เกม "แก้ รธน.291" สภาชน "ศาลรัฐธรรมนูญ" เกมค่ายกล ′ยุบพรรค′ ?

มติชน 6 มิถุนายน 2555 >>>




และแล้วร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291 ก็นำศาลรัฐธรรมนูญกับรัฐสภามาเผชิญหน้ากัน
เหตุเกิดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพื่อรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ขณะที่รัฐสภา โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนฯ แย้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจสั่งการฝ่ายนิติบัญญัติ และการรับเรื่องเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ข้ามขั้นตอน มิได้ยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
คำถามคือ เรื่องนี้จะไปยุติ ณ ตรงจุดไหน
สำหรับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีมติ 7-1 รับเรื่องไว้พิจารณา มีท่าทีเป็นเอกภาพอย่างยิ่ง
ทั้งนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาล นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายบุญส่ง กุลบุปผา ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ สามารถกระทำได้ แม้ในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเองได้กำหนดวิธีการว่า ให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดก็ตาม
เมื่อเป็นเช่นนี้ คาดหมายได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเดินหน้าทำการไต่สวนตามกำหนดนัด จากนั้นจะมี "คำสั่ง" อย่างใดอย่างหนึ่ง
ประเด็นสำคัญอยู่ที่ "คำสั่ง" นี้เอง อาจจะพิจารณาแล้วไม่มีมูล อาจสั่งยกเรื่อง ดังที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ได้กล่าวไว้ นั่นย่อมเป็น "ข่าวดี" ของผู้ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่มาตรา 68 วรรคสามและสี่ กำหนดไว้อย่างเข้มข้นว่า หากพบว่ามีการกระทำตามข้อกล่าวหา นอกจากจะสั่งการไปยัง "บุคคล" หรือ "พรรคการเมือง" ให้เลิกกระทำการดังกล่าวแล้ว ยังอาจสั่งยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมืองหัวหน้าพรรคเป็นเวลา 5 ปีอีกด้วย
แม้จะเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมาตรา 68 เอ่ยถึง "บุคคล" และ "พรรคการเมือง" ก็เป็นเรื่องยากที่พรรคเพื่อไทยจะรักษาอาการนิ่งเฉย
พรรคเพื่อไทยถูกยุบมาแล้ว 2 ครั้ง ในนามพรรคไทยรักไทย และในนามพรรคพลังประชาชน จึงตั้งการ์ดสูงเตรียมพร้อมเอาไว้ตลอด แม้ขณะนี้ ก็มีการจดทะเบียนพรรคสำรองไว้ในชื่อ "พรรคเพื่อธรรม"
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ตีความมาตรา 68 เช่นนั้น ประธานรัฐสภาจึงเหลือทางเลือกไม่มากนัก
ทางหนึ่ง อาจยุติกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน เพื่อรอคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ทางหนึ่ง เดินหน้าเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติในวาระ 3
อีกทางหนึ่ง รอการดำเนินการในกระบวนการยื่นถอดถอน ตามมาตรา 270-271 ของรัฐธรรมนูญ
สำหรับกระแสการเคลื่อนไหวถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการดาวน์โหลดแบบฟอร์มยื่นถอดถอน ในเว็บไซต์ของคนเสื้อแเดง
ส่วนนายประสพ บุษราคัม ประธานคณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สภาผู้แทนฯ ก็เรียกร้องให้ ส.ส. ยื่นถอดถอนแทนภาคประชาชน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน
ณ เวลานี้ ยังไม่มีใครกล่าวถึงการ "ถอย"
แต่หากทุกฝ่ายพร้อมใจกันเดินหน้า จะเป็นอีกฉากของความยุ่งยากทางการเมือง ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ ใครจะได้ประโยชน์จากความยุ่งยากนี้