ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวในเวทีเสวนา “80 ปี ประชาธิปไตย: รัฐศาสตร์กับการเมืองไทย” ว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่สามารถเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองได้ทั้งหมด ขณะที่ชนบทเกิดพลวัตของการเปลี่ยนแปลง นโยบายของพรรคไทยรักไทยยิ่งกระตุ้นการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น ผูกโยงคนชนบทเข้ากับพรรคการเมืองที่เสนอขายนโยบายและเกิดความเชื่อมโยงระหว่างพรรคการเมืองและคนชั้นล่าง คล้ายกับตัวแบบอาหรับสปริง กำลังเป็นประเด็นท้าทายสังคมไทย
รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า ปัญหาประมาณ 10 เรื่องซ่อนอยู่กับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น คือ
1. วันนี้สังคมไทยเผชิญกับความไร้เสถียรภาพอย่างต่อเนื่องและยาวนาน เพราะถ้ามองการเมืองไทยในอดีตมีวิธีการจัดการกับความขัดแย้งและทำให้เสถียรภาพเกิดในเวลาสั้น ๆ แต่รอบนี้ความขัดแย้งก่อตัวก่อนปี 2549 การรัฐประหารปี 2549 เป็นเพียงสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าความขัดแย้งได้ขึ้นถึงจุดสูงสุด
2. ต้องยอมรับว่าสังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความแตกแยกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา เมื่อเทียบกับปี 2549 ความแตกแยกแบ่งออกเป็นขั้วและรุนแรง
3. จะทำอย่างไรกับการเมืองภาคประชาชนที่ยังอ่อนแอ เป็นผลจากโครงสร้างรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระบางองค์กร ทำอย่างไรจะสร้างการจัดสรรอำนาจเพื่อลดทอนความอ่อนของการเมืองภาคพลเรือน
4. ตอนนี้ต้องยอมรับว่าพลังอนุรักษ์นิยมขับเคลื่อนผ่านเครื่องมือชุดใหม่ ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องตุลาการภิวัฒน์และองค์กรอิสระ ยังคงขับเคลื่อนต่อไป
5. การเมืองไทยในอนาคตมีแนวโน้มที่เรียกว่าแมสโพลิติกส์ “Mass Politics” หรือการเมืองที่อยู่บนถนนมากขึ้น
6. ต้องยอมรับว่าพลังของการรัฐประหาร ยึดอำนาจไม่เหมือนเก่า คนไม่กลัวทหารเหมือนเดิม
7. ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ ตัวแสดงใหม่ วาทกรรมใหม่ ประเด็นท้าทายใหม่ ๆ
8. ทิศทางการเมืองเช่นนี้ ชนชั้นนำยังเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องมีลักษณะ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” หรือไกด์ เดโมเครซี “Guided Democracy” โดยเชื่อว่าประชาธิปไตยต้องอยู่ภายใต้ชนชั้นนำกำลังถูกท้าทาย
9. การประนีประนอมและการปรองดองจะเกิดโดยสองเงื่อนไข คือ
1) ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะเด็ดขาดเพื่อสร้างระเบียบชุดใหม่ และ
2) เป็นตัวแบบเหมือนในแอฟริกาใต้ คือคุยกันไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงจุดยุติที่ต่างฝ่ายต่างยอม แต่บริบทการเมืองไทยยังไม่เกิดขึ้นทั้ง 2 ลักษณะ
10. โลกรอบ ๆ รัฐไทยกำลังเปลี่ยนแปลง การหวนคืนสู่ระบอบอำนาจนิยมของไทยกำลังถูกท้าทาย
ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ ลิ่มมณี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาดุลยภาพที่มาของอำนาจและการใช้อำนาจว่า โดยระบอบประชาธิปไตยได้สร้าง 2 หลักการที่กำลังเป็นปัญหาขณะนี้ คือ
1. หลักการเสียงข้างมาก (Majoritarianism) สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ สถาบันที่เป็นตัวแทนของหลักการคือสถาบันนิติบัญญัติ บางกรณีรวมถึงรัฐบาล มีความเชื่อมโยงกับประชาชน
2. หลักการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ป้องกันไม่ให้สถาบันที่มีหน้าที่ทั้งหลายใช้อำนาจละเมิดเสรีภาพของประชาชน
“ปัจจุบันความขัดแย้งออกมาในรูปของสถาบันโดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ 2540 เกี่ยวข้องกับกลไกด้านสถาบันที่ยึดโยงกับการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองและโยงใยอยู่กับสถาบันต่าง ๆ เป็นความขัดแย้งบนพื้นฐานของหลักการที่แต่ละฝ่ายต่างหยิบขึ้นมาอ้าง แต่ละฝ่ายต่างยึดหลักการด้านใดด้านหนึ่งของประชาธิปไตย พยายามผลักดันกลไกเชิงกระบวนการและสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญให้เป็นไปในด้านที่ตนเองจะได้เปรียบ และเชื่อว่าสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย”
ศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ถ้าไม่ต้องการให้ชะงักงันต้องประคองหลักการทั้งสองหรือสถาบันที่เกี่ยวข้องกับหลักการทั้งสองไว้และให้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดถ้ามีความขัดแย้งต้องหาทางออกภายใต้กฎหมายที่มีอยู่จะนำไปสู่เป้าหมายคือประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ
ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ประเทศปกครองมาโดยผู้ปกครองที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เกิดความเข้าใจของประชาชนต่อการเลือกตั้ง ความสนใจในนโยบายพรรคการเมืองขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงปี 2549 กลับสวนทางกับพัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมา ในรัฐธรรมนูญ 2550 องค์กรหลายองค์กรเกิดขึ้นโยการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร เป็นระบบที่ส่งเสริมให้เกิดการเลือกปฏิบัติ
“ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตุลาการและองค์กรฝ่ายรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญพยายามมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยอื่น ซึ่งขัดกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ ส่วนบทบาทของตุลาการหรือตุลาการภิวัฒน์มีปัญหาประเด็นที่ไม่ได้มีอำนาจยึดโยงกับประชาชนและตรวจสอบไม่ได้ และบทบาทที่น่ากังวลคือการรับรองการรัฐประหารให้มีความชอบธรรม” นายจาตุรนต์ กล่าว
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การยุติการแก้รัฐธรรมนูญเพราะล้มล้างระบบการปกครองจะเสียหายต่อหลักการสำคัญ จะเกิดการขยายอำนาจศาลรัฐธรรมนูญมาสู่การวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญได้ และปิดทางไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้อีก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ปัญหาของประชาธิปไตยใหม่คือกำลังเปลี่ยนจากเผด็จการทหารสู่เผด็จการรัฐสภาเป็นวงจรอุบาทว์ของประชาธิปไตย สาเหตุที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 คือการที่เผด็จการรัฐสภาสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยึดอำนาจ โดยเฉพาะรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปัจจุบัน อาจสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่วังวนของปัญหาเช่นกัน
“ทางออกระยะยาวของประเทศ เราต้องช่วยสร้างสังคมที่เคารพกฎหมาย สร้างหลักนิติรัฐและนิติธรรมให้เกิดขึ้นและความขัดแย้งจะลดลง ต่อสถานการณ์ระยะสั้นเราต้องช่วยกันดึงฟืนออกจากกองไฟ อย่างน้อยที่สุดการแก้รัฐธรรมนูญกับกฎหมายล้างผิดหากยุติได้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตความขัดแย้งในช่วงเวลาอันใกล้จะมีความเสี่ยงน้อยลง” นายจุรินทร์กล่าว