นศ. รัฐศาสตร์หลายรั้วมหา'ลัยเดินรณรงค์ครบรอบ 80 ปี 24 มิ.ย. 2475

ประชาไท 24 มิถุนายน 2555 >>>




นักศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์หลายรั้วมหาวิทยาลัยเดินรณรงค์เรียกร้องให้สังคมให้ความสำคัญ 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 แม้ประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่น แต่ประชาชนยังศรัทธา ยืนยันจะต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารล้มประชาธิปไตยทุกรูปแบบ

9.30 น. วานนี้ (23 มิ.ย.) สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายสิงห์สัมพันธ์ เช่น นิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยบูรพาและมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เป็นต้น กว่า 100 คน ได้เดินขบวนรณรงค์ร่วมกันภายใต้ชื่อโครงการนิสิตนักศึกษากับประชาธิปไตย: ขบวน รณรงค์ครบรอบ 80 ปี 24 มิ.ย. 2475 โดยมีการเริ่มเดินขบวนรณรงค์จากสะพานมัฆวาน รังสรรค์ไปยังอนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย พร้อมทั้งจะมีการปราศรัยและจัดการแสดงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และสลายการชุมนุมไปเวลา 11.00 น.
โดยทางผู้จัดได้ให้เหตุผลของการเดินรณรงค์ครั้งนี้ว่าเพื่อให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญของวันที่ 25 มิถุนายน 2475 และเป็นการนำองค์ความรู้ทางรัฐศาสตร์ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและเพื่อให้นิสิตนักศึกษารัฐศาสตร์ได้ ใช้โอกาสในการร่วมจารึกเหตุการณ์สำคัญ ของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยร่วมสมัย ด้วยการแสดงออกทางการเมืองอย่างสันติ ผ่านการรณรงค์เรียกร้องและชี้ชวนให้สาธารณชนหวนระลึกถึงวันที่ 24 มิถุนายน เนื่องในโอกาสที่ปี 2555 นี้ นับเป็นการครบรอบปีที่ 80 ของการเปลี่ยนแปลงการ ปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยและตั้งคำถามว่าประเทศไทยเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นสิทธิ เสรีภาพและ หน้าที่ของพลเมืองชาวไทยด้วย
นายติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในฐานะผู้ประสานงานได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “ปีนี้ครบรอบ 80 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยากเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนหันมาระลึกร่วมกันว่า 80 ปีมาแล้วเราเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด เราหลงลืมความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนา 2475 ไปแล้วหรือปล่าว และที่สำคัญบริบททางการเมืองและสังคมในตอนนี้ หลายคนกำลังหมดหวัง สิ้นหวังและหมดความศรัทธากับกลไกทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา ส.ส. นักการเมือง หรือการกลัวเรื่องของสถาบันอื่นๆที่จะเข้ามาแทรกแซงกับระบอบประชาธิปไตย อาจจะมีการล้มกระดานระบอบรัฐสภาลง เราก็เลยจะเป็นส่วนหนึ่งในการเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทุกคนหันมาหวนระลึกและศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตยด้วยกัน เพราะผมเชื่อว่าถ้าเราทุกคนยังคงศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถล้มกระดานนี้ได้ เราจะดำรงต่อไป อยู่ในระบอบประชาธิปไตยต่อไปและจะยิ่งสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันครับ”
โดยนายติณณภพจ์ ได้วิเคราะห์ถึงความสนใจของนักศึกษาที่มีต่อการเมืองว่า “ถ้าเป็นการเมืองในปัจจุบันอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีต่างๆหรือว่ากลุ่มการเมืองต่างๆที่ออกมาเรียกร้องและใช้พื้นที่สาธารณะในการเรียกร้อง ในคณะรัฐศาสตร์ของเราเองก็มีน้องๆที่มีจุดยืนมีพี่ๆที่มีจุดยืนแตกต่างหลากหลายด้วยกันทั้งหมด แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมั่นใจและกล้ายอมรับกับสังคมไทยก็คือเราทุกคนต่างยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิดครับ ไม่ว่าคุณจะคิดต่างกันมากเพียงใด ไม่ว่าคุณจะคิดเหมือนกัน ไม่ว่าคุณจะขัดแย้งกันมากเพียงใด แต่เราอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ได้ครับ ซึ่งคณะรัฐศาสตร์จุฬาอยากเรียกร้องเป็นสำคัญเลยว่าอยากให้สังคมไทยหันมาเปิดใจยอมรับฟังทุกๆฝ่าย และไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน กิจกรรมในวันนี้ที่เรามาทำร่วมกันเป็นการใช้การเรียกร้องอย่างสันติและอหิงสา และเราก็หวังว่าทุกฝ่ายในสังคมไทยตอนนี้จะไม่ใช้ความรุนแรง”
เกี่ยวกับความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นายติณณภพจ์ มองว่า “เราอาจจะบอกว่าเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วไง แต่สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมันนำมาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ความเป็นพลเมืองและทุกอย่างเท่าที่เราจะเป็นพลเมืองไทย และเราควรจะได้รับในฐานะที่เราถืออำนาจอธิปไตยบนผืนแผ่นดินนี้ ซึ่งผมขอกล่าวขอบคุณคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และนำประชาธิปไตยลงมาสู่มือของประชาชนทำให้เรามีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค”
   “คณะราษฎรมองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคแก่พวกเรา แต่น่าเป็นห่วงทำไมในทางปฏิบัติแล้วสังคมไทยจึงไม่มีเรื่องของพื้นที่ของสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม นั่นเป็นเพราะเรายังไม่เปิดใจยอมรับครับ เรายังไม่อาจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความแตกต่างหลากหลายทางชนชั้น ความแตกต่างหลากหลายทางเพศภาวะ และอื่นๆ ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นปัญหาทางความคิดและอุดมการณ์ ผมคิดว่าต่อให้เราแตกต่างกันมากเพียงใดปัญหาที่เราต้องจัดการคือเราต้องเปิดใจยอมรับ เราต้องรับฟังผู้อื่นให้มาก” นายติณณภพจ์ กล่าว
สำหรับการแสดงละครในวันนี้ของทางกลุ่ม ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้อธิบายว่า “ที่ผ่านมาประชาธิปไตยกระท่อนกระแท่นบาดเจ็บหนักจากการถูกฉีกทิ้งถูกทำลายแต่ประชาชนก็ยังคงศรัทธา นำพาและเดินต่อไป ซึ่งในระยะทางต่างๆก็จะมีนักการเมืองที่ฉ้อฉล ทหารที่จะต้องล้มกระดานหมากนี้ลง ซึ่งภาพที่สะท้อนในละครก็จะเห้นว่าลำพังการต่อสู้ของคนหยิบมือเดียวนี่ไม่สามารถต่อสู้ได้แน่นอนที่จะทำให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะในขณะเดียวกันทั้งนักการเมืองและทหารต่างก็ผลิตซ้ำวาทกรรมและสร้างมายาคติเพื่อมาหลอกลวง เพราะฉะนั้นเราเองจะต้องเป็นตัวแสดงหลัก ตัวแสดงที่สำคัญที่สุดในการเรียกร้องประชาธิปไตยและเราจะต้องสร้างประชาธิปไตยไปได้ร่วมกัน”
นายติณณภพจ์ ย้ำถึงจุดยืนของนักศึกษาในการรักษาประชาธิปไตย “เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะต่อต้านการปฏิวัติรัฐประหารทุกรูปแบบไม่ว่าจะใช้รถถังหรือไม่ก็ตาม เราไม่อาจให้ใครมาล้มเกมส์หมากกระดานนี้ได้ครับ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกติกาของประชาธิปไตย ไม่ว่าใครจะชอบหมากกระดานนี้หรือไม่ก็ตาม เราจะใช้กติกาอย่างเสมอภาคร่วมกันครับ และเราจะเดินหน้าต่อไป  อย่างช่วงชีวิตของผมผมปัจจุบันมีอายุ 22 ปี ผมเกิดมาผมได้ทันเห็นและมีความทรงจำเพียงครั้งเดียวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหารก็คือในปี 2549 และคิดว่าเป็นความเลวร้ายที่สุดเท่าที่สังคมไทยเคยเผชิญมา ผมไม่อาจให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เป็นครั้งที่ 2 ในความทรงจำของผม ณ ตอนนี้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่คิดจะสนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหารและล้มประชาธิปไตยลง ขอกล่าวและเชิญชวนไว้ ณ ที่นี้ว่าอย่าเลยครับ ประชาธิปไตยมอบสิทธิ เสรีภาพและความเท่าเทียมแก่ท่านทุกคน ให้แก่ผมด้วยเพราะฉะนั้นเรามาร่วมกันจรรโลงสังคมไทยใช้กติการ่วมกันและทำให้สังคมไทยรุดหน้าก้าวหน้าต่อไปด้วยกันดีกว่านะครับ”
   “ผมปฏิเสธทุกรูปแบบของการปฏิวัติรัฐประหารและผลพวงของมัน เช่นกันครับ รัฐธรรมนูญปี 2550 ในปัจจุบันก็เป็นเศษซากความเน่าเฟะของการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะฉะนั้นผมคิดว่าจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข กลไกที่สำคัญอาจไม่ได้อยู่ที่นักการเมือง กลไกที่สำคัญคือประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันออกมาเคลื่อนไหวแล้วแสดงจุดยืน และทำให้ประชาธิปไตยเป็นของประชาชนคนไทยสร้างรัฐธรรมนูญของคนไทยขึ้นมาอย่างแท้จริง” นายติณณภพจ์ กล่าวทิ้งท้าย