ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ต้องมาจากมวลชน

ประชาไท 24 มิถุนายน 2555 >>>




ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เข้าร่วมปฏิญญาหน้าศาล ชี้องค์กรที่อยู่นอกเหนือระบบรัฐสภาจะทวีความเลวร้ายมากยิ่งขึ้นใน 2-4 ปีข้างหน้านี้ ความหวังเดียวคือมวลชน และความเชื่อมั่นศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย
รองศาสตราจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากสถาบันเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนของกลุ่มปฏิญญาหน้าศาล ที่จัดขึ้นทุกวันอาทิตย์บริเวณบาทวิถีหน้าศาลอาญา เพื่อรณรงค์ปลดปล่อยนักโทษการเมือง โดยอาทิตย์นี้จัดในวันเสาร์ก่อน 24 มิถุนายน
รศ.ปวิน พูดคุยถึงทัศนะในเรื่องนักโทษการเมืองว่า ในประเทศประชาธิปไตยไม่มีนักโทษการเมือง เพราะโดยนิยามแล้วนักโทษการเมืองคือ กลุ่มคนที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาล ซึ่งในประเทศประชาธิปไตยเรื่องนี้เกิดขึ้นไม่ได้ รัฐบาลต้องยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและรับผิดชอบในสิ่งตนเองพูด การลงโทษถึงขนาดจับกุมเป็นเรื่องที่ผิดและทำไม่ได้ในสังคมประชาธิปไตย เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความเห็นด้านการเมือง
ในประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเฉพาะประเทศเผด็จการก็มีนักโทษการเมืองอยู่มาก  การจับกุมคุมขังถือเป็นมาตรการหนึ่งของรัฐ ในการที่จะควบคุมการแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมา
กลไกอีกอันหนึ่งคือ มาตรา 112 ปัจจุบัน ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง  อย่างกรณีอากงก็เห็นได้ชัดว่าเป็นประเด็นทางการเมือง มีการจับกุมโดยที่ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด ก่อนหน้ารัฐประหารมีการใช้มาตรา 112  น้อยมาก และใช้กันเฉพาะในหมู่นักการเมืองระดับสูง เช่น คุณทักษิณก็ถือว่าเป็นคนหนึ่งที่เอา 112 มาเล่น แกล้งฝ่ายตรงข้าม คุณทักษิณฟ้องคุณสนธิ คุณสนธิฟ้องคุณทักษิณ คุณทักษิณฟ้องพรรคประชาธิปัตย์เรื่องเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ก็ฟ้องกลับ แต่อย่างไรก็ตาม มันยังมีวงจำกัดอยู่แค่นักการเมืองเท่านั้น ไม่ลงมาถึงระดับประชาชน 
แต่หลังรัฐประหาร ฝ่ายอำมาตย์เริ่มมีความหวั่นกลัวว่าประชาชนมีความตื่นตัวด้านการเมืองมากขึ้น จุดนี้ทำให้เขารู้สึกเริ่มอ่อนแอลง ซึ่งมันมีไม่กี่ทางที่เขาจะสามารถป้องกันตนเองได้  วิธีหนึ่งคือใช้รัฐประหาร มันก็อาจเป็นไปได้อีก วิธีการหนึ่งคือใช้ตุลาภิวัตน์ ซึ่งเขากำลังใช้อยู่ วิธีการที่เริ่มใช้มา 3-4 ปี แล้วคือใช้กฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งตอนนี้ใช้อย่างสะเปะสะปะ บางอันไม่เกี่ยวกับการเมืองระดับชาติเลย ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายมีช่องโหว่อยู่มาก สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวทุกภาคทุกอณูของสังคมไทย เป็นทางแยกที่เราไม่รู้จะเดินไปทางไหน ความหวังอย่างเดียวคือรัฐบาลจะช่วยทำให้สถานการณ์มีความกระจ่างมากขึ้น จึงอยากขอจุดยืนจากรัฐบาลหน่อย เรื่อง 112 ว่าจะเอายังไง เลิกคลุมเครือ ถ้าไม่แก้ ขอเหตุผลดีๆ  ซึ่งเชื่อว่าหาเหตุผลลำบากถึงจุดนี้ มาตรา 112 ถึงไม่ยกเลิก อย่างต่ำก็ต้องได้รับการแก้ไข เพราะสังคมไทยไปอย่างนี้ไม่ได้
ส่วนตุลาการภิวัฒน์ หรือ judicial coup นั้น อ.ปวิน เห็นว่า เกิดขึ้นครั้งแรกในการปลดสมัครออกจากนายกฯ ต่อมา ยุบพรรคพลังประชาชน แต่การยุบพรรคไม่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ สิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นกับสังคมไทย ไม่ว่าจะเลวร้าย บัดซบ ไม่มีเหตุผลรองรับอย่างไร มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา  สิ่งที่เกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งในรัฐสภาและการแทรกแซงของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งไม่แปลก แต่มันคงอยู่ได้ไม่นาน เพราะมันยิ่งลดความน่าเชื่อถือของระบบตุลาการไทย
อ.ปวินเห็นว่า ปัจจุบัน เราพึ่งใครไม่ได้ พึ่งสถาบันศาสนาให้มาเป็นแนวทางในการนำจริยธรรมก็คงลำบาก พึ่งองค์กรอิสระให้เป็นกลางดูแลแก้ไขปัญหาก็คงลำบาก ทางออกทางเดียวคือ ประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่น ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย รู้จักเล่นเกมตามระบอบประชาธิปไตย  ถ้าแพ้ก็ต้องยอมรับ
ต่อประเด็นที่ประชาชนเริ่มเห็นว่ารัฐบาลและ ส.ส. ที่เลือกมาไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีความกล้าๆ หน่อย คุณได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนแล้วยังจะกลัวอะไร ประชาชนเขาจำ ถ้าคุณไม่ทำอย่างที่เขาต้องการ เขาก็ไม่เลือกคุณอีก คุณอย่าทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเขามีความสำคัญแค่วันเลือกตั้งเท่านั้น รัฐบาลอาจคิดถึงความอยู่รอดของตัวเอง ทำให้มีความพยายามต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับศัตรูทางการเมืองที่มีอำนาจล้นเหลือ  เช่น ผูกมิตรกับกองทัพ ไปพบผู้อาวุโสบางคนของประเทศ แต่การทำเช่นนี้ คุณลืมประชาชนไป มันไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนต้องการ อย่างน้อยสิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคุณต้องทำให้ได้ นักโทษการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงที่สนับสนุนคุณมายังไม่ช่วยเขาเลย มาตรา 112 ก็มีความคลุมเครือ นายกฯ ก็ออกมาพูดว่าจะไม่แก้ไข พูดได้อย่างไรในเมื่อมันเป็นปัญหาแก่นของสังคมไทย ถ้าคุณทักษิณคิดว่ารัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และต้องอยู่ไปอีก 8 ปี สิ่งที่คุณยิ่งลักษณ์ทำอยู่ตอนนี้ไม่พออย่างแน่นอน ต้องทำมากกว่านี้ มีจุดยืนมากกว่านี้
ส่วนสภาในเมื่อคุณมีเสียงข้างมาก ถ้าคุณเห็นว่ากฎหมายอันไหนเป็นประโยชน์ต่อสังคมจริงๆ เป็นความก้าวหน้าด้านประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ตอบสนองข้อเรียกร้องของประชน คุณก็ต้องมีความรับผิดชอบ   อย่างมาตรา 112 ประชาชนเรียกร้องไปแล้ว รวบรวมรายชื่อไปแล้ว ถึงเวลาต้องทำคุณก็ต้องทำ จะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในต่างประเทศว่าแย่มาก ประเทศไทยเคยเป็นโมเดลของประเทศในภูมิภาคที่มีประชาธิปไตยที่เบ่งบาน มีสื่อที่พูดได้อย่างตรงไปตรงมา ตอนนี้กลับตาลปัตรไปหมด ตอนนี้พม่าเจริญกว่าเราทางด้านความคิดทางการเมือง เขากำลังเดินออกจากระบบที่ครอบงำโดยทหาร ส่วนประเทศไทยกำลังถอยหลังเข้าสู่ระบบครอบงำของทหาร ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ถ้าเราไม่ปรับตัวเราจะเป็นประเทศที่ล้าหลังอย่างมาก
ประเทศไทยเป็นสมาชิกประชาคมโลก เป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ เรามีพันธกรณีกับหลายๆ หน่วยงานระหว่างประเทศ ถ้าเราคิดว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เราต้องพิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งจุดนี้เรายังอ่อนมาก และต่างชาติกำลังมองเราอย่างใกล้ชิด ถ้าเราจะเคลื่อนประเทศไทยไปข้างหน้าในแบบที่เป็นประชาธิปไตย เราคงต้องเคลื่อนไปทั้งองคาพยพ จะทำทีละเล็กละน้อยไม่ได้  เราเคยมีความหวังว่าระบบตุลาการจะเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา แต่ตอนนี้ระบบตุลาการทั้งหมดกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา  ความรุนแรงจะเพิ่มมากขึ้น  สิ่งที่เราเห็นในทุกวันนี้ว่ามันเลวร้ายมาก มันจะเลวร้ายไปกว่านี้อีก ใน 2-4 ปีข้างหน้า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่  องค์กรต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือระบบรัฐสภา นอกเหนือระบอบประชาธิปไตย จะยิ่งเพิ่มเขี้ยวเล็บมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าสิ่งที่เขาปกป้องอยู่ทั้งผลประโยชน์ของตัวเอง และผลประโยชน์ของคนอื่นๆ มันจะไม่อยู่กับเขาอีกต่อไป  เพราะฉะนั้นตอนนี้เป็นช่วงวาระสุดท้ายที่เขาจะทำทุกอย่าง  เราจะเห็นเรื่องต่างๆ ที่มันทุเรศๆ ออกมาอีก เรื่องที่เรารับไม่ได้ เรื่องที่ขาดเหตุผล อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง  ถ้าคุณเห็นว่าตุลาการทุกวันนี้ประพฤติตนไม่ถูกต้อง มันจะกรณีเช่นนี้อีกเยอะ  ถ้าคุณเห็นว่าทหารไม่ยอมออกจากการเมือง คุณจะเห็นว่าเขาจะกลับเข้ามาอีกมากขึ้นๆ  ไม่รู้ทางออกจะเป็นอย่างไร ประชาชนคงต้องสู้ต่อไป
สุดท้าย อ.ปวินตอบคำถามผู้เข้าร่วม ถึงกรณีที่หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เป็นสิ่งผิด ประชาชนจะทำอย่างไรต่อ  อ.ปวินกล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญตัดสินเช่นนั้น และรัฐสภาเชื่อตามศาลรัฐธรรมนูญ มันเหลือโอกาสน้อยที่ประชาชนจะทำอะไรได้ นอกจากว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยลุกขึ้นต่อสู้โต้เถียงในทางกฎหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้น แต่ลึกๆ ไม่เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะทำ ทุกคนยังหลับตาและฝันหวานอยู่ในความเชื่อมั่นว่าจะมีความปรองดองเกิดขึ้น ส่วนประชาชนคงต้องสู้กันแบบ street protest(การต่อสู้ตามท้องถนน), civil disobedience (อารยะขัดขืน)  การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอนาคต ที่จะเกิดขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงมาจากมวลชนเท่านั้น คาดหวังจากนักการเมืองก็เหนื่อย ประชาชนใช้สิทธิไปแล้วในตอนเลือกตั้ง ในเมื่อไม่เป็นไปตามสิ่งที่เราคิด วิธีเดียวคือร่วมกันออกมาต่อต้าน