โกร่ง ศาลหลักเมือง: ทางออกของปัญหาขัดแย้งเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แนวหน้า 28 มิถุนายน 2555 >>>




แม้ว่าประธานรัฐสภาจะเห็นชอบในการเลื่อนการลงมติในวาระ 3 ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งร้องขอมา เนื่องจากศาลรั{ธรรมนูญได้มีคำสั่งรับคำร้องของคณะบุคคลที่ยื่นตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 1และวาระ 2 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามความหมายของมาตรา 291และศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนคำร้องในเรื่องนี้ในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคมนี้
การไต่สวนคำร้องเป็นกระบวนพิจารณาของศาล อาจกล่าวได้ว่า ศาลทุกประเภทและของทุกประเทศในโลกนี้ ปกติถือว่า การไต่สวนคือกระบวนพิจารณาโดยเปิดเผยที่ให้คู่ความนำพยานหลักฐานมาสืบ ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ เพื่อโน้มน้าวให้ศาลเชื่อในข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่ตนอ้างมาในคำฟ้อง คำร้อง หรือคำให้การต่อสู้
สำหรับคดีนี้จากข่าวทางสื่อมวลชน ผู้ร้องอ้างว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นนี้ เป็นการกระทำที่ต้องการล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยใช้มาตรา 291 เป็นเครื่องมือซึ่งมาตรา 291 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับไปมอบอำนาจให้คณะบุคคลที่เรียกว่า ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมีเงื่อนไขแต่เพียงว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง บทบัญญัติในหมวด 1 และหมวด 2 (ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และบทบัญญัติที่ว่าด้วยสถานะขององค์พระมหากษัตริย์)
เมื่อมีคำร้องเช่นนี้ ก็เป็นหลักของศาลทั่วโลกว่าต้องส่งคำร้องนั้นให้อีกฝ่ายที่ถูกร้องว่า จะต่อสู้หรือแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร ซึ่งกระบวนการที่เรียกว่าคำให้การนี้ สำคัญมากเช่นกัน เพราะในทางกฎหมายวิธีพิจารณาเรียกว่า เป็นการสร้างประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย ในระบบกฎหมายของบางประเทศเช่นสกุลกฎหมายคอมมอนลอว์ ซึ่งใช้ระบบกล่าวหา (accusatorial system) หากไม่ยื่นคำให้การ ศาลอาจพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องได้เลย แต่สำหรับวิธีพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญของเราท่านบอกว่าใช้ระบบไต่สวน (inquisitorial system) ระบบนี้ให้อำนาจในการที่ศาลจะค้นหาความจริง ดังนั้นจึงเป็นดุลพินิจของศาลว่า ท่านจะให้มีการสืบพยานมากน้อยเพียงใด
แต่ข่าวคราวที่ปรากฏจากสื่อมวลชนที่ผู้เขียนติดตาม ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเดินหลงทาง หรืออาจเป็นไปในแบบ Let It Be อะไรจะเกิดก็ช่างมัน จึงเน้นการต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก
การต่อสู้มี 2 แบบ คือ แบบแข็งกร้าว กับ แบบนุ่มนวล ผู้เขียนขอพูดถึงแบบนุ่มนวลก่อน แบบนี้พรรคเพื่อไทยก็เดินตามระบบคือ มีการยื่นคำให้การตามกระบวนการ แต่เป็นคำให้การชนิดที่ต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญ คือ ยืนกระต่ายขาเดียวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ไว้พิจารณา และคนที่เขียนคำให้การก็คือ บรรดา เนติบริกร ทั้งภาครัฐ และภาคพรรคการเมือง โดยมีเสียงสนับสนุนของนักกฎหมายภาควิชาการจากรั้วมหาวิทยาลัย บุคคลที่รัฐบาลและหรือรัฐสภาใช้เป็นทนายแก้ต่างก็คือนักกฎหมายชุดเดียวกันกับในตอนแรกที่ยุให้รัฐสภาและรัฐบาลเดินหน้าโหวตในวาระ 3 ก็ชุดนี้นั่นแหละที่บอกว่าต้องเดินหน้าโหวตวาระ 3 เพื่อผลักนายกฯปูเข้าไปใน killing zone
การวิเคราะห์ของผู้เขียนแม้จะมาจากสื่อซึ่งเป็นพยานบอกเล่า แต่ก็สอดคล้องกับคำกล่าวของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า “เท่าที่ดูตอนนี้ ไม่เห็นเขาออกมาปฏิเสธเลยสักคน เป็นคู่ความประสาอะไร โจทก์ฟ้องจำเลย แทนที่จะไปสู้กับโจทก์เพื่อแก้ข้อกล่าวหา แต่กลับมาสู้กับศาล แล้วจะชนะคดีได้อย่างไร ทนายไม่บอกหรือไง”
ท่านประธานศาลรัฐธรรมนูญยังใจดีชี้แนะให้เห็นอีกว่าเขากล่าวหาว่าอย่างไร “รัฐสภาเขาขายขาด (ให้ส.ส.ร. ไปทำ) ไม่รับคืน คือเป็นการแก้ไขที่เปลี่ยนวิธีการแก้ ไม่ใช่การ แก้ทีละมาตราแต่แก้ที่เดียวเลยตั้งแต่มาตรา 1 จนถึงมาตรา 300........ที่บอกว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 หมวด 2 แล้ว ถ้าเขาแตะขึ้นมาจะทำอย่างไร.....ถ้าประธานรัฐสภาไม่ส่งเข้ารัฐสภาแล้วเอาไปลงประชามติเลย จะมีผลไหมเรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครอง”
ประธานศาลรัฐธรรมนูญพูดจามาชัดเจนอย่างนี้ แต่บรรดาเนติบริกรก็คงต่อสู้หัวชนฝาว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจ เคยคิดบ้างไหมว่า มีศาลไหนบ้างกลับคำวินิจฉัยของตนเองที่บอกว่ามีอำนาจ แล้วกลายเป็นไม่มีอำนาจ
กลับมาเรื่องของพวกแข็งกร้าวหรือพวกฮาร์ดคอร์บ้างพวกนี้คิดอย่างเดียวว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงวินิจฉัยไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเจ้าของร่างรัฐธรรมนูญแน่ๆ และอาจนำไปสู่การยุบพรรค ดังนั้นพวกนี้จึงทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่ตุลาการ ตลอดจนบุคคลในครอบครัวให้หวาดกลัว ซึ่งพฤติกรรมคนเหล่านี้ปรากฏผ่านสื่อเป็นรายวัน
ไม่ว่าการต่อสู้จะเป็นแบบนุ่มนวลหรือแบบแข็งกร้าวแต่ก็มีเป้าประสงค์อันเดียวคือ ต้องการผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ได้และโดยเร็วที่สุดโดยจะหาเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่เหมาะสม
พรรคเพื่อไทยคงฝันหวานว่า หากทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว เช่นที่พยายามทุกวิถีทางที่จะแสดงให้เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องนี้ก็ดี เพื่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ดี หรือสร้างมวลชนมาก่นด่าว่าศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาคดีไม่ถูกต้อง หรือไม่ถูกใจก็ดี แล้วปัญหาจะหมดไป
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยจ๋า เช่น สหรัฐอเมริกาก็มีหลายครั้งที่ศาลมีคำพิพากษาไม่ถูกใจฝ่ายบริหารหรือแม้แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่พอใจ ประธานาธิบดีบางคนหรือผู้ว่าการมลรัฐ เคยบอกว่า ศาลจะตัดสินอย่างไรก็เชิญ แต่ฝ่ายบริหารจะไม่ปฏิบัติตามเสียอย่างใครจะทำไม แต่ในที่สุดคำพิพากษาของศาล ก็ได้รับการยอมรับโดยไม่มีใครกล้าขัดขืน
แต่สำหรับประเทศไทยแล้วเรามีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นองค์พระประมุขซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นพระราชอำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมายที่มีการนำเสนอเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย (และเป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรา 150 และมาตรา 151 นี้ไม่ได้อยู่ในหมวด 1 หรือ หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเขาเป็นห่วง)
ผู้เขียนขอเตือนว่า การหักดิบด้วยการเดินหน้าลงมติวาระ 3 ไม่ว่าการหักดิบนั้นจะมีขึ้นหลังศาลมีคำวินิจฉัย หรือหักดิบก่อนที่ศาลจะวินิจฉัย ปัญหาที่รัฐบาลนายกฯปูจะต้องเดินสู่แดนประหาร หรือ killing zone ไม่มีวันหมดไป เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 150 และมาตรา 151 นายกฯปูจะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และแน่นอนว่า ร่างกฎหมายที่มีปัญหาของความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยเช่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงยากอย่างยิ่งที่จะผ่านด่านต่างๆ ก่อนที่จะถึงพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
ส่วนกองเชียร์ที่ยุยงส่งเสริมให้เดินหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญนั้นควรต้องได้คิดว่าท่านอาจกดดันสถาบันใดๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ที่นี่เมืองไทย ถ้าความกดดันนั้นมีขึ้นไปถึงสถาบันเบื้องสูง ผู้เขียนยังนึกภาพไม่ออกว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง
อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่า ปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออกเสมอถ้าทุกฝ่ายรู้จักการประนีประนอม ซึ่งกระบวนพิจารณาในศาลนั้นเปิดช่องให้คู่กรณีหาทางยุติข้อพิพาทด้วยดีได้เสมอ ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาวาระ 1 และ 2 มาแล้ว แต่ก็อยู่ในวิสัยที่ผู้รู้จะหาช่องทางนำกลับไปพิจารณาทบทวนแก้ไขได้ หรือจะมีกระบวนการอย่างไรก็แล้วแต่ที่แสดงออกให้เห็นว่าเมื่อ ส.ส.ร. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ร. ร่างมาไม่ได้ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยและไม่ได้กระทบถึงสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ส่วนองค์กรที่จะตรวจสอบก็ควรเป็นศาลรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน
แต่ถ้านายกฯปูอยากเดินเข้าไปใน killing zone ทั้งที่เคยถอยมาแล้ว ก็คงสะใจคนร้องเพลง Let It Be ที่เขมร