"มันไม่แตกหัก เหมือนรบศึกในวันนี้พรุ่งนี้หรอก นี่มันสงครามประชาชน จะใช้เวลาหลายปีและเขามีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เขาจะแข็งข้อ จะไม่ยอมฝ่ายอำมาตย์แล้ว แต่มันจะไปยืดเยื้อตรงไหนจบตรงไหน ผมไม่รู้ด้วยแล้ว"
หายหน้าไป 2 ปี หลังแยกทางกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ด้วยกัน เพราะแนวทางต่อสู้ช่วงพฤษภา 53 ที่เห็นต่างกัน วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ค่อยๆ ปรากฏตัวจนล่าสุดเพิ่งสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยทันทีที่บ้านเลขที่ 111 ได้สิทธิเลือกตั้งคืน พร้อมกับความขัดแย้งทางการเมืองที่กลับมาปะทุอีกรอบพอดี
"ที่ผมหยุดเพราะศาลสั่งไม่ให้พูด ตอนแรกคนเสื้อแดงก็ไม่พอใจผม แต่เวลาได้พิสูจน์ความเป็นจริงตอนหลังคนเสื้อแดงเขาก็สำนึกผิด เลยขอให้ผมไปขึ้นเวที และก็เรียกร้องสิ่งหนึ่งซึ่งผมให้ไม่ได้แล้ว คือขอให้กลับมาเป็นประธาน นปช. ผมบอกไม่ได้ ผมสนับสนุนอาจารย์ธิดา" วีระกานต์ เล่าความเป็นมา
"ผมได้บทสรุปในช่วง 2 ปีที่ออกไปว่า แนวทางสันติ อหิงสา เท่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าหากออกจากแนวทางก็จะมีปัญหา ทั้งปัญหาส่วนตัวและปัญหาส่วนรวม ใครนิยมใช้ความรุนแรง ในที่สุดมวลชนจะหนีจากคนคนนั้น"
ในเกมต่อสู้ชิงอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยไทยที่ร้อนระอุขณะนี้ ในศึก "อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ" มีเดิมพันอยู่ที่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่เป็นกุญแจไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน สำหรับ วีระกานต์ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นเรื่องเดิมๆที่ฝ่ายอำมาตย์พยายามใช้องค์กรอิสระ ศาล เข้าจัดการกับการเมืองไม่จบสิ้น เพื่อไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จแต่ว่ายิ่งทำก็ยิ่งยุ่ง สร้างปัญหาใหม่ซับซ้อนขึ้นประเด็นสั้นๆ คือเขาไม่ต้องการให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย
"เดิมทำท่าเหมือนจะคลี่คลาย ตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554 ที่เริ่มต้นด้วยดีในวิถีรัฐสภา แต่หลังจากนั้นกลับไม่เป็นอย่างนั้น กระดิกไปทางไหนก็เริ่มตัน หนทางถูกปิดกั้น สันติวิธีก็ลดน้อยลงไปเพราะเกิดความไม่ไว้วางใจขึ้น ผมถอดจากคำพูดของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เชื่อใจว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะมาร่างรัฐธรรมนูญแบบไหน นี่คือความคิดอำมาตย์แท้ๆ ทั้งที่เรายังไม่รู้เลยใครจะมาเป็น ส.ส.ร. แล้วทำไมต้องสันนิษฐานว่า ส.ส.ร. จะมาทำสิ่งไม่ดี ทำไมไม่คิดว่าเขาเป็นนักประชาธิปไตยบ้าง
"ถ้าศาลตั้งธงว่าเรื่องนี้กระทบต่อประโยชน์ของฝ่ายอำมาตย์แล้วต้องกำจัดทิ้ง อย่างนี้ก็เป็นศาลอำมาตย์ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของประชาชน ผมมองไม่เห็นว่าจะมีประชาชนคนใดที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญให้บ้าบอไปแบบนั้น เปลี่ยนรูปแบบการปกครองประเทศ ไม่มีสถาบันกษัตริย์เป็นประมุข ไม่มีครับเรื่องนี้นึกเอาเองทั้งนั้นฝ่ายประชาชนไม่มีใครคิดไกลไปถึงขนาดนั้น"
อดีตประธาน นปช. ระบุว่า รัฐบาลนี้มาจากการเลือกตั้งประชาธิปไตยเข้ามาบริหารประเทศ แต่ก็ยังอยู่ในโครงสร้างที่มีอำมาตย์แวดล้อมอยู่ แต่อยากเตือนว่าถ้าอำมาตย์ยังต่อต้านประชาชนผ่านเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่อย่างนี้ ก็เท่ากับขัดขวางประชาธิปไตย ดังนั้นมันก็ต้องสู้กับประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้หยุดนิ่งแล้ว
"ถ้าแก้รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ ผมว่านะ สงครามกลางเมือง คือ อนาคตของประเทศไทย มันมีการแยกประเทศกันแน่" วีระกานต์ ตอบกระชับก่อนขยายความ "เวลาคุณจะจัดการกับ 3 จังหวัดภาคใต้ คุณยังจัดการไม่ได้เลย แล้วคุณจะสู้ในขอบเขตทั้งประเทศกับนักประชาธิปไตย 74 จังหวัดได้อย่างไร"
ไม่ได้ขู่ใช่ไหม ? เจ้าตัวตอบทันที "ไม่ได้ขู่ นี่ผมอ่านสถานการณ์ ดูความร้อนแรงของคน ที่เขาระบายออกมานะ ... ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็แยกประเทศ เราต่างหากที่เคยห้ามเสมอว่า ... เฮ้ย(เน้นเสียง) พูดแบบนั้นไม่เอา เราต้องคอยห้ามตลอดเวลา แต่ว่าพอมันยาวนานเข้า เราก็ชักจะแพ้เขาในแง่ที่ว่า ฝ่ายอำมาตย์ยังไม่ต้องการประชาธิปไตย"
แล้วจุดแตกหักของการต่อสู้รอบใหม่ครั้งนี้คืออะไร ? "มันไม่แตกหักเหมือนรบศึกในวันนี้พรุ่งนี้หรอกนี่มันสงครามประชาชน จะใช้เวลาหลายปี และเขามีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เขาจะแข็งข้อ จะไม่ยอมฝ่ายอำมาตย์แล้ว แต่มันจะไปยืดเยื้อตรงไหน จบตรงไหน ผมไม่รู้ด้วยแล้ว เพราะขนาดนี้ความคิดความอ่านของประชาชนเขาก็ไปไกลพอควรเรื่องที่จะให้เขายอมผมดูแล้ว มันไม่มีทาง เขาเติบโตของเขาขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยแกนนำแล้ว"
วีระกานต์ ยังประเมินว่า การต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยขณะนี้ต้องใช้เวลา 10-20 ปี ตามวงจรของมัน ถ้านับจากปี 2549 ต้องถึงปี 2569 ถึงจะชนะกันเด็ดขาดโดยรูปแบบสันติวิธี จะไม่มีการแบ่งอำนาจกันแบบครึ่งๆ กลางๆ แน่
"ความคิดสุดขั้วมันอยู่ร่วมกันไม่ได้ คุณดูอย่างพม่าใช้เวลา 50-60 ปี ถึงจะมาเป็นประชาธิปไตยของเราเริ่มต้นดีกว่าเขา แต่เราเดินถอยหลังตอนนี้เราใช้เวลาเคลียร์ความคิดกันอยู่ว่าจะเอาประชาธิปไตยไหม หรือจะเอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือจะเอาเผด็จการอำมาตย์ มันต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอีก 20 ปี
การต่อสู้มันจะเสร็จเร็วไม่ได้หรอก เพราะไม่ใช่สงครามอาวุธ แต่เป็นสงครามความคิดสันติวิธี ปี 2569 มันจะสงบสุข คนจะรู้จัก เคารพกติกา เสียงข้างมาก มันจะถ่ายเลือดเก่าเกือบหมด แต่ถ้าเป็นเลือดใหม่ที่ไม่ได้รับรู้เหตุการณ์เชื่อมต่อก็ไม่ได้"
ถามไปว่าตัวแปรใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนถ่าย ดุลอำนาจครั้งนี้จะมีหรือไม่ วีระกานต์ ตอบว่า ถ้ามีก็อิทธิพลสากล การเปลี่ยนแปลงในอาเซียนและโลกอาหรับ อย่างเสื้อแดงที่เติบโตโดยไม่ต้องพึ่งแกนนำ แต่นัดชุมนุม นัดเลี้ยงหาทุนกันเอง ก็เป็นเรื่องการสื่อสารจากอิทธิพลข้างนอก
หลักการสร้างประชาธิปไตยอย่างถาวรในมุมมองวีระกานต์ ต้องสู้โดยสันติวิธี และขยายแนวคิดให้ได้เสียงข้างมาก ถึงจะเปลี่ยนแปลงราบรื่นถาวร ที่สำคัญต้องไม่มีการล้างแค้นกันไม่ใช่ใครขึ้นมาก็มาล้างฝ่ายตรงข้าม พอฝ่ายตรงข้ามขึ้นก็ล้างกลับ อันนี้มันไม่ใช่
แย้งไปว่ารัฐบาลเพื่อไทยถูกมองว่ากำลังเอาคืนแบบทีใครทีมัน ไม่ต่างจากฝั่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) วีระกานต์โต้ว่า เสื้อแดงยังไม่ได้กวาดล้างใครเลย เสื้อแดงปล่อยให้ทุกคนมีโอกาสปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม ก็ได้แต่พูดเท่านั้นเองว่าถ้ายังคิดจะผูกขาดอำนาจอยู่ ไม่ยอมให้ประชาชนมีเสียง มีความเสมอภาคกัน ประชาชนก็จะไม่ทนแล้ว เรายังไม่เคยกวาดล้างใคร ถ้าเป็นสมัยอื่นป่านนี้ไปล้อมที่นั่นที่นี่ วุ่นไปหมดแล้ว นี่ก็เตือนกันไว้ ดึงกันไว้ เขาก็เข้าใจ
พรรคเพื่อไทยจะยิ่งใหญ่พร้อมเสื้อแดงอีกนานแค่ไหน อดีตประธานองค์กรเสื้อแดงผู้เจนสนามการเมือง ผ่านการต่อสู้มาหลายเหตุการณ์ในอดีตให้ข้อคิดว่า ไม่มีอะไรหนีกฎอนิจจังของโลกได้ เมื่อโตขึ้นก็ต้องล้มลงแล้วลุกขึ้นใหม่
"ใจผมคิดว่ารัฐบาลนี้น่าจะอยู่ครบเทอมถ้าครบจริงๆ ก็คงไม่ฮอตจนพรรคอื่นสู้ไม่ได้และกลับมาเบ่งชนะได้อีกสมัยเดียวก็เท่านั้นการเมืองมันไม่มีหรอกที่จะใครจะไปชอบพรรคใดอย่างไม่ลืมหูลืมตา จุดใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องป้องกันคืออย่าให้เกิดเรื่องคดโกงซึ่งมันป้องกันยากด้วย และถ้าบริหารไม่ครบเทอม มีปัญหาคาใจ หรืออาจไปสะดุดนโยบายบางอย่างจนเจ๊งไป คะแนนนิยมก็ลดลงเป็นธรรมดา ไม่มีใครที่จะโตขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และระบอบประชาธิปไตยมันดีอย่างนี้ที่ว่าคนมีโอกาสที่จะกลับใจเลือกได้ แต่พวกอำมาตย์มันห่วงไปคิดว่า ถ้ามันโตแล้วพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหน พรรคประชาธิปัตย์ก็โง่ ไม่รู้จักสร้างความดีให้มาก เพราะคนก็คิดถึง ดันมาทำบ้าๆ บอๆ อย่างนี้ ในระยะใกล้แพ้แน่"
อีกเรื่องที่เจ้าตัวอยากฝากรัฐบาลคือ อย่าลุแก่อำนาจ ต้องเคารพประชาชน เช่น ถ้าพันธมิตรฯ อยู่ในกรอบกฎหมายก็ต้องดูแลเขาด้วย อย่าคิดว่าเขาเป็นศัตรูกับประชาชนจนกว่าเมื่อเขาละเมิดกฎหมายและก็ต้องมีลำดับในการเตือน จนถึงขั้นตอนการจับกุมดำเนินคดี อย่าไปปราบปรามประชาชน หรือจัดการโดยไม่มีขั้นตอน ถ้าทำไปก็เจ๊ง ยังไงรัฐบาลก็ต้องดีกับประชาชน
"มันไม่แตกหัก เหมือนรบศึกในวันนี้พรุ่งนี้หรอก นี่มันสงครามประชาชน จะใช้เวลาหลายปีและเขามีความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น เขาจะแข็งข้อ จะไม่ยอมฝ่ายอำมาตย์แล้ว แต่มันจะไปยืดเยื้อตรงไหนจบตรงไหน ผมไม่รู้ด้วยแล้ว"
เอกซเรย์แดง
ขบวนการเสื้อแดงแตกหน่อใหญ่โตวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ยุคแรกแดงทั้งแผ่นดิน มองการเติบโตของมวลชนว่า ปรากฏการณ์ขยายตัวของกลุ่มเสื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัด ชี้ชัดว่าพลเมืองเสื้อแดงได้ก้าวข้ามแกนนำไปแล้ว
สภาวะแดงหลายเฉดสี ประธาน นปช.รุ่นบุกเบิกผู้นี้ยังคงตอกย้ำว่า กลุ่มแดงสยามและแดงก้าวหน้าอยู่คนละขั้วกับแดง นปช.
"เราประกาศแล้วว่าเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา เขาอาจมานั่งฟังเราพูด แต่เราไม่ให้ขึ้นเวทีอย่างแดงสยามบอกเลยว่า ไม่ใช่ นปช. นะ หรือแม้แต่ไอ้ เสธ.แดง มันก็มีกลุ่มของมัน เราประกาศไปตั้ง 3 หนว่า เสธ.แดง ไม่ใช่ นปช. จนเกิดเหตุการณ์ผลักอกกระทืบกันไปรอบหนึ่ง"
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเดียวที่ทำให้แดงทุกเฉดสีมารวมกันได้โดยไม่ต้องนัดหมาย คือ เมื่อเกิดปัญหากับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถ้าถึงจุดที่ต้องชี้ขาดเมื่อใดไม่ว่าแดงสยาม หรือแดง นปช. ก็จะมารวมตัวกัน รวมถึงสีอื่นที่เป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็จะมาร่วมด้วย
ถามไปว่า มีกลุ่มแดงล้มเจ้า มีจริงหรือไม่ วีระกานต์ ตอบไม่อ้อมค้อม "มี แต่นิดเดียว แล้วเขาก็เปิดเผย" ก่อนเจ้าตัวย้อนเราว่า แหมไม่เห็นน่าถามเลย
ซักต่อว่าแล้วเขาล้มเจ้าแบบไหน ? "ก็ล้มโดยวิธีด่า ขณะนี้ก็ด่าอยู่ แต่พวกวิจารณ์ก็เป็นอีกพวกหนึ่งนะ ไม่ถือว่าเป็นแดงล้มเจ้า คนที่ด่าก็มีกลุ่มคนคอยติดตามฟังอยู่ทหาร ตำรวจ ก็รู้ แต่เขาอยู่ไกลอาจจะจับไม่ได้แต่เขาด่าตรงๆ เลย และก็มีแฟนๆ ที่ฟังเขาอยู่ก็ว่าไปซิ เราไม่ไปยุ่งกับเขา เป็นหน้าที่บ้านเมืองต้องจัดการกับเขา แต่ที่เราเห็นคือ เจ้าหน้าที่ กลับไปจัดการกับกลุ่มแดงวิจารณ์สถาบัน มองเขาว่าเป็นตัวร้าย ไม่เห็นไปจัดการกับแดงจริงๆที่ด่าโครมๆ เลย
"แดงที่วิจารณ์ เขามุ่งหวังทำให้สถาบันมั่นคงขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้นดูอย่างควีนอังกฤษ ทำไมเขาถึงจงรักภักดีกัน เพราะเขาเปิดให้วิจารณ์ได้ในสังคมอังกฤษลูกเขาแต่งงานขนาดไหนล่ะ 60 ปีครองราชย์ งานของควีนก็น่ารักที่สุด
เหลือบแดงมีไหม เพราะขบวนการเสื้อแดงใหญ่มากเกินกว่าจะดูแล ? อดีตประธาน นปช. ร้องทันที "โอ้ย แน่นอน...ขณะนี้ก็แย่อยู่แล้ว ผมเพิ่งประกาศวันนั้นเอง มันต้มประชาชนก็มี สมัครเป็น นปช. 500 แล้วไปบอกว่าจะได้ของต่างๆ โม้ไปสารพัดว่า ถ้าได้เลขที่บัตร นปช. แล้ว จะกู้เงินธนาคารได้เท่านั้นเท่านี้ ไม่ต้องจ่ายด้วย อะไรก็ว่าไป ... โกหกไปเรื่อยเป็นธรรมดาขององค์กรใหญ่ ที่มักจะมีจุดอ่อนตรงนี้แต่ชาวบ้านก็ยังสมัคร แต่พอเรารู้ เราก็พูดฝ่ากลางวงไปเลยว่า นปช. ไม่ทำกันอย่างนั้น ในภาคใต้ขณะนี้ยังทำ เพราะมีคนสมัครเป็นแดงเยอะ"
เสื้อแดงที่แตกกันเองในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อแดงหลายกลุ่มต่างลงแข่งชิงเก้าอี้กันเองในจังหวัดเดียวกัน วีระกานต์ ยอมรับว่า ปัญหานี้มาจากการตัดสินใจผิดพลาดที่แกนนำประกาศจะต้องส่งคนเสื้อแดงลงเลือกตั้งท้องถิ่น เมื่อนปช.ไปหาเสียงช่วยแดงกลุ่มหนึ่ง ทำให้เสียแดงอีกข้างหนึ่งไป
"ผมบอกพวกเขาไปว่า เราอย่าทำเลย แบบนี้เลิกเถอะ เพราะงานของ นปช. คือ ทำเรื่องส่วนรวม คือ ประชาธิปไตย อย่าไปเล่นท้องถิ่นถ้าลงไปในท้องถิ่น คนก็แตกแยก เราก็จะไม่เข้มแข็ง อย่าไปเที่ยวโม้ว่า โอ้โหตอนนี้มีเสื้อแดงเป็นนายกเทศมนตรี 70 คน...บ้า ไม่ถูกเรื่องถ้าเสื้อแดงยังเล่นท้องถิ่น แค่ 2 ปีก็พัง"
เพราะอะไร ? ... "ก็จะได้ศัตรูไง เรื่องง่ายๆ""คุณจะไปรู้เรื่องท้องถิ่นได้อย่างไรคุณเป็น นปช. อยู่กรุงเทพฯ จะไปรู้ดีกว่าชาวบ้านในพื้นที่ได้อย่างไร รู้หรือว่าตำบลนี้นาย ก. หรือนาย ข.ดีกว่าที่จะมาเป็นนายกเทศมนตรีของเขา ดังนั้นจะไปถือหางใครไม่ได้ ปล่อยให้สู้กันไปเลย ต้องบอกกับพี่น้องในท้องถิ่นว่า ชอบใจใครก็เลือกเอาใช้สิทธิตัดสินใจเอง เพราะ นปช.อยู่ไกลเหตุการณ์เกินกว่าจะไปการันตีได้ว่าคนที่เราส่งไปดีจริงหรือไม่ จะแพ้หรือชนะก็ยังเป็นแดง แล้วค่อยมาร่วมกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยกัน" อดีตประธาน นปช. เสียงเข้มพลางว่า
"เราไปการันตีได้ไง คนที่เราส่งมันดี แม้กระทั่ง ส.ส. เราก็ไม่ควรไปยุ่งกับเขา แต่ใครสมัคร ส.ส. เราก็ควรสนับสนุน แต่เสื้อแดงอย่าไปกำหนดว่า (ขึ้นเสียง) พรรคต้องส่งแดง ถ้าไม่ส่งแดงมีเรื่องอย่างนี้ผิดหน้าที่เรามีหน้าที่สร้างประชาธิปไตย ไม่ใช่ไปหา ส.ส."
เขาบอกว่า คนเสื้อแดงไม่ควรรวมตัวกันแล้วบีบบังคับให้ส่งนาย ก. ลงเลือกตั้ง แบบนี้ไม่เรียกว่า "ไพรมารีโหวต" แต่เรียกว่า "มัดมือชก" เสื้อแดงต้องไม่ทำ ถ้าไม่รับฟังก็ไม่ว่าอะไรแต่มันจะนำความพังมาสู่ นปช.ด้วย
มึน ! ปรองดอง
มีส่วนได้เสียเพราะเป็นคู่ขัดแย้งในเหตุการณ์ปี 2553 วีระกานต์ จึงไม่มีความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง เขาบอก จะขออยู่เฉยๆ สภาจะเอาอย่างไรก็ว่าไป
"ไม่ออก พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ไม่เห็นเป็นไรแต่ถ้าเขาจะออกมา เราก็ไม่คัดค้าน เขาจะให้ประโยชน์ใครบ้าง เว้นใครบ้าง ก็แล้วแต่ แต่ถ้าคุณทักษิณได้แล้ว สังคมไทยสงบก็ควรทำ"
"เรื่องคุณทักษิณเป็นเรื่องคนคนเดียวมันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตผมไม่คิดว่าจะไปตั้งโจทย์ให้มันใหญ่ขึ้นมาทำไม เรื่องนี้ต้องถามคนไทย 65 ล้านคนว่าจะเอาอย่างไร ตรงนั้นสำคัญ"
อย่างไรก็ตาม วีระกานต์ ยอมรับว่าการเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับ "บิ๊กบัง"หรือฉบับเสื้อแดง หลายคนไม่รู้เรื่องมาก่อนรวมถึงตัวเขา ปัญหาเกิดจากการเดินเกมของพรรคเพื่อไทยที่ไม่หารือใครจึงเกิดภาพวุ่นวายอย่างที่เห็น
"อยากติงว่า การเสนอปุ๊บปั๊บ ไม่ปรึกษาใคร อันนี้ไม่เหมาะ ความจริงถ้าจะเสนอวันนั้นต้องมีการคุยกันก่อน พวกเราก็เพิ่งมารู้จากข่าว อ้าว...เสนอแล้วหรือใครเสนอ อ่าวเป็น พล.อ.สนธิ อันนี้มันค่อนข้างรวบรัดไปนิดนึง"
"พรรคเพื่อไทยก็เลยเสนอร่างฯเข้าประกบไง 2-3 ร่างฯ มันก็แสดงว่าไม่ได้ปรึกษาเหมือนกัน นี่ไง การทำงานของพรรคการเมืองก็ขาดประสิทธิภาพ ที่ไม่คุยกันก่อน"
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 1 ใน 4 ร่างฯ ที่เสนอรวมไปนั้น วีระกานต์ บอกเช่นกันว่า ไม่มีส่วนร่างฯ และไม่รู้เรื่องจริงๆเพราะไม่ได้หารือกันมารู้อีกทีตอนเขาเสนอร่างฯ
"เรายังมีจุดยืน เอาฆาตกรมาลงโทษให้ได้ ถ้าไม่ใช่วิธีนี้ ก็ทำได้อีกหลายวิธี แต่สุดท้ายผมว่าการปรองดองมันต้องจบที่เจรจากัน" การออก พ.ร.บ.ปรองดอง จะเกิดขึ้นได้อย่างไรเมื่อมีม็อบคัดค้านและใช้วิธีปิดล้อมไม่ให้ ส.ส. มาประชุมสภาได้ เพราะเห็นว่าทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ประเด็นนี้ วีระกานต์ มองว่าความจริงที่คนเสื้อเหลืองปิดล้อมเป็นกลุ่มคนนิดเดียว ไม่ได้มากมายอะไร และการปิดสภาก็ผิดมาตรา 113 ของกฎหมายอาญา รัฐบาลก็ต้องรักษากฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ รัฐบาลนี้เมื่อมาจากการเลือกตั้ง ถ้าไม่รักษากฎหมายก็ไม่ควรอยู่ ก็เหมือนพวกเสื้อแดงรังเกียจรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ไม่ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ จนเกิดสองมาตรฐาน
"ถ้าการชุมนุมโดยไม่สกัดกั้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กลุ่มคนนั้นผิดกฎหมายมาตรา 113 แน่ ไปอ่านดูบ้างซิ ไม่ใช่อ่านแต่มาตรา 112" วีระกานต์ ทิ้งท้ายว่า ถ้ายื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง สมัยนี้ไม่ทัน ก็ไว้สมัยหน้า ซึ่งอีก 1-2 เดือนก็มาแล้ว เชื่อว่ากระบวนการสภาไปได้ ไม่มีปัญหา