นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เปิดเผยว่า ในประธานยกร่างในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนรวมของประชาชน การกระจายอำนาจและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐนั้นทราบดีว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 50 โดยในมาตรา 68 ที่มีข้อถกเถียงกันอยู่นั้น หากพิจารณาตามตัวอักษรหรือรูปประโยค จะเห็นว่าประโยคเริ่มต้นด้วย "ผู้ทราบการกระทำ" เป็นประธานของประโยค ไม่ใช่ "อัยการสูงสุด" เป็นประธานของประโยค ดังนั้นประชาชนผู้ทราบการกระทำย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการได้ในเวลาเดียวกัน แต่หากตีความว่าอัยการสูงสุดเป็นประธานของประโยค ผู้ทราบการกระทำก็ได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเมื่อสามเดือนที่แล้ว
นพ.ชูชัย กล่าวว่า นอกจากนี้หากพิจารณาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจะพบว่าในมาตรา 212 ที่ให้สิทธิประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับในภาพรวมที่ขยายสิทธิและเพิ่มอำนาจให้ประชาชนอย่างเต็มที่ ว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ กลไกอื่นใดจะมาขัดขวางการเข้าถึงศาลรัฐธรรมนูญของประชาชนมิได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลในเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิเสรีภาพว่า หากใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว แต่เห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือมีความล่าช้าเกินความจำเป็นก็สามารถแสวงหากลไกอื่นที่มีอยู่ในการคุ้มครองการถูกละเมิดสิทธิได้ ดังนั้นการดำเนินการของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวตนเห็นว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว