ประชาไท 9 มิถุนายน 2555 >>>
นักปรัชญาเมธีท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตนเองสองครั้ง ครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรม ครั้งที่สองเป็นละครตลกปนสมเพช”
แต่สำหรับประเทศไทย ต้องมีสามครั้ง สองครั้งแรกเป็นโศกนาฏกรรมคือ รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยปี 2549 และการโค่นล้มรัฐบาลพรรคพลังประชาชนปี 2551 ส่วนครั้งที่สามก็คือ การพยายามโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในขณะนี้ กำลังจะเป็นละครตลกปนสมเพช
นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 พวกเผด็จการก็ได้ดำเนินมาตรการหลอกลวงและแยกสลายต่อฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด ใช้ประโยชน์จากความเพ้อฝันของแกนนำพรรคเพื่อไทยที่หวัง “ปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” กับพวกเผด็จการ พวกเขาส่ง “สัญญาณประนีประนอมหลอก ๆ” โดยหวังผลสองด้านคือ ด้านหนึ่ง เพื่อดึงแกนนำพรรคเพื่อไทยให้ออกห่างจากฐานมวลชนของตนเอง ทำให้พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลตกในสถานะโดดเดี่ยวและอ่อนแอ ถูกทำลายได้ง่าย อีกด้านหนึ่ง ก็เพื่อสร้างความระส่ำระสายหมดกำลังใจและถอยห่างในหมู่มวลชนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย
เมื่อพรรคเพื่อไทยพยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และพระราชบัญญัตปรองดองแห่งชาติที่มุ่งยกเลิกคดีการเมืองทั้งปวงที่เป็นผลจากรัฐประหาร 2549 ฝ่ายเผด็จการก็มิอาจนิ่งเฉยต่อไปได้ จึงต้องดำเนินการรุกกลับทันที
สำหรับพวกเผด็จการแล้ว รัฐธรรมนูญ 2550 กับคดีการเมืองทั้งปวงที่โยนใส่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองพรรคไทยรักไทย คือหลักประกันเฉพาะหน้าในอำนาจปัจจุบันของพวกเขา เป็นดอกผลทางการเมืองสำคัญที่สุดที่พวกเขาได้รับจากรัฐประหาร 2549 หากปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยแก้ไขสองประเด็นนี้สำเร็จ พวกเขาก็จะ “ไม่ได้อะไรเลย” จากรัฐประหาร ทั้งยังได้สูญเสีย “ทุนทางการเมือง” ของตนไปอย่างมากมายมหาศาลแล้วอีกด้วย
ในสองครั้งแรกปี 2549 และ 2551 ประชาชนจำนวนมากยังไม่รู้เท่าทัน การเคลื่อนไหวของพวกเผด็จการผ่านมือเท้า เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ ตุลาการ และทหาร จึงน่าตกใจและไม่อาจเข้าใจได้ทันท่วงที แต่เผด็จการไทยก็เหมือนอาชญากรการเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกคือ ชะล่าใจกระทำการซ้ำอีกโดยเชื่อว่า ประชาชนยังโง่อยู่ หรือถึงประชาชนรู้ ก็ไม่มีทางตอบโต้ ในครั้งที่สาม พวกเขากำลังทำผิดพลาด เพราะมาถึงวันนี้ ประชาชนรู้และจะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป
ท้ายสุด เครื่องมือและวิธีการเก่า ๆ ก็จะมีประสิทธิผลน้อยลงทุกที เปรียบเสมือนผู้ลงทุนสร้างและผู้กำกับละครที่ใช้เค้าโครงเรื่อง ฉากหลัง และตัวละครซ้ำเป็นครั้งที่สาม จนประชาชนคนดูเอือมระอาเต็มทน คนพวกนี้คือ สิ่งมีชีวิตทางการเมืองที่พ้นยุคสมัยไปแล้วอย่างแท้จริง
เราจึงได้เห็นพวกเขาหันมาใช้ “สี่ขาหยั่ง” ของตนซ้ำอีกคือ กลุ่มอันธพาลการเมืองบนท้องถนนก่อกวนสร้างสภาวะจลาจลนอกสภา พรรคประชาธิปัตย์ก่อความปั่นป่วนทำลายกระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภาและสนับสนุนการก่อความวุ่นวายนอกสภา องค์กรตุลาการใช้ “กฎหมาย” มาทำลายรัฐบาลและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วจบลงด้วยการแทรกแซงของกองทัพ เหมือนสองครั้งแรก ทั้งหมดนี้ ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือน ยุยงให้ท้าย ไส้ไคล้เป็นเท็จโดยสื่อมวลชนและนักวิชาการที่หากินอยู่กับเผด็จการ
การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด แล้วอ้างข้อกำหนดศาล ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 264 มี “คำสั่ง” ให้รัฐสภา “ชะลอ” การพิจารณาวาระสามร่างแก้ไขฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เหล่านี้ได้ถูกผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายมหาชน เช่น คณะนิติราษฎร์ ชี้แล้วว่า เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด เป็นการก้าวก่ายครอบงำการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง
ผลเฉพาะหน้าของ “คำสั่ง” ศาลรัฐธรรมนูญคือ เป็นการยับยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและอาจนำไปสู่การ “ทำแท้ง” ด้วยคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า ร่างแก้ไขฯฉบับนี้ ขัดรัฐธรรมนูญเพราะเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร นี่คือการตัดตอนให้เป็นบรรทัดฐานว่า นับแต่นี้ไป การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่ว่าจะครั้งไหน เมื่อไร ล้วนทำไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะทุกครั้งอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข !
และในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังอาจเลยไปถึงสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ส่วนบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขฯ ก็เข้าข่ายมีความผิด ถูกถอดถอนและอาจถูกดำเนินคดีอาญาอีกด้วย!
แต่ผลในระยะยาวคือ อำนาจตุลาการกำลังเข้าครอบงำและทำลายกระบวนการนิติบัญญัติทั้งหมด เพราะในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญสามารถอ้างข้อกำหนดและกฎหมายที่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ มาสั่งฝ่ายนิติบัญญัติให้ “ชะลอ” การทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ นี่ก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงและ “ชะลอ” การพิจารณาออกกฎหมายอื่น ๆ ได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะ “กดปุ่มสั่ง” ให้รัฐสภา “หยุด” เมื่อไรก็ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นการเผยให้เห็นเนื้อแท้ของรัฐธรรมนูญ 2550 ว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการ ที่กลุ่มอำนาจนิยมจำนวนไม่กี่คนกุมอำนาจการปกครองที่แท้จริง ผ่านองค์กรตุลาการที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งของประชาชน เป็นอำนาจที่อยู่เหนือและครอบงำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ
คำว่า “ตุลาการรัฐประหาร” ก็คือการที่ตุลาการสามารถอ้างอิงหลักตรรกะ เลือกใช้ภาษาไทยและ “พจนานุกรม” มาตีความตัวหนังสือในกฎหมายรัฐธรรมนูญตามที่ตนเห็นชอบ เข้าแทรกแซงกระบวนการนิติบัญญัติและ “ถอดถอนลงโทษ” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้โดยไม่มีใครท้วงทิงตรวจสอบได้
หากพรรคเพื่อไทยยอมจำนน ก็เท่ากับว่า ได้สูญเสียอำนาจนิติบัญญัติไปโดยสิ้นเชิง ทั้งประธานสภา รองประธานสภา และบรรดาสมาชิกสภา เป็นได้เพียง “เจว็ด” ในห้องประชุม และคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชน ก็คือ เสียงนกเสียงกาที่ไร้ความหมาย
พรรคเพื่อไทยจะต้องแสดงความกล้าหาญ ยืนยันสถานะของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งว่า มาโดยมติมหาชนอันชอบธรรม เป็นหนึ่งในสามอำนาจอธิปไตย เป็นตัวแทนอำนาจนิติบัญญัติของปวงชนชาวไทย ที่มิอาจยอมจำนนต่อคำสั่งที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญเช่นนั้นได้ พรรคเพื่อไทยมิได้โดดเดี่ยว หากแต่มีหลังพิงเป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตยที่พร้อมจะสนับสนุนและปกป้องสภาที่มาจากคะแนนเสียงเลือกตั้งของพวกเขา