ประชาไท 27 มิถุนายน 2555 >>>
(26 มิ.ย.55) คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การดำเนินคดีอาญาสมัยใหม่กับสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา ในเวทีสาธารณะ “การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน” ที่โรงแรมทีเค พาเลซ แจ้งวัฒนะ จัดโดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านกระบวนการยุติธรรมในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า ปัจจุบัน ผู้ถูกดำเนินคดีนั้นถือเป็นประธานแห่งคดี (Procedural Subject) หรือผู้ทรงสิทธิ ซึ่งมีสิทธิให้การหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น จึงต้องได้รับความคุ้มครอง ไม่สามารถทำอะไรที่กระทบกระเทือนจิตใจได้
กระบวนการยุติธรรมต้องมีประสิทธิภาพด้วย โดยต้องสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ดีและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพบุคคล แต่กรณีของไทยมีแนวโน้มไปในทางรักษาความสงบเรียบร้อย ทำให้ประชาชนอาจตกเป็นเหยื่อ เกิดการซ้อมทรมาน
"ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมแสดงให้เห็นถึงขนาดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ" คณิต ณ นคร กล่าวและยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่สามารถพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงประชาธิปไตยได้เพราะกระบวนการยุติธรรมเข้มแข็ง ขณะที่ของไทย ประสิทธิภาพยังต่ำมาก
นอกจากนี้ ยังมีความไม่เข้าใจรูปแบบของกระบวนการยุติธรรม โดยในไทยที่การดำเนินคดีกระทำโดยรัฐ มีการตรวจสอบ 2 ชั้น คือ ชั้นเจ้าพนักงานและชั้นศาล ซึ่งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมองว่า การตรวจสอบชั้นเจ้าพนักงานนั้นเป็นกระบวนการที่แยกไม่ได้ ขณะที่ของไทย แยกออกไปหลายส่วน ไม่ได้ทำเป็นกระบวนการเดียวกัน ซ้ำยังทะเลาะกันเอง ทั้งตำรวจ อัยการ ดีเอสไอ (กรมสืบสวนคดีพิเศษ) ป.ป.ท. (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ) และ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)
ด้านกระบวนการในชั้นศาล ก็ไม่เข้าใจบทบาทในการตรวจสอบ โดยประทับฟ้องง่ายมาก ยกตัวอย่างว่าหากอัยการฟ้องมาไม่ได้เรื่อง ศาลมีบทบาทต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก็ไม่ค่อยได้ทำ แถมยังมายกฟ้องในภายหลัง พร้อมกับมีกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรมแจกเงินให้อีก ทั้งที่ควรต้องผิดพลาดน้อยสุด เพราะเงินเยียวยาในกระบวนการยุติธรรมก็เป็นภาษีของประชาชนทั้งสิ้น
"ศาลก็ต้องมีความกระตือรือล้นในการตรวจสอบความจริง ขอประทานโทษ ผู้พิพากษาเรายัง passive อยู่เยอะ" คณิตกล่าวและว่า มาตรา 228 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ให้ศาลสามารถสืบเสาะเอง ส่งประเด็นไปสืบก็ได้ แต่ไม่ค่อยได้ทำ
คณิต เสนอว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต้องนำไปสู่การมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่าย ไม่ใช่สักแต่จะเพิ่มหน่วยงานหรือบุคลากร เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือด้วย
คณิต กล่าวด้วยว่า ควรมีการปฏิรูปศาล โดยที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นไม่เคยมีการปฏิรูปเลย มีแต่เพิ่มจำนวน อาจจะต้องทำองค์คณะให้สมบูรณ์ ให้บุคคลที่มีประสบการณ์มาดำรงตำแหน่ง โดยเมื่อดูจำนวนจะพบว่า ศาลสูงในอเมริกามี 9 คน ศาลเยอรมันมี 15 คน ศาลญี่ปุ่นมี 15 คนขณะที่ของไทยมีร้อยกว่าคนซึ่งทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
ทั้งนี้พบว่ายอดคดีคงค้างในศาลฎีกาปัจจุบันมีจำนวน 30,000 กว่าเรื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทบทวีคูณ หากไม่มีการปฏิรูปจะต้องใช้เงินภาษีของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นจึงเสนอให้ทำศาลฎีกาเป็นศาลทบทวนข้อกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ต้องพิจารณาคดีร้ายแรงเป็นแบบศาลชั้นต้น ไม่ใช่นั่งอ่านคำพิพากษา เช่นนี้จะเกิดการปรับปรุงศาลชั้นต้นให้ดีขึ้น
คณิตวิจารณ์ด้วยว่า กระทรวงยุติธรรมไม่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม แต่กลับแจกเงินเยียวยา นอกจากนี้ การบริหารงานยุติธรรมควรเป็นหน้าที่ของพนักงานอัยการ
"กระบวนการยุติธรรมที่ดีจะต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยแต่ต้องมีความร่วมมือสูง ถ้าช่วยกันผลักดันไปในทิศทางนี้ การพัฒนาประชาธิปไตยก็จะเป็นไปได้"