ประชาธิปไตย 80 ปีเปลี่ยนไม่ผ่านทางแยกที่ต้องเลือก

โพสท์ทูเดย์ 23 มิถุนายน 2555 >>>


   "ทั้งสองปมนี้จะเดินควบคู่กันไป แม้ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะมุ่งไปเรื่องของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดองก็ตาม เกมนี้คงลากกันไปอีกนาน"
1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร
หลัก 6 ประการข้างต้นคือใจความสำคัญในประกาศคณะราษฎร เพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ของคณะราษฎรถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิ.ย. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย
จาก พ.ศ. 2475-2555 รวมเวลา 80 ปีพอดี ในวันที่ 24 มิ.ย. 2555 พบว่าประชาธิปไตยไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านมาหลายยุคสมัยตามคำจำกัดความทางวิชาการอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “เผด็จการทหาร” “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” “ประชาธิปไตยเต็มใบ” “ระบบเผด็จการนายทุน”
นอกจากนี้ ยังผ่านเหตุการณ์ความรุนแรง เสียเลือดเนื้อเพื่อสนองอุดมการณ์ประชาธิปไตยนับครั้งไม่ถ้วนแต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร สุดท้ายคำถามใหญ่ของประชาธิปไตยตลอด 80 ปี คือ “ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์หรือไม่”
ในวาระครบรอบ 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 “โพสต์ทูเดย์” ได้มีโอกาสสนทนากับ “ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมากในแวดวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย เพื่อร่วมกันหาคำตอบและทบทวนว่า 80 ปีที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย และนับจากนี้ไปอนาคตประชาธิปไตยไทยจะไปในทิศทางใดท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันอ.ชาญวิทย์ อธิบายว่า ตลอด 80 ปี ประชาธิปไตยไทยล้มลุกคลุกคลานเป็นอย่างมาก การเมืองเก่าแนวอนุรักษนิยมยังคงมีอิทธิพลสูง ทำให้ประชาธิปไตยไม่เกิดการเปลี่ยนผ่านที่ลงตัว กลายเป็น “เปลี่ยนยังไม่ผ่านมากกว่า” การเปลี่ยนผ่านที่แท้จริง คือ ต้องมีความเป็นประชาธิปไตย ต้องมีหลักสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค แต่ปัจจุบันนี้กลับเกิดความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุดในรอบ 80 ปี
   “ถึงสิทธิเสรีภาพจะรองรับด้วยรัฐธรรมนูญกว่า 10 ฉบับที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีความหมาย เพราะยังเกิดวาทกรรมเถียงกันตลอดเวลาว่าด้วยเรื่องสองมาตรฐาน ไพร่ อำมาตย์ แสดงว่าเป็นปัญหาของความเสมอภาค จะเรียกว่าสงครามชนชั้นหรือไม่ก็แล้วแต่ใครจะมอง แต่เราเห็นว่าตอนนี้เกิดการต่อสู้
รุนแรงมาก”
เพื่อให้เกิดความเข้าใจโดยง่าย อ.ชาญวิทย์ ได้อธิบายเปรียบเทียบความขัดแย้งระหว่างในปัจจุบันกับช่วง พ.ศ. 2475 ว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความขัดแย้งรุนแรงมากกว่าท่านปรีดี พนมยงค์ ขัดแย้งกับกลุ่มทหารในคณะราษฎร เพราะเป็นความขัดแย้งในระดับบนระหว่างกลุ่มชนชั้นนำด้วยกันเอง แต่ปัจจุบันเป็นความขัดแย้งในระดับล่าง ส่งผลให้เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองอย่างที่เห็นอยู่
   “ความปั่นป่วนแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อน ยิ่งกว่าสงครามกลางเมืองในสมัยกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ด้วยซ้ำไป ดูด้วยตาก็เห็น กบฏบวรเดชครั้งนั้นเป็นสงครามกลางเมืองก็จริง แต่ความขัดแย้งจำกัดเฉพาะคนชั้นสูงระหว่างทหารของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นผู้ดูและมีส่วนเกี่ยวข้องน้อยมาก ไม่เหมือนกับสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา แต่ว่าตอนนี้น่ากลัวกว่าตอนนั้นอีก ทุกอย่างจะกระทบไปหมด”
80 ปีที่ผ่านมา ยังไม่สามารถมีประชาธิปไตยในอุดมคติได้เพราะอะไร ? อ.ชาญวิทย์ ตอบว่า ปัญหาประชาธิปไตยของคนข้างบน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเก่า ผลประโยชน์มีมหาศาล พูดง่ายๆ แค่เรื่องการเสียภาษีก็ชัดเจนแล้ว ทำไมเราถึงไม่มีระบบภาษีก้าวหน้าเพื่อการทำนุบำรุงประเทศ
   “ถ้าเราไปดูในประเทศประชาธิปไตยที่เป็นมาตรฐานของโลก เช่น ยุโรปตะวันตก อังกฤษ จะพบว่าเก็บภาษีก้าวหน้าแรงมากๆ ไม่ใช่ว่าคุณไม่ต้องทำอะไร หรือคุณเกิดมาปุ๊บก็ได้มรดกแล้ว ดังนั้นความมั่งคั่งยังกระจุกอยู่ที่ชนชั้นสูง คนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ดูได้จากการศึกษาของ ศ.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ถ้าคนที่เสียเปรียบยอมรับในชะตากรรมนั้นก็คงไม่เป็นไร แต่ปัจจุบันเขาไม่ยอมรับชะตากรรมนั้นแล้ว”
อ.ชาญวิทย์ ขยายความเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่ไม่ยอมรับชะตากรรม ว่า สะท้อนได้จากงานวิจัยทางวิชาการหลายฉบับที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงไปศึกษากลุ่มคนเสื้อแดง จะเห็นว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อเรื่องคนยากจนในชนบทไร้การศึกษา ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกไม่มีอีกแล้ว เดี๋ยวนี้มีร้านอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้านห่างไกล บางหมู่บ้านยังไม่มีถนนลาดยาง แต่มีอินเทอร์เน็ตแล้ว
   “โลกใหม่มาแล้ว แต่คนจำนวนไม่น้อยยังอยู่กับโลกเก่า เหมือนกับว่าเราอยู่ในกรอบของขวานทอง เรามองไม่เห็นว่ากัมพูชาเป็นอย่างไร เวียงจันทน์เป็นอย่างไร เหมือนมีโครงสร้างส่วนบนครอบอยู่ ผมถึงไม่เห็นด้วยกับคำว่าประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เราไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย แม้เราจะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”ถ้าไม่ใช่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันจะเรียกว่าอะไร ? อ.ชาญวิทย์ อธิบายว่า จะให้เรียกกันจริงๆ คงต้องใช้คำของ อ.ปรีดี ว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “Constitutional Monarchy” หมายความว่ายังมีสถาบันกษัตริย์อยู่ แต่เป็นลักษณะอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เพราะเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยที่เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2475 คือมีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในวงจำกัด
   “คณะราษฎรจะใช้คำว่า ‘กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ’ แต่รัชกาลที่ 7 ใช้คำเพื่อความประนีประนอมว่า ‘กษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ’ หรือ ‘กษัตริย์โดยรัฐธรรมนูญ’ ก่อนถูกแปลงภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนมีคำว่าประชาธิปไตยแบบไทยและประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นับเป็นการต่อสู้กันทางแนวความคิดประชาธิปไตยไทยนานถึง 80 ปี กระทั่งมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประชาธิปไตยไทยแล้วในตอนนี้”
จากคำว่าหัวเลี้ยวหัวต่อของประชาธิปไตยไทย ทำให้เกิดคำถามว่า “หัวเลี้ยวหัวต่อในที่นี้คืออะไร ?” อ.ชาญวิทย์ ไขคำถามด้วยการตอบว่า เป็นจุดที่มาถึงการมาถกเถียงกันว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ถ้าเชื่อในทฤษฎีราชาธิปไตย สมัยอยุธยา สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็จะได้คำตอบแบบหนึ่ง แต่ถ้าเชื่อในแง่ของระบอบประชาธิปไตยและการปฏิวัติ 2475 ก็จะได้คำตอบว่าเป็นของประชาชนอนาคตทศวรรษหน้าของประชาธิปไตยไทยในมุมมองของ อ.ชาญวิทย์ เชื่อว่า จะมีปมขัดแย้งสำคัญ 2 ส่วน คือ
1. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในฐานะเป็นรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร และ
2. การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
   “ทั้งสองปมนี้จะเดินควบคู่กันไป แม้ว่านักการเมืองส่วนใหญ่จะมุ่งไปเรื่องของรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ปรองดอง ก็ตาม เกมนี้คงลากกันไปอีกนาน โดยผมเชื่อว่าเวลาในโลกปัจจุบันมันเร็วมากๆ มีคนอีกรุ่นหนึ่งเกิดขึ้นมา ผมมองประวัติศาสตร์โดยเปรียบเทียบว่าคนที่ยึดอำนาจในสมัย 2475 มีอายุเฉลี่ย 30 ปีต้นๆ คนที่ถูกยึดอำนาจซึ่งเป็นเสนาบดีของรัชกาลที่ 7 เฉลี่ยอายุ 60 ปี ถ้าเอาอายุมาเทียบกันมันต่างรุ่นกัน คิดคนละแบบ ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน”

เชื่อ ‘เสื้อแดง’ ทิ้ง ‘ทักษิณ’

เมื่อได้รับคำตอบว่าปัญหาประชาธิปไตยที่ผ่านมา คือ ความเหลื่อมล้ำ จึงกลายเป็นคำถามว่า ทำไมประวัติศาสตร์พรรคการเมืองทั้งแบบอ่อนแอและความเข้มแข็งถึงยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ ? อ.ชาญวิทย์ ให้คำตอบแบบง่ายๆ ว่า นักการเมืองจำนวนไม่น้อยไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน แต่เป็นตัวแทนของชนชั้นวรรณะตัวเอง ชนชั้นของคุณยิ่งลักษณ์ หรือคุณทักษิณ ชินวัตร เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากชนชั้นของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือคุณกรณ์ จาติกวณิช แต่จะต่างกันตรงที่พวกเขาจะได้เสียงจากฝั่งไหนเท่านั้น
   “ผมคิดว่าในระดับข้างบนมีความพยายามเกี้ยเซี้ยกัน ไม่งั้นคงจะไม่พยายามออกร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่มาถึงขณะนี้เชื่อว่าคนในระดับข้างล่างไม่ยอมแล้ว แปลว่านักการเมืองในระดับข้างบนสามารถประสานผลประโยชน์ได้”
แสดงว่าในระยะยาวมีความเป็นไปได้ที่คนเสื้อแดงจะแตกแถวออกไปจากกลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ? อ.ชาญวิทย์ มั่นใจว่า มีความเป็นไปได้มาก เพราะถึงจุดนั้นจะมีความคิดว่า “อ้าว...ไม่ใช่แล้วนี่หว่า” เลยคิดขอแตกออกไปดีกว่า
   “พรรคการเมืองพูดเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างน้อยเกินไป ในระยะยาวคนจำนวนมากในระดับล่างจะเป็นสีอะไรก็ตามไม่ได้โง่อย่างที่คิดกัน เพราะสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้หมด อย่างที่บอกว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าถึงหมดแล้วทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ข้อมูลข่าวสารไหลเข้ามามาก ไม่จำเป็นต้องรับทราบจากสื่อกระแสหลักเพียงอย่างเดียว”
อ.ชาญวิทย์ ย้ำว่า เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างในหลายประเด็นเพื่อการกระจายทรัพยากรที่กระจุกให้เกิดการกระจายมากขึ้นนั้น พรรคเพื่อไทยและ พ.ต.ท.ทักษิณ คงยังไม่คิดจะทำตอนนี้ เขาคิดว่าไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำ เพราะรู้ดีว่าจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จได้ต้องใช้ปัจจัยหลายด้านและเวลามาก เรื่องไหนที่คิดว่าจะเป็นปัญหาว่าถ้าทำเรื่องนี้จะได้หรือเสียคะแนนเขาจะไม่ทำแน่นอน เพราะคิดเพียงว่ารู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี ดูอย่างเรื่องมาตรา 112 พรรคเพื่อไทยก็โยนทิ้งทันที ไม่ต้องการเข้าไปยุ่ง อย่างไรก็ตาม คนเสื้อแดงกับคุณทักษิณยังไม่แตกกันในตอนนี้ หรือเร็วๆ นี้ เพราะยังมีศัตรูร่วมกันอยู่ ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องถนอมกันไว้
   “เหตุการณ์ พ.ศ. 2475 แสดงให้เห็นว่าอำนาจเป็นของประชาชน สิ่งที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินคือกฎหมาย ไม่ใช่บุคคล ตรงนี้สำคัญมากๆ เป็นหลักสากลประชาธิปไตย ทุกคนที่ใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยต่อสู้ เพราะต้องการเลิกระบบการเอารัดเอาเปรียบจากโครงสร้างที่ไม่มีความเป็นธรรม เมื่อไม่มีอำนาจก็ต้องใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยต่อสู้ เพื่อให้อุดมการณ์ที่เป็นนามธรรมสามารถเกิดเป็นรูปธรรมได้ แต่ฝ่ายที่มีอำนาจมักจะพยายามให้ตัวเองมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้” นักวิชาการประวัติศาสตร์ ระบุ

คิดให้ไกลเพื่อรักษาสถาบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบันได้มีการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นเครื่องมือทำลายกันทางการเมือง เริ่มตั้งแต่การอ้างลัทธิคอมมิวนิสต์ มาจนถึงการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งทั้งหมดต่างถูกล้วนให้อยู่ในกลุ่มบุคคลไม่จงรักภักดีแทบทั้งสิ้น
ล่าสุดข้อเสนออย่างให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ได้ทำให้เกิดการปะทะทางความคิดขึ้นในสังคมว่าถึงเวลาที่ต้องปรับปรุงกฎหมายแล้วหรือไม่ ฝ่ายหนึ่งเสนอโดยสุจริตให้แก้ไขในบางประเด็นเพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์ เพราะพบการนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ อีกฝ่ายคัดค้านอย่างสุจริตเช่นกันว่าการมีกฎหมายนี้ไว้เพื่อป้องปรามไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความสั่นคลอน
อ.ชาญวิทย์ มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาสถาบันกษัตริย์มีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยทั่วๆไปเป็นอย่างมาก ดังนั้น เวลาการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมักจะนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือ ถามว่าถ้าไม่ใช้เรื่องนี้คุณจะใช้เรื่องอะไร เพราะตอนนี้คอมมิวนิสต์ก็ไม่มี ลัทธิอาณานิคมก็ไม่มี จึงต้องใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้าม
   “ผมยืนยันตรงนี้คืออันตรายสำหรับสถาบันกษัตริย์ คนที่อ้างความจงรักภัคดีกับคนที่เชื่อในความจงรักภักดีของตัวเองโดยไม่ใช้สติปัญญาวิชาการในที่สุดคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนทำร้ายสถาบันกษัตริย์โดยไม่รู้ตัว ถ้าเราจะรักษาสถาบันกษัตริย์ให้มั่นคงต้องปฎิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อไม่ให้นำมาใช้พร่ำเพรื่อ อันนี้ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะระยะหลังสถาบันกษัตริย์ของไทยนำไปถูกเชื่อมโยงกับการเมืองเป็นอย่างมากโดยเฉพาะตั้งแต่การประท้วงขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถ้าปล่อยให้ดำเนินไปลักษณะแบบนี้โดยไม่แก้ไขจะเป็นอันตรายต่อสถาบันกษัตริย์มากๆ”
นักวิชาการด้านการเมืองการปกครอง อธิบายว่า ย้อนกลับไปดูอดีตจะพบว่าคนเปลี่ยนด้วยการศึกษาใหม่ซึ่งเป็นรูปแบบตะวันตก อย่างในกรณีไทยของนับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาได้นำระบบการศึกษาแบบตะวันตกมาจนนำมาสู่การมีโรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนนายร้อยทหารบก ดังจะเห็นได้ว่าคณะผู้ก่อการในเหตการณ์กบฎ ร.ศ. 130 เต็มไปด้วยคนหนุ่มและทหารหนุ่มอายุประมาณ 20 กว่า หรือ มาถึงผู้ก่อการเหตุการณ์ พ.ศ. 2475 ล้วนเป็นบุคคลมีบรรดาศักดิ์ทั้งสิ้น เช่น หลวงพิบูลสงคราม หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงศุภชลาศัย เป็นต้นโดยมีอายุเฉลี่ย 30 เท่านั้น
   “คนเล่านี้ได้รับการศึกษาแบบใหม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีกระแสปฎิวัติและกระแสการเมืองของประชาธิปไตยเข้ามารุนแรงมาก กบฎ ร.ศ. 130 เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนหลังจากปฎิวัติจีนของดร.ซุนยัดเซ็น ต่อมาก็เกิดการปฎิวัติรัสเซียเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่รับรู้ในประเทศสยามในเวลานั้น ถ้ามองแล้วแปลว่าชนชั้นนำของสยามขณะนั้นปรับตัวไม่ทัน”
   “การเกิดยุคสมัยแห่งการปฎิวัติ หรือ Age of Revolution ในยุโรป ทำให้ระบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปรับตัวไม่ได้ต้องพังลง มีเพียงอังกฤษและยุโรปตะวันตกบางประเทศ เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ เท่านั้นที่ปรับตัวได้ให้อยู่คู่กับความคิดว่าด้วยการปฎิวัติประชาธิปไตยทำให้เกิดความยั่งยืน เราดูได้จากฉลองการครองราชย์ 60 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แสดงให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ของเขามั่นคงมากเพราะควบคู่ไปกับสถาบันประชาธิปไตย อังกฤษเป็นตัวอย่างของการปรับตัวได้ เป็นสิ่งที่เราคนไทยต้องดู”
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ต่อระบบประชาธิปไตย อ.ชาญวิทย์ คิดว่า ปัญหาอยู่กับพวกที่เราเรียกว่า “เครือข่ายสถาบันกษัตริย์” ซึ่งสร้างปัญหาไม่ให้เกิดการกระบวนการปรับตัวได้คล่องรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งที่รัชกาลที่ 5 เคยมีพระบรมราชโองการที่สำคัญบางประการให้ประเทศสยามเป็นสมัยใหม่แล้ว โดยเฉพาะกฎหมายมาตรา 112 จะเป็นปัญหาในอนาคตอย่างมาก
   “ประเทศที่เจริญแล้วและสถาบันกษัตริย์มั่นคงอย่างอังกฤษหรือยุโรปมีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุพาก็จริง แต่เขาไม่ได้บังคับใช้แบบสาหัสสากรรจ์หรือพร่ำเพรื่อแบบที่เราทำในตอนนี้ ผมคิดว่าเราเอากฎหมายนี้มาใช้โดยไม่คิดว่าเป็นอันตรายกับสถาบันกษัตริย์ เชื่อว่าคนชั้นสูงจำนวนมากบางคนเชื่อโดยสุจริตใจว่าถ้ามีกฎหมายนี้อยู่จะรักษาสถาบันกษัตริย์ได้เช่นกันกับคนชั้นสูงจำนวนมากก็เชื่อว่ากฎหมายนี้จะเป็นอันตรายเพียงแต่ไม่กล้าพูดออกมา ผมคิดว่าคนระดับอานันท์ ปันยารชุน หมอประเวศ วะสีควรลงมาคิดเรื่องนี้แล้วว่าควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาเหมือนกับเหตุการณ์ในอดีต”
อ.ชาญวิทย์ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ถึงเวลาแล้วและคำถามของผมคือคนที่ต้องการรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่คู่กับประชาธิปไตยต้องทำอะไรบางประการกับกฎหมายมาตรา 112 แล้ว ต้องมองเหรียญสองด้านไม่ใช่มองด้านเดียว เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ทั้งเหตุการณ์กบฎ ร.ศ.130 และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ก็ต้องมองสองด้านไม่ใช่มองด้านเดียวว่าคือการชิงสุกก่อนห่าม ถ้าคุณมองอยู่แค่นี้คุณก็เดินต่อไปไม่ได้
   “คนชั้นนำของเราส่วนใหญ่มองแค่วันนี้และมองกลับไปเมื่อวานนี้ อยู่ไปวันๆโดยไม่คิดว่าอนาคตอันไม่ไกลบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ปัญหาที่เราหมักหมมที่ไว้ในปัจจุบัน คือ เขาไม่กล้าคิดเลยไปจากในปัจจุบัน”