รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 กับศาลรัฐธรรมนูญ โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มติชน 22 มิถุนายน 2555
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 68 บัญญัติอยู่ในส่วนที่ 3 ว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ สำหรับมาตรา 68
มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. บุคคลหรือพรรคการเมือง
1.1 ใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้
1.2 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
2.ผู้ทราบการดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้
2.1 เลิกกระทำการดังกล่าว
2.2 ยุบพรรคการเมือง
2.3 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบเป็นระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่ง
หลักเกณฑ์ข้อที่ 1
ผู้ที่จะถูกกล่าวหาว่ากระทำการตามมาตรา 68 วรรคหนึ่งมีเพียง บุคคล นิติบุคคล และพรรคการเมืองเท่านั้น สถาบันอื่นนอกจากนี้ไม่อาจถูกกล่าวหาว่ากระทำตามมาตรานี้ได้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 2
ผู้ทราบการกระทำดังกล่าว จะเป็นผู้ใดก็ได้ และผู้นั้นไม่จำเป็นถึงกับต้องรู้ตัวผู้กระทำการดังกล่าว ก็มีสิทธิเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เพราะการกล่าวหากันตามมาตรา 68 นั้นเป็นข้อกล่าวหาที่อุกฉกรรจ์มาก และโทษที่ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับนั้นหนักกว่าโทษคดีอาญาแผ่นดินบางบทเสียด้วยซ้ำไป อัยการสูงสุดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความของแผ่นดิน ข้อหาอันมีโทษรุนแรงเช่นนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการตรวจสอบโดยถี่ถ้วน ว่าการกล่าวหากันนั้นพอจะมีมูลหรือไม่หรือเป็นการกล่าวหากันอย่างเลื่อนลอย โดยเฉพาะเป็นการทำลายล้างกันทางการเมืองหรือไม่
นอกจากนี้ ข้อความในมาตรา 68 อันเป็นข้อความเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 63 และในการประชุม ส.ส.ร.2550 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ได้มีการขอเปลี่ยนข้อความจาก "ผู้รู้เห็นการกระทำ" เป็น "ผู้ทราบการกระทำ" เมื่อน้ำหนักในการรับฟังผู้เริ่มกล่าวหาลดลงก็ยิ่งจะต้องไปเพิ่มน้ำหนักการตรวจสอบของอัยการให้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นการชอบด้วยเหตุผลและหลักการตีความตามกฎหมายทุกประการเพราะความยุติธรรมต้องมองรอบด้าน เมื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้กล่าวหาเพื่อให้มีการกล่าวหากันง่ายขึ้น ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาเช่นเดียวกัน คือให้มีการตรวจสอบข้อกล่าวหาโดยผู้ทำหน้าที่ทนายของแผ่นดินเสียก่อน
ผู้เขียนจึงเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งเรื่องพิจารณา ที่ 12/2549 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 กรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาตรา 63 วรรคสอง (คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคสอง) เนื่องจากเห็นว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปราศรัยหาเสียงและออกแถลงการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เสนอขอให้มีการขอนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยว่า
"รัฐธรรมนูญมาตรา 63 (คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาตรา 68 วรรคสอง) มิได้บัญญัติให้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ยุบพรรคการเมือง (หรือเพื่อให้เลิกการกระทำดังกล่าว ตามมาตรา 63 วรรคสอง วรรคเดียวกับการขอให้ยุบพรรค) ได้โดยตรง แต่จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 วรรคสอง (มาตรา 68 วรรคสอง) โดยเสนอขอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องศาลรัฐธรรมนูญ ไม่อาจจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้ อาศัยเหตุดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้ดำเนินการ"
จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 กรณีมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเดียวกัน ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้ยุบพรรคหรือให้เลิกการกระทำดังกล่าวเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ ผู้ทราบการกระทำมีหน้าที่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบตามขั้นตอนของมาตรา 68 วรรคสอง (มาตรา 63 วรรคสองเดิม) และไม่อาจตีความมาตรา 68 วรรคสอง ให้ผิดแผกแตกต่างกันออกไปได้
หากจะมีการกลับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วางแนวบรรทัดฐานไว้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมทำได้แต่จำต้องแสดงเหตุผลแห่งการกลับแนวบรรทัดฐานไว้ให้เป็นที่ประจักษ์
มีผู้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555 แสดงความเห็นด้วยกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ และได้แสดงเหตุผลที่น่าสนใจ โดยจำแนกโครงสร้างประโยคในมาตรา 68 วรรคสอง ไว้ดังนี้
ผู้เขียนบทความยังให้ความเห็นต่อไปว่า ตัวบทมาตรา 68 วรรคสอง ใช้คำว่า "และ" หากจะต้องให้ผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยไม่ให้ผู้ทราบการกระทำยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ก็น่าจะใช้คำว่า "เพื่อให้" ผู้เขียนจึงสอบถามความเห็นการจำแนกโครงสร้างประโยคดังกล่าวจากอดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ผู้หนึ่ง ท่านอาจารย์ให้ความเห็นว่าประโยคนี้มีประธานสองคนจึงต้องจำแนกโครงสร้างดังนี้ (ดูแผนภาพประกอบ2)
คำว่า "และ" เชื่อมคำว่า "ตรวจสอบข้อเท็จจริง" กับ "ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการ" ซึ่งเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะต้องดำเนินการทั้ง 2 กรณี
หากจะตีความมาตรา 68 วรรคสอง ตามโครงสร้างที่ 1 ว่าผู้ทราบการกระทำจะเลือกเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการก็ได้ จะต้องตอบคำถามต่อไปว่า จะให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงไปเพื่ออะไร และเมื่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ผลการตรวจสอบแตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไรต่อไป จะถือเอาผลการตรวจสอบสถาบันใดเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนก็ต้องถือผลการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ถ้าเช่นนั้นจะมีบทบัญญัติให้เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้เพื่ออะไร
ดังนั้น การตีความมาตรา 68 วรรคสอง ว่าผู้ทราบการกระทำมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วย จะตรงกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญแต่ไม่สอดคล้องกับการตีความตามหลักนิติศาสตร์, ภาษาศาสตร์, เจตนารมณ์ของ ส.ส.ร. ผู้ร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 68 ตลอดจนแนวบรรทัดฐานคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วางไว้แต่เดิม ทั้งบทบัญญัติมาตรา 68 ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสั่งการตามมาตรา 68 วรรคสอง วรรคสาม วรรคสี่ เฉพาะกับบุคคล และพรรคการเมืองเท่านั้น
การสั่งตัวบุคคลคือประธานรัฐสภาก็ดี หรือเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรก็ดี แต่ผลแห่งการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญย่อมเกิดแก่รัฐสภา ซึ่งมิใช่บุคคลหรือพรรคการเมือง แต่รัฐสภาเป็นสถาบันซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัติอันเป็นอำนาจสูงสุด หนึ่งในสามของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยน่าจะกระทำมิได้
อนึ่ง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวโดยอาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ลักษณะ 1 ซึ่งบัญญัติไว้ตามมาตรา 253 ถึงมาตรา 265 ศาลต้องใช้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ต้องเป็นที่พอใจของศาลว่าคำฟ้องมีมูล และมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ เหตุดังกล่าวกำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255
2. มาตรา 254 บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า "โจทก์จะยื่นต่อศาลพร้อมกับคำฟ้อง" หมายความว่า ศาลจะสั่งให้คุ้มครองชั่วคราวเองไม่ได้ต้องมีคำฟ้องและมีคำร้องของโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
3. การมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลจะมีคำสั่งด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งและต้องไต่สวนก่อนออกคำสั่งเสมอ (ส่วนใหญ่ศาลจะยกคำร้อง, โดยเฉพาะถ้าขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน) ที่สำคัญต้องให้ได้ความ ตามข้อ 1