรากฎว่า เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง
อย่างไรก็ตามแม้ว่าเสียงข้างมากจะเห็นด้วย แต่ตามมาตรา 127 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเสียงกึ่งหนึ่งของที่ประชุมเท่ากับ 322 เสียง ทำให้การลงมติดังกล่าว เสียงไม่เพียงพอที่จะให้มีการพิจารณาญัตติอื่นใด