นักวิชาการถก ประชาธิปไตยไทยชิงสุกก่อนห่าม หรือเป็นไปตามบริบทสังคมโลก ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ชี้การทำให้อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนนั้นป็นมรดกที่สำคัญที่สุดของคณะราษฎร ขณะปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์วิพากษ์เครือข่ายกษัตริย์ที่ปลุกเร้าความจงรักภักดีจะเป็นปัญหาต่อสถาบันเสียเอง
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์: แม้แต่ชื่อเรียกวันรัฐธรรมนูญยังมี 2 แบบ แสดงว่าประเทศนี้ยังมีปัญหา
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ระบุว่า เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เขานำเสนองานมีคนฟังอยู่สิบกว่าคน แต่ก็ไม่รู้ว่าเหตุอะไรวันนี้จึงกลายเป็นเรื่องร้อนแรง
ส่วนคำถามว่าการฏิวัติ 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห่ามหรือเปล่า จึงทำให้ทุกวันนี้ประชาธิปไตยของไทยจึงไม่สมบูรณ์ ธำรงศักดิ์ตั้งคำถามกลับว่า ประชาธิปไตยสมบูรณ์คืออะไร และอะไรคือการชิงสุกก่อนห่าม หรือจริงๆ แล้วมันเป็นความสุกอย่างเต็มที่เพียงแต่คณะราษฎรเอาไม้แยงก็หล่นลงมา
ถ้าท่านอธิบายว่าเป็นการชิงสุกก่อนห่าม ท่านก็ต้องเริ่มต้นว่ามีความพยายามที่จะวางแผนเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัย ร.5 ร.6 และ ร.7 มีการร่างอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราเรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ มีความพยายามในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่จะสร้างแนวทางพัฒนาประชาธิปไตย
แต่อีกแนวทาง คำอธิบายจะเริ่มต้นว่าระบอบการปกครองของสยามหรือประเทศไทยขณะนั้นได้รับกระแสอิทธิพลของโลกตะวันตก ซึ่งแม้แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีที่มาจากตะวันตก ผู้ปกครองของโลกตะวันตกมีการกระชับอำนาจเข้าสู่ตนเอง และสร้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมา ไม่ใช่ระบอบไทยๆ แต่เป็นนวัตกรรมของราชวงศ์ของโลกตะวันตก สมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการหยิบเอาวิธีการโลกตะวันตก กระชับเข้าสู่ศูนย์กล่างคือ Monarch
ในขณะที่กระแสประชาธิปไตย ประชาราษฎร เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง มีสภาผู้แทนราษฎร มีผู้แทนฝ่ายบริหาร ดังกรณีเทียนวรรณ กบฏยังเติร์ก เกิดขึ้นเป็นลำดับมา การอภิวัฒน์ 2475 มันไม่ได้ลอยจากฟ้า แต่มีพัฒนาการ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าการปฏิวัติ 2475 ไม่ได้ลอยมาจากฟากฟ้า
แต่คำถามคือทำไมเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตย ไม่เติบโตมาสู่ประชาธิปไตย ถ้ากล่าวว่าเพราะคณะราษฎร ชิงอำนาจมาเพื่อสถาปนาอำนาจของตัวเอง คำกล่าวแบบนี้ ต้องถามว่าเรากล่าวโทษอดีต และการกระทำในอดีตภายใต้บริบทอดีตได้เชียวหรือ เราไม่คิดหรือว่า เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยนั้นเป็นสากล มันแพร่กระจายอยู่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ระบอบการปกครองของโลกใบนี้มันพัฒนามาจากระบอบศักดินา ระบอบกษัตริย์ แล้วเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยมันได้พัดระบอบเหล่านี้ล้มระเนระนาดมาก่อนการปฏิวัติ 2475 เช่น กรณี ญี่ปุ่น เลือกที่จะมีรัฐธรรมนูญ สภา การเลือกตั้ง ในสมัยราชวงศ์เมจิ ใน จีน ซุนยัดเซ็น ล้มราชวงศ์ชิง ในสเปน ล้มราชวงศ์ลงเพื่อเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ดังนั้นกระแสประชาธิปไตยมันมา ยังไงมันก็ต้องมา ไม่ช้าก็เร็วมันต้องมาถึงแผ่นดินนี้
มีคำกล่าวว่ารัฐกาลที่ 7 เตรียมการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยแล้ว คำถามคือใครมีอำนาจในบ้าน ตัวท่านหรือเมียท่าน ท่านต้องดูว่าใครเป็นผู้บัญชาการใช้เงิน ใครถือเงินไว้ ใช้เงินและลงโทษ ถ้าท่านรู้แล้วลองกลับบ้านไปบอกกับภรรยาดูว่าขอยึดอำนาจคืน ท่านก็จะรู้ได้เองว่าใครบ้างยอมสละอำนาจที่ตัวเองมี ตรรกะนั้นคือ ไม่มีใครยอมมอบอำนาจของตัวเองให้คนอื่นหรอก เว้นแต่ปรับเชิงภาพลักษณ์
ร.7 พยายามอธิบายว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม โดยอ้างว่ามีการปรึกษาหารือกับฝรั่งคนหนึ่งทำร่างเค้าโครงเบื้องต้น และทำเป็นภาษาอังกฤษ ประเด็นคือแผ่นดินนี้ใช้ภาษาไทย การใช้ภาษาอังกฤษหมายความไม่ต้องการสื่อสารกับใครแน่ๆ
จากนั้นอีกสี่ห้าปี ก็มีร่างการเปลี่ยนรูปแบบรัฐบาล เป็นภาษาอังกฤษอีก เพราะในบริบท 2475 นั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ องค์ประมุข หรือกษัตริย์นั้นเป็น Head of ของทุกสิ่ง อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะดำเนินนโยบายอะไร มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ชื่นชมและไม่ชื่นชม ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดว่าหากมีคนหนึ่งมารับหน้าที่แทนจะดีไหม เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบต่อการวิพากษ์วิจารณ์แทนด้วย นี่คือการคิดที่จะมี prime minister ที่รับผิดชอบต่อองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ต่อ parliament และเมื่อคิดถึงสภาผู้แทนราษฎร สมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่มีทางคิดเรื่องสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุนี้ คณะราษฎรได้มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอำนาจ
ดังนั้นรัฐธรรมนูญภายใต้แนวคิดของ ร.7 นั้น กรณีมาตรา 1 ระบุว่าอำนาจสูงสุดของแผ่นดินนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ ในขณะที่มาตรา 1 รัฐธรรมนูญของคณะราษฎร อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย
เวลาที่มีคนถามว่าอะไรคือมรดกของคณะราษฎร ผมก็ตอบว่า คือการบอกว่า แผ่นดินเป็นของราษฎรทั้งหลายก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ
ส่วนคำกล่าวหาว่า เป็นการทำโดยคนกลุ่มเล็กๆ ไม่มีประชาชนเข้าร่วม คำถามคือ ถ้าเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป จะถูกจับไหม และการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้เป็นการต่อสู้โดยพลังประชาชนที่ยืดเยื้อยาวนาน คณะราษฎรเลือกที่จะสู้เปลี่ยนแปลงโดยใช้กลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำการเปลี่ยนแปลง
ธำรงศักดิ์ตั้งคำถามต่อไปว่าในวันที่มีการยึดอำนาจ อะไรที่ทำให้ ร.7 เสด็จกลับมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ทำไมไม่สู้ทั้งๆ ที่คณะทหารและขุนนางชั้นสูงแนะนำ และหารือกันว่า ให้สู้กับพวกไม่มีหัวนอนปลายตีน โดยเขาเห็นว่าพระองค์ก็ตระหนักว่า ภายใต้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ก็ไม่ได้มีอำนาจ แต่ที่ต้องตระหนักคือพระองค์นั้นป็นเจ้าเหนือหัวของประเทศ และต้องระมัดระวังหากตัดสินใจที่ผิดพลาด โดยธำรงศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าบนทางเลือกของการเปลี่ยนแปลงขณะนั้น อาจจะมี 2 แนวทางคือ กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ กับอีกทางเลือกคือสาธารณรัฐ
ธำรงศักดิ์กล่าวต่อไปว่า แม้จะมีการพูดว่าการปฏิวัติ 2475 ไร้การนองเลือด แต่เราดูเฉพะสามสี่วันนั้นไม่ได้ ต้องดูความต่อเนื่องยาวกว่านั้น เพียงอีกไม่กี่เดือนก่อนจะครบรอบ 1 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น เกิดการปฏิวัติรัฐประหารซ้อนกัน 2 ครั้ง ครั้งแรก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยนายปรีดี พนมยงค์ ทำยึดอำนาจรัฐบาลตนเองโดยการออกกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกว่า พระราชกฤษฎีกา ยึดอำนาจโดยกฎหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่นักกฎหมายเขาทำกันมาตั้งแต่อดีต คณะทหารและขุนนางชั้นสูงแนะนำ
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ใช้พระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภา และระบุว่าให้เปิดประชุมสภาเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการยุบสภา และให้รัฐบาลมที่อยู่มาก่อนนั้นล้มลง แปลว่ายุบคณะรัฐมนตรี และระบุว่าให้พระยามโนปกรณ์ เป็นนายก และให้นายกออกกฎหมายได้ด้วยตัวเอง เป็นการรวบรัดตัดตอนเป็น monocracy
จากนั้น 81 วันต่อมาคณะราษฎรยึดอำนาจกลับในวันที่ 21 มิ.ย. 2476 เป็นการต่อสู้ภายใต้ระบอบใหม่ อีกสามเดือนแผนการที่เคยวางไว้ที่หัวหินให้ปฏิบัติการโต้ตอบคณะราษฎร ก็ถูกใช้จริงโดยคณะกบฏบวรเดช คาดหัวตัวเองว่า “คณะกู้บ้านกู้เมือง” แต่หลวงพิบูลย์สงครามไม่ยอม ในที่สุดคณะกู้บ้านกู้เมืองแพ้ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติ ข้อเรียกร้องของคณะบวรเดชทั้งหมดอยู่ตรงที่การปรับรูปแบบราชาธิปไตยภายใต้เสื้อคลุมของการมีรัฐธรรมนูญและมีสภา โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญ คือให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าแต่งตั้งสมาชิกสภาครึ่งหนึ่ง นี่คือการต่อสู้ที่เป็นจริงว่าใครเป็นผู้นำในระบอบใหม่ และการต่อสู้ยังยืนยาวถึงปัจจุบัน
จากนั้น พ.ศ. 2482 มีการสถาปนาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมา เลือกสถาปนาหลัก 6 ประการของคณะราษฎรบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ต่อมา 2500 คณะราษฎรแพ้ราบเป็นหน้ากลอง วันที่ 24 มิ.ย. จึงถูกยกเลิกจากการเป็นวันชาติ จากที่เคยมีวันหยุดสามวัน 23 -25 มิ.ย. ก็ยกเลิกไป นี่แสดงให้เห็นว่า วันชาติของประเทศนี้เกิดได้ก็ตายได้
อีกตัวอย่างที่รวบรัดคือวันที่ 10 ธ.ค. กลายเป็นวันหยุดที่ประชาชนไม่รู้จะไปทำอะไร แถมยังมีชื่อที่เรียกกันสองแบบ ถ้าไปซื้อปฏิทินจีนแบบฉีกที่เยาวราช ซึ่งใช้แท่นพิมพ์เก่าไม่เคยเปลี่ยนเลยตั้งแต่ 80 ปีที่ผ่านมาจะระบุว่า วันรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นปฏิทินสมัยใหม่ จะเขียนว่าวันพระราชทานรัฐธรรมนุญ แม้แต่วันหยุดยังมีชื่อเรียกสองอย่าง แสดงว่าประเทศนี้ยังคงมีปัญหา
สุดสงวน สุธีสร: 2475 คือการตอกเสาเข็มให้กับประชาธิปไตย เรียกร้องสื่อเคียงข้างประชาชน
สุดสงวน สุธีสร อภิปรายว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เป็นการตอกเสาเข็มให้กับประชาธิปไตย เป็นหลักของประเทศ แต่หลังจากนั้นก็มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างโดยเฉพาะสื่อที่ทำให้บิดเบี้ยวไปอีกอย่าง
สมัยนั้น คนไทยมีการศึกษาน้อยมาก ถูกกีดกันไม่ให้มีการศึกษาที่เท่าเทียมกัน และบางครั้งก็เรียนมาจากต่างประเทศเมื่อปรับมาใช้ในไทยก็ใช้กันอย่างสับสน
ในปี 2477 อาจารย์ปรีดีเห็นว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่เข้าใจในแก่นแท้ของประชาธิปไตย เพียงแต่บังคับให้เชื่อ ก็พยายามสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นมาใช้ชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อปลูกฝังให้คนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่ใช่แค่ฟังชนชั้นปกครองบอกมาแล้วเชื่อ แต่ต้องรู้เท่าทันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ทุกวันนี้ประชาธิปไตยกลับไปงอกงามอยู่นอกธรรมศาสตร์ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเปลี่ยนไป ไม่มองเจตนาของ อ.ปรีดี และ อ.ป๋วย ไปยืนอยู่ตรงข้ามกับประชาชน ทั้งนี้ สุดสงวนกล่าวว่า ประชาธิปไตยคือสิทธิเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ คนที่จะเป็นผู้นำประชาธิปไตยต้องมีความกล้าหาญออกมายืนหยัดปกป้องประชาชนทุกคน ประชาชนอยากจะนอนหลับฝันดี ทำงานหนักรู้ว่าโอกาสก้าวหน้าของชีวิตเรามี ไม่ต้องไปคอร์รัปชั่น เลียเจ้านาย ตื่นมาโดยที่คนทุกคนมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ประชาธิปไตยต้องกินได้ ไม่ใช่กินไม่ได้ แม้จะมีการกล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นแค่หลักการ แต่ต้องยึดมั่นสิทธิมนุษยชน คือการคุ้มครองประชาชนทุกคน สิทธิมนุษยชนสำคัญที่สุด
สุดสงวนกล่าวว่าขณะนี้ประชาธิปไตยของเราไม่ได้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่เธอมองว่าประชาธิปไตยไทยนั้นเหมือนเป็นภาพลวงตา ยิ่งถ้าดูรัฐธรรมนูญ 50 จะเห็นภาพคนที่กุมอำนาจอยู่ มีการล็อกมีห่วงโซ่ แม้แต่การจะขอแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายกำหนดรองรับไว้แต่ก็มีคนไปจัดเวทีต่างๆ นานา เป็นกังวลว่าขณะนี้ประชาชนคนตาดำๆ อย่างพวกเราทั้งหลาย เรากำลังถูกการเมืองทำอะไรเราหรือเปล่า เมื่อไหร่นักการเมืองจะเข้าใจและเห็นประโยชน์ของประชาชน ก้าวออกมายืนเคียงข้างประชาชน คุ้มครองประโยชน์สุขของประชาชน ไม่ใช่ว่าฉันมีอำนาจ มีอาวุธ จัดการได้ทุกอย่าง
บทบาทของสื่อมวลชนก็มีบทบาทอย่างยิ่งในการควบคุมสังคมเพราะสื่อมวลชนก็ควบคุมแนวคิดต่างๆ เมื่อไหร่สื่อมวลชนจะมีจริยธรรม จรรยาบรรณที่ถูกต้อง เอาประโยชน์หาความจริงบมาบอกกับประชาชน เพื่อให้เรามีประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่ไปปกปิดสิ่งที่บางฝ่ายไปทำไม่ดีไว้
ขณะนี้คนเสื้อแดงน่าเห็นใจเพราะถูกมองเป็นโจรของแผ่นดิน (ขออนุญาตอาจารย์ชาญวิทย์ เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้พูดในเวทีอื่น) จริงๆ แล้วสื่อควรจะถึงเวลาทำข่าวเสียทีว่าคนเสื้อแดงออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และคนที่ทำหน้าที่ภารกิจใหญ่ของคณะราษฎรคือคนเสื้อแดง ทุกคนมาด้วยใจจริงๆ ทุกชนชั้น
ประชาธิปไตยของเราแปดสิบปีที่ผ่านมายังมีกลุ่มอำมาตย์ทื่คิดว่าฉลาดกว่าคนอื่น อยากจะบอกว่าคนสมัยนี้เขาเรียนหนังสือกันมาแล้ว เขาเรียนเมืองนอกกันด้วยนะ เขาอ่านภาษาอังกฤษออก เขาเรียนรู้หลักสากลของต่างชาติมาทั้งนั้น เราไม่ได้อยู่ในยุค 2475 แล้วที่คิดว่าจะอ่านภาษาอังกฤษออกฝ่ายเดียว
สรุปง่ายๆ แปดสิบปีของประชาธิปไตยขอเรียกร้องสื่อ ถ้าสื่อร่วมมือกับประชาชน ประชาธิปไตยต้องกลับคืนสู่สังคมแน่นอน
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์: มรดกของราชาธิปไตยอยู่ได้อย่างไร
ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ร่วมอภิปรายในหัวข้อ 80 ปีปฏิวัติประชาธิปไตยไทย พ.ศ. 2475 ชี้ การเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านมา 80 ปีแต่มีอะไรหลายอย่างที่ตกค้างจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเขาขอตั้งชื่อว่า Die Hard Absolute Monarchy และเรายังเพ้อฝันว่าเรายังมีประชาธิปไตยอยู่
มรดกตกทอดฟังแล้วเหมือนดูดีแต่ การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เริ่มตั้งแต่ปี 2475 มีจุดมุ่งหมายต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีความเป็นอารยะมากขึ้น คนไทยก็มีความภูมิใจอย่างมากที่เรามีความเปลี่ยนแปลง และทุกวันนี้เราก็ยังพูดกันอยู่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราชด้วยเรามีพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ แต่เหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญออกมาพูดว่าเราตีความรัฐธรรมนูญตามภาษาอังกฤษ ผมเริ่มไม่แน่ใจ แต่เอาละนี่เป็นพระปรีชาสามารถที่ไทยไม่ต้องตกเป็นอาณานิคม และมีการเลิกทาส และมีการสร้างทางรถไฟ นี่เป็นจุดพีคมากๆ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่งมองกลับไปถึงช่วงนั้นจนเคารพนับถือรัชกาลที่5 จนมากล้นจนล้นเกิน ในแง่ที่เป็นจุดดี ก็ทำให้เรามีความเป็นอารยะมากขึ้นในเปลือกนอก ดูเหมือนว่าสถาบันกษัตริย์จะมีความมั่นคงอย่างมากในยุรรัชกาลที่ 5 แต่อย่างไรก็ตามมันไม่สามารถสร้างหลักประกันให้ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ หลังจากเสด็จสวรรคตไม่นานเพียง 22 ปี ถัดมาก็เกิดการล่มสลายของระบบสมบูรณาญาสิทธาชย์ และในรัชสมัยต่อมาใน ร.6 และ ร.7 ก็ชี้ว่า เป็นความไม่สามารถของสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคนั้นในการปรับต่อต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ
ปวินกล่าวว่า แปดสิบปีถัดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยก็มาถึงจุดเปลี่ยนอีกแล้ว เป็นจุดที่ critical มากๆ และภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงนั้นสถาบันกษัตริย์จะสามารถปรับตัวให้กับการเปลี่ยนในยุคนี้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ ก็จะเป็นแบบที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่เจ็ด
บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการคลายปมการเมืองปัจจุบัน และสิ่งที่เป็นมรดกของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่หล่อหลอมการเมืองไทยอยู่ในปัจจุบัน มีผลกระทบครอบงำการเมืองไทยอย่างยิ่งยวด และอาจจะถึงจุดที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนปาระชาธิปไตยของไทยและตอกย้ำให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองและนำไปสู่ความรุนแรงมาแล้ว และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ตัวอย่าง การก้าวขึ้นของทักษิณ ชินวัตร ก็ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคาม จะว่าคอร์รัปชั่นก็แล้วแต่ แต่นักการเมืองคนไหนไม่คอร์รัปชั่นบ้าง ทักษิณกินแล้วยังคายบ้าง แต่บางคนกินแล้วไม่คาย
ทักษิณกลายเป็นภัยของฝ่ายอนุรักษ์นิยม และในการกำจัดทักษิณนั้น หนึ่งในข้อกล่าวหาคือไม่จงรักภักดีและประสบความสำเร็จอย่างดี และปัจจุบันนนี้ ก็ยังใช้กลวิธีเดิมๆ ในการใช้กฎหมายหมิ่นฯ กำจัดคู่แข่งทางการเมือง และจุดนี้เอง อย่าคิดว่าคุณมีอำนาจในการใช้มาก เพราะยิ่งใช้มากยิ่งทำให้สถาบันอ่อนแอ และยิ่งเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกลือกกลั้วกับการเมือง และนักการเมืองและกลุ่มการเมืองที่เป็นตัวเล่นนอกเวทีการเมืองก็ยังใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ
ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนมาตรา 112 ก็ส่วนหนึ่งในการชี้ว่าสถาบันกษัตริย์พร้อมที่จะปลี่ยนแปลงหรือไม่
แม้ว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะจบไปแล้ว แต่ยังมีอิทธิพล แฃละฝ่ายอนุรักษ์นิยม ฝ่ายราชานิยม ก็ไม่ยอมละทิ้งแต่พยายามสืบสายใช้ให้เข้มแข็งมากขึ้น
ปัจจุบันมีการมองสถาบันฯ สองแบบ ที่ขัดแย้งกันอยู่แบบแรกเป็นมุมมองมาตรฐาน เป็นมุมมองปกติทั่วไป ให้เห็นคุณูปการมากมายของสถาบันกษัตริย์ที่มีต่อประเทศ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยเป็นผู้ปกป้องบูรณภาพของแผ่นดิน เป็นมุมมองที่ครอบงำสังคม ปกป้องจารีตประเพณี คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาล เป็นต้น เป็นมุมมมองมาตรฐาน เหมือนคนไทยจะต้องกินข้าว จะไปกินมันฝรั่ง ก็ดูไม่ใช่คนไทย
แต่อีกมุมมองหนึ่งก็เห็นว่าพระราชอำนาจที่ทรงพลานุภาพอย่างมากนั้นไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตยในปัจุบัน มีการใช้กฎหมายหมิ่นฯ เป็นเกราะกำบังสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดกระบวนการ หรือทัศนคติที่มีการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์เกิดขึ้น และการใช้พระราชอำนาจที่มีอยู่อย่างยิ่งยวดเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย มีการสรรเสริญพระราชอำนาจอย่างล้นเกิน เป็น hyper royalist แม้แต่บ.การบินไทยก็มีการฉายพระราชกรณียกิจในเครื่องบิน
กลุ่มราชานิยมได้ร่วมมือจัดตั้งเป็นทีมงาน ร่วมมือกับนักประวัติศาสตร์ อนุรักษนิยม ผู้บริหารของมหาวิทยาลัย สื่อที่ทรงอิทธิพลทั้งหลายในการสรางภาพลักษณ์ที่ไม่มีที่ติ ขณะเดียวกันก็สร้างภาพลบที่เลวร้ายอย่างมากต่อการเมืองไทย แปดเปื้อนด้วยนักการเมืองเลวๆ ไร้ศีลธรรมจรรยาอย่างทักษิณ ข้อบกพร่องทั้งหมดเกิดจากนักการเมืองชั่วๆ ไม่ได้เกิดจากการที่ตนเองเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองตลอดเวลา นี่เป็นจุดสำคัญทำให้คนคิดถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเรียกร้องคนดีมาปกครองบ้านเมือง ซึ่งเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นคนดีกันไปหมด
เมื่อพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเราไม่ได้พูดถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง นี่คือเครือข่าย คือทั้งองคาพยพที่เกาะเกี่ยวโหนห้อยกัยสถาบันพระมหากษัตริบย รวมถึงราชนิกูลและองคมนตรี
โดยปวินเสนอ “ผังสร้างเจ้า” ที่เป็นตัวแปรนอกระบบรัฐสภา เกาะเกี่ยวกันและมีอิทธิพลทางการเมืองไทยอย่างล้นหลาม เช่น องคมนตรี ราษฎรอาวุโส กงอทัพ นักธุรกิจใหญ่ ข้าราชการ ไฮเปอร์รอยัลลิสม์ แม้แต่ในแต่ละกลุ่มก็มีการเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นองคมนตรีกับนักธุรกิจ กองทัพกับราชการ ทั้งหมดทำงานกันเป็นทีมเวิร์ก
ปวินกล่าวว่า แนวคิดในการมองเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ (Nework monarchy) นี้ ดันแคน แมกคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษคิดเป็นคนแรก ซึ่งดันแคนเสนอว่าถ้าเรามองแบบเครือข่ายเราจะเข้าใจได้อย่างดี และเครือข่ายที่ชัดเจนที่สุดคือเครือข่ายพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่ปกคลุมการเมืองทั้หมดตั้งแต่ปี 2480 เป็นต้นมา และคนเหล่านี้ทรงอิทธิพลโดยมีสถาบันกษัตริย์ตั้งอยู่บนยอดของเครือข่ายเหล่านี้
ความรู้ภูมิปัญญา ชุดความคิดทั้งหลายถูกผูกรวมเข้ากับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเราหลีกหนีไม่ได้ แม้แต่จะตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาก็ทำเกือบจะไม่ได้ในทุกวันนี้ แม้แต่ในแวดวงนักวิชาการก็อยู่ภายใต้การกดดันอย่างมาก มีไม่กี่ประเทศที่รัฐเข้ามาแทรกแซงแวดวงวิชาการ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นเป็นผลจากการปกป้องระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ปวินระบุต่อไปว่า การที่ผูกโยงสิ่งต่างๆ เข้ากับสถาบันฯ นั้นเป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งทำให้สถาบันดูเข้มแข็งแต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอลง การสรรเสริญเยินยอส่งผลให้เกิดสายใยความเกี่ยวโยงที่แนบแน่นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับสังคม เหมือนเป็นเรือนจำกักขังไม่ให้คนไทยแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา การคิดนอกกรอบอาจนำไปสู่การคุกคามเครือข่ายสถาบันกษัตริย์ คนที่ละเมิดข้อห้ามดังกล่าวมักจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง
"ประเทศไทยอ้างตัวเองว่าเป็นดินแดนแห่งความเสรี รักความอิสระ ดัดจริตไปถึงขั้นพูดว่าคนไทยทุกคนมีความจงรักภักดีแต่จับกันระเบิดเถิดเทิง" ปวิน กล่าว
การยกยอปอปั้นที่มีอย่างต่อเนื่องไม่จบสิ้น แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น การต้องเข้าไปดูหนังมีการฉายเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ และต้องยืนตรงก่อนดูหนัง ทั้งที่ประเทศอื่นเคยมีมาแล้วแต่หมดไปแล้ว ต้องถามว่าของเรายังมีอยู่เพราอะไร ประเพณีการหมอบคลานที่ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า แต่คนไทยก็ยังหมอบคลานอยู่
วิธีที่พวกนี้อธิบายว่าต้องเลือกใช้แนวคิดต่างประเทศให้เข้ากับประเพณีแบบไทยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมาตั้งแต่ ร.5 แล้ว ในความเป็นจริงหลักที่มาจากตะวันตกไม่ได้รับการส่งเสริม เป็นเพียงแต่ข้ออ้าง เป็นวาทกรรมของชนชั้นนำปัจจุบัน
หลังยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มา เรายังเป็นประชาธิปไตยแบบเปลือกนอก เพราะแก่นแท้ยังเป็นอุดมการณ์กษัตริย์นิยม กล่าวคือ แม้จะมีรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตย แต่ฝ่ายราชานิยมยังมีบทบาทสำคัญด้านการเมือง ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้ถูกเนรมิตเป็นนิทานให้สอดคล้องกับทัศนะของคนกรุงเทพฯเป็นหลัก รวมถึงสร้างประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม ทำหน้าที่ผูกโยงความคิดให้ประชาชนยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมากระบวนการยกย่องสรรเสริญกษัตริย์เข้มข้นจนถึงระดับที่น่ากังวลใจ พระมหากษัตริย์กลายมาเป็นเหมือนเพทพเจ้าที่ล่วงละเมิดไม่ได้ ขณะเดียวกันก็มีอีกภาพคือภาพพ่อของแผ่นดิน เป็นภาพต้นรัชสมัย ที่เดินทางไปทุกแห่ง ไม่มีรัฐบาลชุดใดในปัจจุบันที่จะสามารถเทียบทันพระมหากษัตริย์ในการเอาชนะใจปวงชน ประชาชนเห็นว่ากษัตริย์เป็นคำตอบสุดท้ายของทุกวิกฤตการณ์ แต่ภาพลักษณ์ทั้งสองแบบขัดแย้งกัน เพราะแม้จะใกล้ชิดกับประชาชนมากเพียงใด แต่ภาพที่เหมือนเทวราชาเป็นกำแพงปิดกั้นระหว่างสถาบันฯ กับประชาชน
ปวินกล่าวว่า ปัจจุบันมีการยกสถานะสถาบันกษัตริยให้เป็นมากกว่าธรรมราชา แต่เป็นเทวราชา ความแตกต่างนี้สร้างความซับซ้อนเมื่อพิจารณาจากบทบาทในทางการเมือง
พอล แฮนเลย์ ผู้เขียน The King Never Smile ระบุว่าการที่สถาบันกษัตริย์ลงมาเป็นผู้เล่นในทางการเมืองเสียเอง ก่อให้เกิดคำถามว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมืองจริงหรือไม่ เพราะถ้าทรงมีสถานะเป็นตัวแทนทางการเมืองเองก็ทำให้เกิดปัญหา conflict of interest เพราะเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเข้มแข็งก็จะถูกกำจัดไปในที่สุด และหนทางท้ายที่สุดก็มีการใช้มาตรา 112 มีการใช้มากขึ้นหลังรัฐประหารมากขึ้น ความพยายามทั้งหมดนี้ เป็นผลงานของฝ่ายราชานิยม แต่จำนวนใม่น้อยเป็นผลจากพระราชกรณียกิจของพระองค์เองในฐานะเป็นกษัตริย์นักพัฒนา
เกี่ยวกับวัฒนธรรมสาธาณณะ ความนิยมตั้งอยู่บนความเชื่อว่าถสายันกษัตริย์เข้ามายุติปัญหาทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน และสถานการณ์ในภูมิภาค ในช่วงสงครามเย็น และการต่อต้านกับคอมมิวนิสต์ การเข้ายุติจลาจลปี 2535 เป็นถ้วยรางวัลที่กษัตริยืได้ไปในฐานะผู้นรักษาเสถียรภาพของไทย ทำให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์ไม่สามารถแยกออกจากการเมือง
และที่ย้ำไปเบื้องต้นยังมีอะไรหลายอย่างที่ปลูกฝังลักษณะที่ไปด้วยกันไม่ได้กับประชาธิปไตย เช่น ความขัดแย้งระหว่างอำนาจของสถาบันกษัตริย์กับอำนาจที่มาจากเสียงข้างมากของประชาชน
ปวินกล่าวว่า คำว่าประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นเป็นปฏิพจน์กัน เป็นหลุมดำขนาดใหญ่ที่จะดูดกลืนระบบการเมืองเข้าไปในตัวเองทั้งหมด
และสุดท้ายกรณีการสืบสันตติวงศ์ เป็นประเด็นสำคัญที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอยากจะตั้งเป็นคำถามว่า บทบาทสำคัญของสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นมีความผูกพันอยู่กับตัวองค์พระมหากษัตริย์มากกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ การสืบสันตติวงศ์และ
ปวินกล่าวว่า ฝ่ายราชานิยมเริ่มกังวลใจถึงความนิยมในหมู่ประชาชน และขอฝากไว้กับพวกคลั่งเจ้าว่า ยิ่งสรรเสริญเยินยอรัชสมัยนี้ก็จะยิ่งทำให้รัชสมัยต่อไปอยู่ยากขึ้น
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์: ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับรากฐานการใช้สื่อของรัฐครอบงำประชาชน
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ร่วมอภิปรายในหัวข้อ “80 ปีปฏิวัติประชาธิปไตยไทย พ.ศ. 2475” กล่าวถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ โดยเริ่มต้นจากคำประกาศคณะราษฎรซึ่งประกอบด้วยหลัก 6 ประการ คือ ความเป็นเอกราช ความปลอดภัย การบำรุงความสุขสมบูรณ์ในทางเศรษฐกิจ ราษฎรมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน (ไม่ใช้พวกเจ้ามีสิทธิมากกว่าราษฎร์อย่างที่เป็นอยู่) มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระโดยไม่ขัดต่อหลักข้างต้น และให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร์ โดยหลักการเหล่านี้เป็นการรับรองศักดิ์ศรีความเป็นคนและเสรีชนของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่เรารู้จักในปัจจุบันคือหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ต่อคำถามเมล็ดพันธุ์ของประชาธิปไตยเติบโตงอกงามหรือไม่นั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นที่รับรองกว้างขวางในทางสังคม และได้ถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้สังคมได้รับทราบ เรียนรู้ เข้าถึงและได้อ้างอิงใช้ประโยชน์เรื่อยมา แต่ก็มีปัญหาในการบังคับใช้สำหรับสังคมไทย ทั้งนี้ กติกาในระดับสากลขององค์การสหประชาชาติ อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ค.ศ. 1976) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม (ค.ศ. 1976) ประเทศไทยให้การรับรองในปี พ.ศ. 2539 และพ.ศ. 2542 ตามลำดัง ซึ่งค่อนข้างล่าช้า โดยกติกาทั้ง 2 ฉบับ อยู่ในช่วง 2540 ซึ่งมีเงื่อนไขสังคมค่อนข้างอยู่ในภาวะของรัฐธรรมนูญสีเขียว รัฐบาลจึงเห็นว่าเป็นโอกาสอันควรที่ต้องรับรอง
อุบลรัตน์ กล่าวต่อมาว่า หลัง 2475 ในบริบทการสื่อสาร การสร้างวาทะกรรม การสร้างสัญลักษณ์ประชาธิปไตยและการต่อต้านประชาธิปไตยนั้นมีการต่อสู้กันตลอดเวลา ซึ่งในส่วนของการวางรากฐานระบบวิทยุโทรทัศน์ของรัฐ ในช่วง 25 ปีแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผู้นำคือ ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเป็นสมาชิกของคณะผู้ก่อการในคณะราษฎร แม้มีรัฐประหาร 2490 แต่การก่อร่างสร้างระบอบใหม่ที่ต่อต้านประชาธิปไตยได้เริ่มอย่างแข็งขันหลังปี 2500
ช่วงต้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การสร้างสัญลักษณ์ซึ่งเป็นรูปธรรมของรัฐธรรมนูญนั้นมีมากมายหลากหลาย รวมทั้งมีการเฉลิมฉลอง โดยสื่อที่ใช้คือวิทยุซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี 2473 จึงถือเป็นสื่อที่ก้าวหน้าและทันสมัยที่สุดที่คณะราษฎรและรัฐบาลหลังจากนั้นได้นำมาใช้ จะเห็นได้ว่าสื่อสารมวลชนเป็นเครือมือ กลไกในทางการเมืองที่ทั้งสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเผด็จการ และทุกฝ่ายที่เข้ามามีบทบาททางการเมือง รวมทั้งประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยด้วย
ในช่วงท้ายของสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งแรกขึ้น คือช่อง 4 บางขุนพรม ซึ่งสร้างความนิยมมากก่อนการเลือกตั้งในปี 2500 จนมาหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ ในขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกก็ได้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 เพื่อสู้กับช่อง 4 บางขุนพรม โดยใช้วันกองทัพไทย 25 ม.ค. 2501 เป็นวันก่อตั้ง และเมื่อเข้าสู่อำนาจก็ได้ใช้ทั้งช่อง 7 และเข้าควบคุมช่อง 4 ในการช่วงชิงอำนาจ โฆษณาชวนเชื่อ และทำสงครามจิตวิทยากับประชาชน และใช้ต่อมาในการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีหลวงวิจิตร วาทการ เป็นคีย์สำคัญที่ทำงานให้ทั้งในจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์
อุบลรัตน์ กล่าวต่อมาถึงนิยาม “ประชาธิปไตยแบบไทย” ว่านำมาจากงานวิจัยของทักษ์ เฉลิมเตียรณ ซึ่งยกคำพูดมาจากคณะรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ที่บอกว่า คณะปฏิวัติมีความมุ่งหมายที่จะทำประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย จึงได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2501 ยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่นำมาจากต่างประเทศทั้งดุ้น และเสนอว่าจะสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับลักษณะพิเศษและสภาวการณ์ของไทย ซึ่งทักษ์ เฉลิมเตียรณ เรียกว่า “ระบบข่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” มีคุณสมบัติสำคัญคือ ปกครองแบบพ่อขุน รักษาความสงบเรียบร้อยในครอบครัว ส่งเสริมสุขภาพและศีลธรรมซึงตกทอดมาถึงปัจจุบันดังกรณีรายการไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์ ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคุมระบบราชการและทหาร และส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่วนตัวขอเพิ่มเติมว่ามีเรื่องควบคุมเสรีภาพของสื่อมวลชนและปัญญาชนเข้าไปด้วย
วิธีการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือ การฟื้นฟูโบราณราชประเพณี เช่น พิธีแรกนาขวัญ พิธีแห่พระกฐิน เปลี่ยนวันชาติจากวันครบรอบการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา เป็นวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ และส่งเสริมพระมหากษัตริย์ให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของกองทัพ โดยนัยยะนี้สถาบันจึงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและศีลธรรม และนัยยะสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบอำนาจนิยมทหารของตนเอง เกิดคำศัพท์ “กองทัพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยกองทัพเป็นผู้ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ในยุคนี้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ผู้เป็นปฏิปักษ์ทางการเมืองจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ไม่จงรักภักดี ทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาด้วยข้อกล่าวหาเหล่านี้และถูกประหารชีวิต เช่น สส.ในภาคอีสาน โดยมีเครื่องมือคือ มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร พ.ศ.2502 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการรักษาความสงบเรียบร้อย ปราบปรามผู้มาบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาราจักร ราชบัลลัง และเศรษฐกิจของประเทศ
อุบลรัตน์ กล่าวด้วยว่า ระบอบ 3 จอมพล คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร มีสิ่งที่ตกทอดมาในส่วนการวางโครงสร้างด้านการสื่อสาร นอกเหนือจากจากการก่อตั้งโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ที่สนามเป้าในปัจจุบัน คือการขยายเครือข่ายวิทยุทหารที่สำคัญเช่น กองพลหนึ่งรักษาพระองค์ จเรทหารสื่อสาร วิทยุยานเกราะ กองทัพภาคและวิทยุประจำถิ่นต่างๆ ที่ลงไปในระดับจังหวัดและท้องถิ่น
จากสถิติ จำนวนสถานีวิทยุที่ขณะนั้นถือว่าเป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนมากที่สุด ปี 2515 ก่อนที่จอมพลถนอมและจอมพลประภาสจะถูกขับไล่ กองทัพบกมีสถานีวิทยุ 64 สถานี ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นตัวแทนหน่วยราชการถือเป็นสถานีวิทยุแห่งชาติมี 21 สถานี มาในปี 2525 กองทัพบกมี 90 สถานี ส่วนกรมประชาสัมพันธ์มี 71 สถานี โดยในส่วนของกระทรวงกลาโหมมีทั้งสิ้น 140 สถานี เกินครึ่งของจำนวนสถานีที่มีทั้งหมดในขณะนั้น จนในปี 2535 สถานีวิทยุของกองทัพบกก็ยังขยายจำนวนเป็น 128 สถานี
จะเห็นได้ว่าโครงสร้างนี้สถาปนาได้มั่นคง เพราะสามารถขยายไปได้เรื่อยๆ แม้บริบททางการเมืองจะมีการเลือกตั้ง หรือมีเหตุการณ์ 14 ตุลา ในขณะที่กรมประชาสัมพันธ์มี 136 สถานี และหากนับทุกกองทัพในกระทรวงกลาโหมจะพบว่ามีถึง 211 สถานนี้ ตรงนี้เป็นขุมอำนาจทางการเมืองที่สำคัญของฝ่ายกองทัพที่ใช้สร้างความชอบธรรมทางการเมือง และปัจจุบันยังคงต้องรักษาไว้
สำหรับโทรทัศน์ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นสื่อที่สำคัญมากสำหรับประชาชน ก็มีการขยายเครือข่ายสถานีโทรทัศน์โดยวิธีการให้สัมปทาน ช่อง 7 และ ช่อง 3 ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญคือเป็นการสร้างหนี้บุญคุณ ทำให้เกิดความเกรงใจ ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง ต้องไม่วิจารณ์เจ้าของสัมปทานคลื่น และตรงนี้กลายวัฒนธรรมการเมืองในสื่อโทรทัศน์ไทยมาจนถึงทุกวันนี้
อุบลรัตน์ กล่าวต่อมาถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ (ทีวีพลู) ซึ่งก่อตั้งขึ้นด้วยเรื่องเทคนิคในสมัยที่ทรัพยากรจำกัด มีโทรทัศน์เพียง 2 ช่อง เพื่อใช้ในการถ่ายทอดกีฬาซีเกมส์และเอเชียนเกมส์ เมื่อปี 2509 และ 2510 ต่อมาเมื่อมีสัมปทานโทรทัศน์จึงมีการมาตกลงรวมกัน และมีการสถาปนาเป็นโครงสร้างโดยแกนนำคือกองทัพบกช่อง 5 ทำหน้าที่เป็นประธานมาโดยตลอดไม่มีการหมุนเวียน และงานของทีวีพลูจากเดิมถ่ายทอดกิจกรรมแห่งชาติในเรื่องกีฬา ใน 20 ปีมานี้ได้เปลี่ยนมาเป็นการถ่ายทอดพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ทั้งของทหาร รัฐบาล และพิธีสำคัญทางศาสนา
เมื่อระบอบจอมพลสฤษดิ์ได้สถาปนากลไกเครื่องมือหรือโครงสร้างของสถานีวิทยุโทรทัศน์เอาไว้ โดยมีเครื่องมือคือมาตรา 17 การเปลี่ยนแปลงในระบอบการเมืองคลี่คลายสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา รัฐบาลคณะกรรมการปฏิรูปได้ประกาศ ปร.15 และ ปร.17 ซึ่งควบคุมข่าวสารในวิทยุและโทรทัศน์ โดยให้ถ่ายทอดข่าว ซึ่งกลายเป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบันในการถ่ายทอดข่าวภาค 07.00 น.และ 19.00 น.ปัจจุบันขยายมาเป็นข่าวในพระราชสำนักเวลา 18.00 น. และมี ปร.42 ซึ่งในส่วนสื่อสิ่งพิมพ์ได้มีการเคลื่อนไหวให้ยกเลิกไปในสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ส่วน ปร.15-17 มายกเลิกหลังปี 2540
จนมาถึงรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ หลัง พ.ศ. 2549 ได้มีการปฏิรูปกฎหมาย 6 ฉบับที่สำคัญต่อสิทธิในการสื่อสารของประชาชนแม้จะมีการพูดถึงกันน้อย คือ
1. พ.ร.บ.การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งย้ายการควบคุมสิทธิเสรีภาพจากสื่อสิ่งพิมพ์มาควบคุมประชาชนที่ใช้อินเตอร์เน็ต
2. พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่แก้ไขกฎหมายเก่าที่มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2484
3. พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่เหมือจะทันสมัยแต่กลับมีการกำหนดเรตติ้งที่ไม่เป็นสากล เปิดให้มีการแบนภาพยนตร์ได้
4. พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 เป็นที่มาของการก่อตั้งทีวีสาธารณะคือไทยพีบีเอส
5. พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แก้ไขมาจากปี 2498 ซึ่งเป็นปีที่มีการก่อตั้งช่อง 4 บางขุนพรม และ
6. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ซึ่งกำหนดให้ตั้งกรรมการกิจการโทรคมและวิทยุโทรทัศน์รวมเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มองเห็นถึงอำนาจในการควบคุมการสื่อสารของรัฐที่ขยายออกไป