8,000 ปีประชาธิปไตยไทย

คมฃัดลึก 27 มิถุนายน 2555 >>>




พ.ศ. 2555 เป็นวาระครบรอบ 80 ปี ที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่หากย้อนกลับไปมองช่วงเวลาที่ผ่านมา จะพบว่าประชาธิปไตยของไทยไม่ได้มีอายุถึง 80 ปี อย่างที่พูดกันหรอกครับ เพราะในช่วง 25 ปีแรก คือจาก พ.ศ. 2475 ถึง พ.ศ. 2500 นั้น เป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจในหมู่สมาชิกคณะราษฎร์ ซึ่งมีแนวคิดในทางการเมืองที่แตกต่างกัน เพราะในการก่อการนั้น แม้จะมีจุดประสงค์อันเดียวกัน แต่แรงขับแห่งวัตถุประสงค์นั้นมิได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางฝ่ายมีแนวคิดในเชิงอุดมคติ ขณะที่บางฝ่ายเกิดจากอารมณ์ขุ่นเคืองและความไม่พอใจในสภาพการณ์บางอย่าง ซึ่งแต่ละคนก็มีภาพร่างภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จไปคนละภาพ มีวีรบุรุษในดวงใจคนละคน ทั้ง เลนิน นโปเลียน บิสมาร์ค แม้กระทั่งเคมาล “อตาเติร์ก” และพยายามที่จะนำประเทศไปตามแนวคิดของตน
อีก 16 ปีต่อมา ก็เป็นยุคเผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจกันมาจากการปฏิวัติในปี พ.ศ. 2500 จนถึง พ.ศ. 2516 และมีเวลาให้ประชาธิปไตยโผล่ขึ้นมาหายใจเพียง 3 ปี หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน ก็วนเวียนอยู่กับกลุ่มการเมืองซึ่งปรับเปลี่ยนสีสันไปตามกระแสการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์ที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยวิธีการและรูปแบบต่างๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการเรียนรู้หรือปลูกฝังเรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องอย่างจริงจัง ทั้งจากการศึกษาหรือผ่านการกระทำทางการเมือง และหลายครั้งที่การเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้น ก็เป็นการกระทำหรือการเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ประชาธิปไตยเป็นมากกว่าการเลือกตั้งหรือการชุมนุมประท้วง และประชาธิปไตยมิได้เป็นเพียงแค่คำพูดหรูๆ หากเป็นเรื่องของจิตสำนึก เรื่องของการคำนึงถึงส่วนรวม เรื่องของการเสียสละ และเรื่องของการเคารพในสิทธิและความคิดของผู้อื่น เคารพในกฎเกณฑ์กติกา และเคารพในศักดิ์ศรีของตัวเอง
คุณค่าของประชาธิปไตย ก็คือการให้ความสำคัญและให้เกียรติแก่มนุษย์โดยเท่าเทียมกัน ในระบอบประชาธิปไตยทุกคนเป็นไทเสมอเหมือนกัน วิถีของการเมือง สังคม หรือการดำเนินชีวิต ในแบบของประชาธิปไตยคือวิถีที่คนส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ และเสียงที่ทรงพลังที่สุดก็คือเสียงของประชาซึ่งเป็นเจ้าของอธิปไตย
ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักในคุณค่าของประชาธิปไตย ตราบนั้นก็คงยากที่จะมีความรักและหวงแหนประชาธิปไตยเราจึงไม่คิดที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยกลไกและกระบวนการของประชาธิปไตย แต่นิยมที่จะใช้วิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังมวลชน การเรียกร้องให้ทหารปฏิวัติรัฐประหาร หรือการใช้ความรุนแรงต่างๆ โดยไม่ได้สำนึกว่า กว่าจะหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการเมื่อ 39 ปีก่อน และได้มาซึ่งประชาธิปไตยในเวลานี้นั้น เป็นไปด้วยความลำบากยากเข็ญ และการสูญเสียกี่มากน้อย
และตราบใดที่เรายังไม่รู้จักการให้เกียรติคนอื่น ยังไม่รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทของตนเอง ยังไม่สามารถกำหนดวิถีทางการเมือง สังคม และการดำเนินชีวิตของตนได้ และปิดปากเงียบไม่ยอมที่จะเปล่งเสียงที่ทรงพลังของตนออกมา ตราบนั้นประชาธิปไตยก็ไม่มีความสำคัญอันใดสำหรับคนในประเทศนี้
อย่าว่าแต่ 80 ปีเลยครับ ต่อให้อีก 800 หรือ 8,000 ปี ก็ตาม