พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์: พรรคการเมืองอ่อนแอ...ชอบแบบนี้กันไม่ใช่เหรอ ?

คมชัดลึก 21 มิถุนายน 2555 >>>




ท่ามกลางบรรยากาศพักรบ (แต่ไม่พบรัก) ทางการเมืองในช่วงนี้ ก็คงจะมีเรื่องต้องทบทวนกันเพื่อจัดกระบวนทางการเมืองกันเสียใหม่ ประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่องของพรรคการเมืองนั่นแหละครับ
แต่ก่อนจะเข้าเรื่อง ผมก็อยากจะย้ำคำคมการเมืองของผมสักข้อหนึ่ง นั่นก็คือ
อะไรเอ่ย เลือกตั้งสิบปีก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล ?
อะไรเอ่ย เลือกตั้งชนะทุกครั้งในรอบสิบปี แม้จะได้เป็นรัฐบาล แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ?
ก็ต้องย้ำอีกทีครับว่า จำนวนไม่ใช่คำตอบ คำตอบอยู่ที่เครือข่าย
แต่ไม่ได้หมายความว่าคำตอบอยู่ที่เครือข่ายแล้วจบ เรื่องนั้นฝรั่งเขาเขียนกันมาหลายปีแล้ว ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่เครือข่ายนั้นทำงานอย่างไรเสียมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิดแบบง่ายๆ แต่หมายถึงความสามารถในการเชื่อมโยงปฏิบัติการร่วมกันและการสื่อสารกับสังคมต่างหาก (อุบไว้แค่นี้ก่อน เดี๋ยวไว้เขียนยาวๆ เป็นระยะครับ)
ทีนี้มาเข้าเรื่องพรรคการเมืองกันต่อดีกว่าครับ ผมแค่อยากจะย้ำว่าถ้าเรามีศรัทธาต่อการเลือกตั้ง ก็อย่าเพิ่งรีบร้อนประณามความไร้น้ำยาและความห่วยแตกของพรรคเพื่อไทย หรือแอบสะใจกับพฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์กันนัก
เพราะนั่นคือการก้าวกลับสู่สภาวะก่อนการปฏิรูปการเมืองครั้งแรก เมื่อสิบห้าปีก่อน นั่นก็คือ การมีอคติว่านักการเมืองมันชั่ว มาจากการซื้อเสียง และพรรคการเมืองนั้นเป็นศูนย์รวมของความชั่วร้าย (ทุกฝ่ายแหละครับ)
คำถามที่สำคัญก็คือ ถ้าเรารังเกียจนักการเมืองขนาดนี้ ก็อย่าลืมนึกดีๆ นะครับ ว่ามีใครบ้างที่ "ทำหน้าที่นักการเมือง" ในฐานะ "ตัวแทนของเรา" ที่ไม่ได้มีชื่อว่าเป็น "นักการเมือง" บ้าง ? แล้วลองคิดสิครับว่ามีองค์กรหรือสถาบันไหนบ้างที่ทำหน้าที่ "พรรคการเมือง" บ้าง ?
บางทีต้องลองคิดนะครับว่า นักการเมืองน่ะ อย่างน้อยก็ถูกด่าได้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ยิ่งประชาชนด่านักการเมืองแล้วไม่ถูกฟ้อง หรือสื่อถูกนักการเมืองฟ้องส่วนใหญ่ก็ประนีประนอมยอมความกัน
เรื่องต่อมา ในกรณีของพรรคเพื่อไทยนั้น ผมคิดว่ามีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของเขาเอง
คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะด่าทอว่าพรรคเพื่อไทยนั้นไม่ได้มีลักษณะอะไรที่เป็นพรรคการเมืองที่พึงปรารถนาสักกะนิด
เริ่มจากคุณภาพของสมาชิกพรรคที่เหลือรอดจากการโดนยุบไปสักสองที และไม่นับข่าวคราวการแย่งชิงวิ่งเต้นกันมาตั้งแต่ชนะการเลือกตั้ง แถมระดับหัวหน้าพรรคที่แทบจะต้องลุ้นกันรายวันว่าจะมีชีวิตทางการเมืองได้อีกกี่วัน
แต่บางเรื่องก็น่าแปลกใจ เพราะในยุคหนึ่งเห็นมีการพยายามจะไล่จับให้ได้ว่าคุณทักษิณเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริงใช่หรือไม่ แต่เดี๋ยวนี้เหมือนจะไม่มีใครสนใจเรื่องนี้กันอีกแล้ว
เอาล่ะครับ ทีนี้มาดูเรื่องที่ท้าทายหน่อย ประเด็นก็คือ พรรคเพื่อไทยนั้นจะมีอนาคตหรือไม่ แล้วบรรดากองเชียร์ทั้งหลายจะทนพรรคเพื่อไทยได้นานแค่ไหน
ในอีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางเกมการเมืองในการพยายามล้มพรรคและยุบพรรคกันทุกฝ่าย เราจะสามารถคาดหวังให้พรรคการเมืองทำหน้าที่อะไรได้บ้าง (หรือเราเชื่อว่าเราสามารถวางกฎกติกาในการกำกับนักการเมืองได้ถึงขนาดนั้นเลย ? หรือว่าเราใช้วิธีแบบเป่ายิ้งฉุบไปเรื่อยๆ คือจับนักการเมืองชนทหาร แล้วเอาอย่างอื่นมาชนต่อไปเป็นวงกลม)
สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ ว่าอนาคตของพรรคเพื่อไทยนั้นจะเป็นอย่างไรกันบ้าง (ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่น่าห่วงกว่าที่เขาห่วงกัน เพราะอย่างน้อยยังมีแฟนพันธุ์แท้และสมาชิกพรรคอยู่มาก สรุปว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่น่าห่วงในฐานะพรรค แต่มีเรื่องท้าทายว่าจะเป็นรัฐบาลได้ไหม ซึ่งก็อาจไม่ได้แปลว่าจะมีอำนาจไม่ได้... จริงไหมครับ ?)