วันนี้ (11 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง แถลงข่าวตอบโต้นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาระบุว่า การยื่นให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 สามารถทำให้ 2 วิธี คือผ่านอัยการสูงสุดและยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งจากการตรวจสอบรายงานการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ครั้งที่ 27 /2550 วันที่ 18 มิ.ย. 50 พบว่าในวันดังกล่าวมี อดีต ส.ส.ร. ที่เข้าประชุม ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจุบัน 3 คน ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกต์ นายนุรักษ์ มาประณีต โดยในวันดังกล่าว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีต ส.ส.ร. ได้ขอแปรญัตติ ซึ่งสาระสำคัญในการประชุม ระบุว่า “หากจะมีการยื่นตามมาตรา 68 นั้นต้องผ่านอัยการสูงสุด (อสส.) ก่อนว่าจะชี้มูลหรือไม่ ก่อนจะนำเรื่องเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป” ขณะเดียวกัน นายจรัญ ได้อภิปรายเสริมไปในทิศทางเดียวกันด้วย
นายก่อแก้ว กล่าวว่า จากกรณีที่มีการร้องว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะโหวตวาระ 3 มีเนื้อหาที่จะนำไปสู่การล้มล้างนั้น ตนยืนยันว่าไม่มี เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านวาระ 2 ไม่มีเนื้อหาใดๆที่จะไปล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้ ซึ่งตรงนี้มีบัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 291/11 วรรคห้า
นายก่อแก้ว กล่าวต่อว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาตนมีข้อมูลว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ถูกฝ่ายตรงกันข้ามข่มขู่ ว่าถ้าหากมีการโหวตรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 และหากศาลรัฐธรรมรัฐธรรมนูญตัดสินในภายหลังว่าคำร้องทั้ง 5 คำร้อง มีมูลศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีการดำเนินคดีกับประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และ ครม.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่ข่มขู่ประธานรัฐสภาเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาลใช่หรือไม่ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ตนไม่มีข้อมูลขนาดนั้น แต่รู้จากอาการประธานรัฐสภาจากข้อมูลวงใน ว่ามีความกลัวในเรื่องนี้ เมื่อถามย้ำว่า ทำไมไม่รอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องก่อนแล้วค่อยมาลงมติ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ตรงนี้ผิดหลัการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งผิดหลักการในระบอบประชาธิปไตย และที่ผ่านมาหลายครั้งสภาเคยส่งเรื่องไปที่ศาล อาทิ เรื่องการขอประกันตัว ส.ส.เสื้อแดง เขาก็ไม่เคยฟังเราเช่นกัน
นายก่อแก้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 12 มิ.ย. นี้ มั่นใจว่าจะไม่มีการโหวตรัฐธรรมนูญ วาระ 3 แน่นอน แต่ตนจะเสนอญัตติให้มีการโหวตว่า “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมติเสียงส่วนใหญ่ มาเป็นฉันทานุมัติให้นายสมศักดิ์ ได้ตัดสินใจ เปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติโหวต วาระ 3 ต่อไป