'จรัส' แนะเลิกใช้มวลชนเคลื่อนไหวแย่งอำนาจ

กรุงเทพธุรกิจ 21 มิถุนายน 2555 >>>


"จรัส สุวรรณมาลา" เผยในวงเสวนา “การเมืองมวลชนในสถาณการณ์หลายขั้วสี” แนะเลิกใช้มวลชนเคลื่อนไหวแย่งอำนาจ

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการเสวนาในหัวข้อ “การเมืองมวลชนในสถาณการณ์หลายขั้วสี” โดยมีนายจรัส สุวรรณมาลา อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสนศาสตร์ นางฉันทนา บรรพศิริโชติ หวันแก้ว หัวหน้าภาควิชาการปกครอง นายประภาส ปิ่นตบแต่ง ผอ.หลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง นายศุภมิตร ปิติพัฒน์ หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสวนา
นายจรัส กล่าวว่า หลังจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจบลง และพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นเกินความคาดหมายของหลายฝ่าย ตนคิดว่าหลายคนโล่งใจเพราะว่าความขัดแย้งน่าจะจบลงได้ และเดินเข้าสู่การเมืองที่มีเสถียรภาพ แต่ความขัดแย้งในรูปแบบเผชิญหน้านั้นยังไม่ได้จบลง และรัฐสภาก็กลายเป็นเวทีที่เพิ่มระดับความขัดแย้งขึ้นมา คำตอบนั้นตนคิดว่ามีหลายสมมุติฐาน มีคนจำนวนมากคิดว่านักการเมืองเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งของการเมืองแบบมวลชนกับประชาธิปไตย
ตนเชื่อว่านักการเมืองแย่งกันเอามวลชนเป็นฐานในการขับเคลื่อน และหลังจากชนะไปแล้วก็ไม่น่าจะใช้มวลในการขับเคลื่อนอีกการเมืองแบบเสื้อสีก็น่าจะจบ แต่มาถึงวันนี้การต่อสู้ยังไม่จบเมื่อมีการแก้ รธน. และร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เป็นสาเหตุใหญ่ สรุปว่าการเผชิญหน้ายังคงมีอยู่และไม่คิดว่าจะถอยได้ การโจมตีฝ่ายตรงข้ามที่เป็นศัตรูโดยไม่มีการเจรจาก็ยังทำกันอยู่ทุกวัน ส่วนมากก็จะเป็นเรื่องโกหกมากกว่าจริง เพื่อให้มวลชนของตัวเองเป็นฐานให้ในระยะยาว
นายจรัส กล่าวอีกว่า เราเห็นพรรคการเมืองเข้ามาเล่นบทบาทในการแบ่งขั้วมากขึ้นอันนี้ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรง ตนขอร้องให้พรรคการเมืองช่วยทำให้สถาณการ์คลี่คลาย และถ้ารัฐบาลยังเดินนหน้านำมวลชนเข้าสู่วงจรขัดแย้งเหมือนเดิมก็คงไม่มีความหมาย ถ้าไม่หลีกเลี่ยงก็จะเจอปัญหาในการบริหารงาน   
นายประภาส  กล่าวว่า การเมืองมวลชน นั้นคือการรวมตัวที่มีความต่อเนื่องในลักษณะองค์กรเครือข่ายในการเผยแพร่ความเชื่อ การเมืองมวลชนที่ปรากฏขั้วสีได้ชัดคือสีของคนจน คือการเมืองที่มาจากปัญหาของประชาชน ซึ่งสีของคนจนนี้เกิดมานานแล้ว แต่ไม่มีพลังพอในการเกิดผลกระทบขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นถือเป็นพัฒนาการที่เกิดขึ้นมาในปัจจุบันจนกลบสีของคนจนออกไป
นางฉันทนา กล่าวว่า ถ้าตีความหมายทางสังคม การเมืองทางมวลชนไม่ได้เป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง มวลชนถูกดูดเดข้าไปในพรรคการเมือง มวลชนถูกขับเคลื่อนโดยพรรค วิกฤตทางการเมืองเป็นคำถามที่ทดสอบความสามารถของประชาธิปไตยว่าจะลองรับปัญหาความขัดแย้งได้แค่ไหน เรากำลังมีปัญหาว่าจะใช้กลไกประชาธิปไตยอย่างไรในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งขั้วอย่างเอาเป็นเอาตายนั้นเกิดขึ้นในช่วงหลังรัฐประหาร2549 จากนั้นถ้าหากมีสีต่างขึ้นมาจะถูกผลักให้ขึ้นไปในสีใดสีหนึ่งในสองสีหลัก และผลกระทบของการแบ่งฝ่ายคือพื้นที่การเมืองของประชาชนน้อยลง