'เสื้อแดง' ยื่นผู้ตรวจเอาผิดฝ่ายค้านป่วนสภา

กรุงเทพธุรกิจ 21 มิถุนายน 2555 >>>


กลุ่มคนเสื้อแดงยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีฝ่ายค้านป่วนสภา

กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นำโดยนายชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ ตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และนางสุดสงวน สุธีสร นักวิชาการเสื้อแดง พร้อมคณะจำนวน 20 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามเหตุอันควรแห่งข้อประมวลจริยธรรมทางการเมืองของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ
โดยได้เกิดเหตุการณ์ที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ ลากเก้าอี้ประธานและรองประธานสภาฯ ลงจากบัลลังก์ รวมถึง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขว้างปาสิ่งของใส่ประธานสภาฯ อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่นายธานี เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ไม่พอใจนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ที่กำลังบันทึกภาพ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ปาของใส่ประธานสภา จึงวิ่งเข้าไปใช้มือบีบคอนายจิรายุ ทางกลุ่มจึงเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นพฤติกรรมที่ขัดหลักจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงเดินทางมายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในวันนี้ โดยมีนายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายสงัด ปัถวี รักษาการรองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสถาพร วัชระพาณิชย์ ผอ.สำนักสอบสวน 6 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายปรีดา เวทยาวงศ์ ผอ.สำนักกฎหมาย สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นตัวแทนรับเรื่อง
โดยนายชัยนรินทร์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความวุ่นวาย ได้สะท้อนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ตามประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส. กลุ่มดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าหากยังไม่มีมาตรการจัดการหรือเอาผิดให้ชัดเจน การเปิดสมัยประชุมสภาฯ สมัยหน้า จะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยและทวีคูณความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาบทบาทของผู้นำหรือหัวหน้าพรรคที่ไม่ระมัดระวังเตือนสมาชิกผู้กระทำการไม่เหมาะสม เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของจริยธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน
ด้านนายปรีดา กล่าวว่า เบื้องต้นจะรับเรื่องไว้ก่อน เพื่อพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ว่าอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเรื่องนี้ได้มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรแล้วด้วย ดังนั้น ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะประสานไปยังคณะกรรมการจริยธรรมสภาฯอีกครั้งว่าหลักประมวลจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดข้อเท็จจริงถึงกรณีดังกล่าวไว้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเพียงชี้ว่ามีการฝ่าฝืนข้อบังคับจริงหรือไม่ ซึ่งหากพบว่าผิดจริง ก็จะส่งเรื่องให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณากำหนดบทลงโทษต่อไป
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ทางกลุ่มจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องให้ปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง รวมถึงนักโทษที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 53 คนด้วย