ตุลาการลั่น "ม.68" ใหญ่กว่ารัฐสภา หากทำอะไรขัดย่อมยับยั้งได้

แนวหน้า 10 มิถุนายน 2555 >>>




ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษทางสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับตีความร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถือว่าขัดกับ มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเรื่องของการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำลังเป็นประเด็นที่เกิดเป็นปัญหา เนื่องจากรัฐธรรมนูญเขียนไม่กระจ่างชัด โดยให้ประชาชนมีสิทธิเสนอต่ออัยการสูงสุด และยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็แปลได้สองทาง เป็นกรณีของของประชาชนที่ทราบเรื่อง หรืออัยการสูงสุด (อสส.) ที่ต้องยื่นเรื่องเข้ามา อสส. ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ เพราะฉะนั้นเห็นด้วยว่า อสส. จะต้องมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการวิเคราะห์พิจารณาว่า จะยื่นหรือไม่ยื่น ไม่ใช่เอาคำว่าและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมาบังคับ อสส. แต่คำว่าและยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้
ส่วนกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มองว่าอาจเข้าไปแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้น นายจรัญ กล่าวว่า การมีคำสั่งของศาลไม่ได้ทำให้เสียหายร้ายแรงอะไร ส่วน อสส. จะมีมติไม่ส่งเรื่องนั้นก็ทำได้ เพราะงานที่ต่างกัน อัยการต้องตรวจสอบหลักฐานก่อน ส่วนงานของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องรับเรื่องเข้ามาก่อน แล้วจึงไต่สวนเรื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐสภายังไม่ตรา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ เมื่อยังไม่ตรากฎหมายออกมา รัฐธรรมนูญ มาตรา 300 ให้ศาลออกข้อกำหนดเอง เพราะฉะนั้นข้อกำหนดจึงเสมือนหนึ่งเป็นวิธีการพิจารณาคดี ซึ่งถ้าไม่มีส่วนนี้ เราก็ทำงานไม่ได้ ถ้าเรื่องไม่เขียนไว้จึงมีการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่งมาใช้ ซึ่งพบว่า มาตรา 264 ที่ถือเป็นกฎหมายอ่อนที่สุด ไม่ใช่ห้าม แต่เป็นคุ้มครองชั่วคราว เพื่อประโยชน์แก่พิพากษาคดีต่อไป
   "ผมยืนยันว่า การออกคำสั่งก็ให้ออกคำสั่งไปยังประธานรัฐสภา เป็นตัวบุคคล ไม่ใช่สั่งไปยังรัฐสภา ยืนยันว่า ไม่ได้เหิมเกริม เอาอำนาจตัวเองเป็นใหญ่ เมื่อเราเห็นว่ากฎหมายไปได้ ก็มาอยู่ที่ความชอบธรรม เพราะต้องมาชั่งน้ำหนักว่า ถ้าไม่ใช้แล้วผลเสียหายร้ายแรงจะขนาดไหน ถ้าใช้แล้วผลจะเป็นอย่างไร ต้องดูดุลยภาพของความเสียหายทั้งสองด้าน ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ว่า ถ้าเป็นจริงตามคำฟ้องแล้วไม่ยั้งไว้ก่อน คำวินิจฉัยต่อไปของศาลจะไม่มีทางแก้ แต่ยั้งไว้ก่อนเพื่อไต่สวน ถ้าหากบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรตามคำฟ้อง ก็จะเดินไปได้อย่างสง่าผ่าเผย อย่างยั่งยืน" นายจรัญ กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้าคำสั่งของศาลส่งไปยังประธานรัฐสภาแล้วประธานไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง นายจรัญ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนุญไม่มีอำนาจบังคับการ ทำได้แต่วินิจฉัยว่าข้อกฎหมายเป็นอย่างไร การบังคับอยู่ที่กระบวนการของกฎหมาย ถ้าประธานรัฐสภาหรือรัฐสภาไม่เชื่อถือตามคำสั่ง ศาลก็ทำอะไรไม่ได้ แต่จากนั้นผลทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร เราไม่รู้ ส่วนเรื่องยุบพรรค ตนไม่คิดว่าจะมีอะไร เพราะเรามุ่งไปที่สภาไม่ใช่ที่พรรคการเมือง
ส่วนประเด็นเรื่องการแทรกแซงอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ นายจรัญ กล่าวว่า ไม่ใช่การไปขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเรารู้ว่าหลักคิดพื้นฐานที่เราใช้ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ศาลเข้าไปแทรกแซง แต่เพราะมีรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จากครั้งแรกในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชาชนมีสิทธิหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าคณะรัฐมนตรี รัฐสภา รวมทั้งใหญ่กว่าศาล ถ้าศาลทำขัดแย้งต่อมาตรา 68 ก็ถูกยับยั้งได้ ไม่ใช่ใครใหญ่กว่าใคร
   "วันนี้ประชาธิปไตยต้องตั้งบนฐานของหลักนิติธรรม และต้องให้ความน่าเชื่อถือ ต้องให้ฝ่ายตุลาการเข้ามาถ่วงดุลอำนาจ ไม่เช่นนั้นใครจะยับยั้งการกระทำที่นอกช่องทางของฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ โดยขอให้ทำให้เป็นธรรมไม่กลั่นแกล้ง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ว่ามีอำนาจเหนือกว่า เพราะอำนาจอยู่ที่บริหาร นิติบัญญัติ หากออกกฎหมายมาจัดการตุลาการได้ หากตุลาการทำไม่ดี ก็ไปสู่กระบวนการถอดถอนได้" นายจรัญ กล่าว