นัก กม. ยัน ม.68 ต้องผ่าน อสส. ก่อนส่งศาล รธน.

โพสท์ทูเดย์ 7 มิถุนายน 2555 >>>




เสวนาสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย นักกฏหมายยัน ม.68 ต้องผ่าน อสส. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ

วันนี้ เมื่อเวลา 9.30 น. ที่สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยได้จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “อำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ อยู่ที่ใคร ?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ นายมะโน ทองปาน นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ และนายมานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายมะโน กล่าวว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่จะใช้ช่องทางตามมาตรา 68 เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) เท่านั้น กรณีละเมิดสิทธิผู้ร้องสามารถใช้สิทธิยื่นต่อศาลได้โดยตรง และการศาลรัฐธรรมนูญ จะนำคำว่า “และ”มาเป็นสิ่งที่ใช้อ้างอิงในการตีความ ถือเป็นสิ่งที่ขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้  เพราะเจตรมณ์ได้ให้อสส. ก็เพราะต้องการให้มีการกลั่นกรองเรื่องก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการทำงานของศาลที่มีประสิทธิภาพ และศาลได้มีเวลาในการพิจารณากฎหมายสำคัญเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ การนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้คุ้มครองชั่วคราว ก็เป็นเรื่องประหลาดอีกเช่นกัน โดยเฉพาะการอ้างถึงกรณีเร่งด่วน ทั้งที่ยังไม่มีเหตุผลรองรับ ขณะเดียวกัน การคุ้มครองชั่วคราว ตามการพิจารณาศาลต้องฟังข้อมูลอีกฝ่ายก่อนจะมีคำสั่งใดๆออกไป ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่การฉุกเฉิน และคำสั่งของศาลครั้งนี้ที่จะระงับการดำเนินการของรัฐสภานั้นไม่สามารถนำกฎหมายใดมาอ้างอิงได้
   “การตีความตามตามรัฐธรรมนูญ ต้องใช้ดุลพินิจตีความ และต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง โดยต้องรู้กฎหมายอย่างกว้างขวางพอสมควร เพื่อให้รู้ว่าเหตุผลของการเขียนตรงนี้เพื่ออะไร ซึ่งไม่เชื่อว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่รู้กฎหมาย แต่เชื่อว่าต้องมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องตีความแบบนี้ ซึ่งถ้าดูตามเจตนาแล้วในการกระทำทั้งหมด ก็มีเหตุผลพอสมควรที่จะดำเนินการต่อไปได้” นายมะโน กล่าว
นายลิขิต กล่าวว่า มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2550 บัญญัติชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาก็ต้องส่งให้ อสส. ซึ่งการตีความกฎหมายที่ต้องตีความตามลายลักษณ์อักษรและตามเจตนารมณ์ ต้องตีความคู่กัน โดยชัดเจนที่สุดว่ามีความจำเป็นต้องส่งให้ อสส. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเจตนารมณ์ของมาตรานี้จะต้องผ่าน อสส. และจะไม่สามารถอ้างได้ว่าใช้วิธีการชั่วคราว โดยเข้าข่ายประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่ง มาตรา 264  เพราะใกล้เคียงใกล้กับรัฐธรรมนูญไม่ได้
   “ที่มีการบอกว่าไปดูฉบับภาษาอังกฤษนั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญราชอาชณาจักรไทย จะเอาภาษาอังกฤษเป็นหลักไม่ได้ หรือจะไม่ยอมรับภาษาไทยว่าไม่ถูกต้อง ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องรู้กฎหมายเป็นอย่างดี” นายลิขิต กล่าว
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งระงับ ชะลอ การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 นั้น ทำไม่ได้ และหากสภาฯ ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นมีความผิดแน่เพราะละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยจะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และเข้าข่ายผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 จงใจละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย
ส่วนเรื่องท่าทีของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนพยายามเลี่ยงไม่พูดเรื่องการเมือง แต่ก็ตั้งข้อสังเกตุว่า  นายวสันต์อาจไม่รู้แล้วเข้าใจว่าถูกต้อง หรืออาจจะมีพลังบางอย่างบอกให้ทำแบบนี้ แต่ตนไม่คิดว่าเรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้น ซึ่งตนยังเคารพนับถือนายวสันต์ เพราะผ่านงานมามาก ขณะที่หากมีความหวังดีที่ระงับไม่ให้มีเหตุการณ์วุ่นวายนั้น ก็ต้องตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมและหลักการ ซึ่งขณะนี้ไม่มีหลักที่เหลืออยู่ให้เดินตามได้แล้ว
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังแสดงให้เห็นว่า เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญค่อนข้างมีปัญหา เพราะมีการถกเถียง 3 เรื่อง คือ
1. ช่องทางที่รับเรื่อง ประชาชนยื่นได้หรือไม่
2. สภาฯพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และ
3. อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ อำนาจที่สั่งมาจากมาตราไหน ต่อให้ตีความเข้าข้างศาลรัฐธรรมนูญก็จะยังไม่มี และเรื่องนี้ศาลคงตระหนักว่าเป็นจุดอ่อนและตอบคำถามไม่ได้ว่าอำนาจการแทรกแซงการพิจารณาของนิติบัญญัติไม่มี ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนการช่วงชิงการนำอำนาจ ทางการเมืองระหว่างฝ่ายรัฐสภากับตุลาการ ที่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540-2550 ส่วนการยุบพรพรคนั้น ต้องเป็นกรณีที่มีความผิดเกิดขึ้นก่อน แต่ขณะนี้ยังคงเป็นการตอบคภถามว่าอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำสั่งนั้น ไปไกลได้ขนาดไหน และยังไม่ไปไกลขนาดนั้น