"เสียงสะท้อน" ล้มญัตติ พิจารณาคำสั่งศาล รธน.

มติชน 14 มิถุนายน 2555 >>>


การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน เพื่อพิจารณาวาระกรณีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งนายสมศักดิ์ได้แจ้งขอปิดอภิปราย เพื่อต้องการสร้างบรรยากาศที่ดี ท่ามกลางการประท้วงของ ส.ส. และ ส.ว. บางส่วน ทำให้ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงษ์ ส.ว.มุกดาหาร เสนอญัตติขอให้รัฐสภามีความเห็นว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภาหรือไม่ ผลลงมติ เห็นด้วย 318 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง จากผู้ร่วมประชุม 325 คน ทำให้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือมากกว่า 322 เสียง ของสมาชิกสองสภา จึงไม่อนุญาตให้นำญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา

อุดมเดช รัตนเสถียร
ประธานคณะกรรมการประสานงาน สภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล)


ส.ส. 16 คน ของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ไม่มาร่วมโหวตญัตติรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญและมีผลผูกพันต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนนั้น พรรคคงต้องให้แต่ละคนที่ไม่ลงคะแนนมาชี้แจงถึงเหตุผลที่หายไป แต่จะไปเหมารวมไม่ได้ เพราะบางท่านก็ติดภารกิจ อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ทัวร์นกขมิ้น และคณะรัฐมนตรี ก็ไปปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น ส่วนนายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน และนายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ส.ส.ศรีสะเกษ เจ็บป่วย และในส่วนของพรรคร่วมก็ต้องให้ชี้แจงเหตุผลด้วย อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ที่เสียง ส.ส. หายไป 8 เสียง
การที่ญัตติโหวตไม่ผ่านไม่ใช่ความล้มเหลว เพราะได้ประสานงานกับทางพรรคร่วมชัดเจนแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันอาจเป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่ไม่เข้มงวดกัน อาจด้วยความประมาท หรือความวิตกอาจจะมีอยู่ในส่วนลึกของแต่ละบุคคล จึงออกมาเช่นนี้ แต่เมื่อวานนี้ (12 มิถุนายน) อยู่ในช่วงของการขอมติที่จะพิจารณาเรื่องอื่นในช่วงสมัยสามัญนิติบัญญัติเท่านั้น ยังไม่ได้ก้าวล่วงถึงการลงมติว่า สภาจะเห็นด้วยหรือไม่กับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีผลผูกพันกับรัฐสภา เพียงแต่อยู่ในช่วงของการขออนุญาตจากรัฐสภา โดยขอเสียงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่
สำหรับญัตติดังกล่าวเมื่อไม่มีโอกาสประชุมในสมัยนี้แล้วถือว่าหมดไป กว่าจะถึงสมัยหน้า ศาลรัฐธรรมนูญคงมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว
ส่วนกรณี ส.ส.พท. บางส่วน ไม่พอใจการทำงานของประธานรัฐสภา อาจเป็นความรู้สึกส่วนตัว จริงๆ แล้วต้องมาดูองค์ประกอบการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาด้วย เห็นว่าที่ผ่านมาทำหน้าที่อย่างเป็นกลางและรอบคอบ หลายครั้งฝ่ายค้านก็ตำหนิการทำหน้าที่ของประธาน และฝ่ายรัฐบาลเองก็ตำหนิ ถือว่าทำหน้าที่อย่างเป็นกลางแล้ว ข้อเสนอว่าจะให้มีการเปลี่ยนตัวประธานสภานั้นยังไม่ใช่ความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่ ส่วนตัวก็ยังไม่เห็นว่าประธานรัฐสภาทำหน้าที่บกพร่องอะไร
ส่วนเสียงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) โผล่มา 7 เสียง มีนัยยะอะไรหรือไม่นั้น จริงๆ เสียงพรรคฝ่ายค้านที่โผล่มาก็เป็นเรื่องปกติ เห็นว่าคำสั่งของศาลไม่ควรมีผลผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติ ก็คงอยากแสดงออกในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ อาจจะมาจากจิตใต้สำนึกของตัวเอง คงไม่ใช่ส่งสัญญาณที่จะมาร่วมงานทางการเมืองในอนาคตกับพรรคเพื่อไทย

นิคม ไวยรัชพานิช
รองประธานวุฒิสภา


การที่ ส.ว.สรรหา วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมเกือบทั้งหมดก่อนจะโหวตนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องเกินความคาดหมาย เพราะมีการแจ้งไว้ในการประชุมวุฒิสภาแล้วว่าหากมีการเอาเรื่องคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญให้ระงับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 มาตีความและโหวตในรัฐสภา จะมีการวอล์กเอาต์ ส่วน ส.ว.เลือกตั้ง นั้นไม่ทราบว่าเห็นอย่างไร เชื่อว่าไม่ได้มีการล็อบบี้กันมาล่วงหน้าก่อน เพราะเป็นการแสดงความเห็นและจุดยืนของ ส.ว. แต่ละคน และก็เป็นการแสดงออกถึงจุดยืนที่มีความเป็นเอกภาพ
สำหรับเสียง ส.ว. ที่หายไปจำนวนมาก นอกเหนือจากส่วนที่วอล์กเอาต์นั้นเป็นเพราะมีกรรมาธิการ ส.ว. 3 คณะ หรือประมาณ 50 คน เดินทางไปดูงานต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เนื่องจากมีการกำหนดวาระการดูงานไว้นานแล้ว แต่เลื่อนมาตลอด
ท่าทีของ ส.ว. ในการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระที่ 3 ก็ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเชื่อว่ากว่าจะถึงวันโหวตวาระที่ 3 ศาลคงมีคำวินิจฉัยไปแล้ว และศาลคงจะมีแนวทางพิจารณา เพราะทุกอย่างอยู่ที่เอกสาร หลักฐาน จึงต้องรอให้ถึงวันที่ศาลมีมติ แล้วจะมีการกำหนดท่าที อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับ ส.ว. แต่ละคน

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


เป็นเรื่องน่าเสียดายที่รัฐสภาไม่สามารถลงมติความเห็นต่อคำสั่งศาลและไม่สามารถลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้เท่ากับให้ศาลวินิจฉัยไปก่อน เหมือนรัฐสภาได้ปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจของรัฐสภา จะปล่อยให้อนาคตอยู่ตามอำเภอใจของศาลรัฐธรรมนูญหรือ เพราะจะเกิดผลเสียตามมาอีกมากนำไปสู่วิกฤตการเมือง และศาลรัฐธรรมนูญอาจจะทำผิดรัฐธรรมนูญอีกหลายแง่มุม โดยเฉพาะการตีความมาตรา 68 อย่างผิดๆ ต่อไป คือ การถือว่ารัฐสภาเป็นบุคคล จะเข้ามาตรวจสอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดเป็นปัญหาจนเกิดสุญญากาศทางการเมือง ถ้า ครม. ถูกพักการปฏิบัติหน้าที่
หากศาลรัฐธรรมนูญคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมาก ถ้ามีคนไปยื่นถอดถอน ครม. ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จากนั้นถ้า ป.ป.ช. ชี้มูลว่า ครม.มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ครม. ก็ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่ในที่สุด ที่พูดมาไม่อยากให้เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น
รัฐสภาจะรอความปรานีของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นหรือ ทางออกคือ รัฐสภาต้องจัดประชุมอีกครั้งหนึ่งก่อนปิดประชุมสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ เพื่อลงมติปฏิเสธคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ได้ ก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย อาจจะมีการเปิดสภาสมัยวิสามัญในระหว่างการปิดสมัยประชุมเพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ก็ได้
ทั้งนี้ การที่ประธานรัฐสภาอ้างถึงสถานการณ์ความปรองดองนั้นฟังไม่ขึ้น ความปรองดองต้องอยู่ภายใต้หลักการความถูกต้อง ไม่เช่นนั้นความปรองดองจะเกิดขึ้น
ไม่ได้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้นจะช่วยลดเงื่อนไขการสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตมากกว่านี้
สำหรับท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล หากมีการพูดคุยอย่างจริงจังจะได้รับความร่วมมือในการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระที่ 3 แต่กรณีการโหวตเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ผู้เสนอญัตติเป็น ส.ว. และเป็นเรื่องที่ไม่มีการพูดคุยล่วงหน้าทำให้เกิดเรื่องขึ้น แต่เรื่องนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้หากพูดคุยกัน

ชาญชัย ประเสริฐสุวรรณ
ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)


ส.ส.ชทพ. ไม่มีเจตนาหลบหนีการโหวตไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพราะเวลาในการโหวตไม่มีความแน่นอน แม้ก่อนการโหวต นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล จะแจ้งให้ ส.ส. ของพรรคเตรียมความพร้อม แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนของ ส.ส.พท. บางคนที่บอกว่าน่าจะรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน
อีกอย่างคือไม่มีการนัดหมายที่ชัดเจนว่าจะโหวตเวลาใด บางกระแสบอกว่าจะโหวตก่อนเที่ยง บางกระแสบอกว่าจะโหวตหลังเที่ยงของวันที่ 12 มิถุนายน เมื่อใกล้เที่ยงก็ยังไม่มีความชัดเจนจาก พท. ทำให้ ส.ส.ชทพ. บางส่วนออกไปทำธุระด้านนอกสภา จึงกลับมาโหวตไม่ทัน หากดูการโหวตวาระสำคัญๆ ของ ชทพ.แล้ว จะเห็นว่าเราพร้อมใจโหวตกันตลอด อีกทั้ง ชทพ. มีธรรมเนียมว่าเราจะนัดรวมเสียงกันก่อนในเวลา 09.03 น. ที่ห้องกรรมาธิการ 4 จะทำให้ได้จำนวนเสียงที่ครบถูกต้อง ไม่มีแตกแถว แต่เมื่อไม่มีความชัดเจนจาก พท. เราจึงไม่ได้ประชุมรวมเสียง ปัญหาเลยเกิดขึ้น สรุปได้ว่าหาก พท.ชัดเจนตั้งแต่ต้น ชทพ. จะไม่มีปัญหาเลย ยืนยันว่าพร้อมสนับสนุน พท. อย่างเต็มที่ในโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3
นอกจากนี้นายอุดมเดชยังกำชับในการประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 13 มิถุนายนว่า ให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปเช็กเสียงที่จะร่วมสนับสนุนการโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 ว่า มีกี่เสียง ส่วนใครไม่สนับสนุนก็ให้ระบุมา เพื่อเช็กจำนวนเสียงสนับสนุนที่แท้จริง จะได้ไม่มีปัญหาในการโหวต ในส่วนของ ชทพ. ก็ยืนยันว่าทั้ง 19 เสียงยังสนับสนุนอย่างแน่นอน