น.พ.เหวง โตจิราการ
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.
ผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงถูกยัดเยียดความตาย โดยหลักรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์นั้น รัฐจะต้องชดเชยให้กับประชาชน เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ชุมนุม
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำลายและเหยียบย่ำผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ขณะที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ เข้ามาแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินเยียวยาให้
หากรัฐไร้ซึ่งความรับผิดชอบก็เป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องฟ้องร้องทางแพ่งรวมทั้งทางอาญา เพื่อเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหาย นำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จ่ายเงินเยียวยาให้กับครอบครัวของผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ เพราะนายกฯ ไม่ต้องการให้ประชาชนเดือดร้อนและลำบากหากต้องไปฟ้องร้องทางแพ่งกันเอง เพราะการดำเนินการดังกล่าวจะต้องใช้เวลา 5-6 ปี เป็นช่วงที่ยาวนานมากกว่าจะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งอำมหิตเกินไป
เมื่อนายกฯเยียวยาให้รายละ 7.75 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมแล้ว ดังนั้นครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไม่ควรฟ้องร้องในทางแพ่งอีก แม้ว่าจะยุติการฟ้องร้องทางแพ่งไปแล้ว ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บยังสามารถฟ้องร้องอาญาต่อไปได้
ผมมองว่าการยุติฟ้องร้องทางแพ่งจะไม่กระทบไปถึงการฟ้องร้องทางอาญา แต่กลับจะเป็นประโยชน์และเพิ่มน้ำหนักในการฟ้องทางอาญาให้มากขึ้นอีกด้วย เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือไปก่อนแล้ว
กิตติศักดิ์ ปรกติ
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
เงื่อนไขดังกล่าวเป็นสิ่งที่รัฐกำหนดได้อยู่แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าญาติผู้สูญเสียหรือผู้เสียหายยอมรับเช่นนั้น จะต้องสละสิทธิ์ค่าเยียวยาทางอื่น
แต่อันที่จริงค่าเยียวยาไม่ใช่ค่าเสียหาย ดังนั้นผู้ที่รับเงินสามารถสงวนสิทธิ์ที่จะฟ้องได้ ขึ้นอยู่กับว่าทางราชการจะยอมรับเงื่อนไขด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องของการเจรจาประนีประนอมกันแล้ว หากญาติผู้สูญเสียหรือผู้เสียหายคิดว่าความเสียหายที่ได้รับมันมากกว่าความรับผิดชอบเท่านี้
แต่ส่วนถ้าจะโต้แย้งภายหลังที่มีการลงลายลักษณ์อักษรแสดงความยินยอมไปแล้ว ก็สามารถฟ้องร้องได้แต่เพียงการกระทำที่รัฐผิดเท่านั้น จะเรียกค่าเสียหายอีกไม่ได้ นอกจากว่ารัฐจะเรียกเงินคืนกับผู้ที่เสียหายโดยที่รัฐไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดมากกว่า จึงอยากให้เข้าใจว่า ถ้าพอใจกับการรับเงินเยียวยาส่วนนี้จะไม่มีผลกระทบต่อคดี 98 ศพ ที่เกิดขึ้นนั่นเอง
เพราะการจ่ายค่าเยียวยา สื่อถึงความหมายแล้วว่า รัฐยอมรับเรื่องคดีนี้เป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของรัฐ
การที่รัฐยอมรับว่าผิด จึงเป็นอำนาจรัฐในการแสดงความรับผิดชอบ จะด้วยการจ่ายเงินเยียวยาก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับใดๆ ทั้งสิ้น
ไม่ใช่ระบบราชการที่ต้องมารอให้ศาลตัดสิน เพราะถ้าต้องรอความล่าช้าอย่างนั้นประชาชนก็แย่กันหมด
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
โดยปกติความเสียหายระหว่างเอกชนกับเอกชน สามารถระบุเงื่อนไขห้ามใดๆ ได้อยู่แล้ว เอกชนกับรัฐก็น่าจะกำหนดได้เช่นกัน
แต่ถ้ารัฐมีการปกป้องตัวเองจากการถูกฟ้องร้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มแล้ว การประเมินคำนวณค่าเยียวยาก็ควรรอบด้าน ละเอียดอ่อนพอสมควร เพราะแต่ละรายความเสียหายแตกต่างกัน
ดังนั้นอยู่ที่ว่าค่าเยียวยาที่รัฐให้นั้นประเมินจากความเหมาะสมครอบคลุมการร้องคดีแพ่งแล้วใช่หรือไม่ ครอบครัวผู้เสียหายเห็นว่าค่าเยียวยาเพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยมั้ย สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นคำตอบการรับเงินเยียวยามากกว่า ซึ่งถ้าเห็นว่ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งยอมรับข้อตกลง
แต่เชื่อว่าสิ่งสำคัญของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่การใช้ความรุนแรงและการรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรตระหนักถึงโทษการสั่งการที่ไม่ชอบโดยตัวเองมากกว่า ซึ่งการตัดสิทธิ์คดีแพ่งจึงไม่กระทบกับการเอาผิดทางอาญา อธิบายง่ายๆ คือกระบวนการทางอาญายังไม่ยุตินั่นเอง
ส่วนที่แม้ว่ารัฐจะยอมรับความผิดที่เกิดขึ้น แต่หลักการจ่ายเงินเยียวยาจะต้องมีกฎหมายรองรับด้วยเสมอ แล้วแต่ว่าจะอาศัยกฎระเบียบใดมาใช้ ไม่อย่างนั้นจะไม่มีขอบเขตการจ่ายเงินของรัฐบาลที่อิสระจนเกินไปได้
ดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดตรงนี้ และถ้ามีการอ้างอาศัยอำนาจจริงก็ต้องมาดูกันอีกว่า กฎระเบียบนั้นเปิดช่องสามารถให้อำนาจรัฐจ่ายเงินเยียวยาเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ ซึ่งต้องขยับไปดูอีกขั้นตอนหนึ่งว่า จะเป็นการกระทำผิดให้อีกฝ่ายฟ้องร้องต่อ ป.ป.ช. ได้หรือไม่นั่นเอง
กรณีการรับเงินเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงทางการเมืองช่วงปี 2548-2553 ปรากฏเอกสารสัญญาที่จะต้องให้ทางญาติเซ็นรับ มีเงื่อนไขระบุว่า ผู้รับเงินจะต้องไม่ใช้สิทธิ์ทางศาลเป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกรับค่าเสียหายจากหน่วยงานใดๆ ของภาครัฐอีก
ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังขาให้กับญาติผู้เสียชีวิตและเหยื่อที่ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง ว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะส่งผลต่อการฟ้องร้องในคดีอาญาและกระทบถึงคดี 98 ศพด้วยหรือไม่
ธงทอง จันทรางศุ
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานอนุกรรมการเยียวยาทางแพ่งฯ
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะประธาน ปคอป. และผู้ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงแล้วว่าแบบฟอร์มเอกสารรับเงินดังกล่าว เป็นเรื่องของการไม่ฟ้องร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่ได้ตัดโอกาสดำเนินคดีอาญา หรือการฟ้องร้องทางแพ่งกับตัวบุคคล
ที่ระบุในเอกสารเพราะเห็นว่าถ้าไปฟ้องร้องหน่วยงานก็จะเกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินก้อนเดียวกัน เมื่อพูดกันแล้ว ญาติผู้สูญเสียและผู้เสียหายก็สบายใจขึ้น เกิดความมั่นใจ ได้รับความชัดเจน และลงนามรับเงินในแบบฟอร์ม
เรื่องการจ่ายเงินเยียวยาในลักษณะนี้ไม่ได้ทำเป็นครั้งแรก เหตุการณ์ที่เกิดการกระทบกระทั่งทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมาก็มีการจ่ายเงินในลักษณะนี้มาหลายครั้งหลายรัฐบาล ไม่เฉพาะรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง
เงินที่จ่ายก็มาจากงบประมาณแผ่นดินในส่วนของงบกลาง ซึ่งเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารพิจารณาหากเห็นว่าเป็นเรื่องฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ก็จ่ายได้ตามกฎหมาย
แต่ใครที่ติดใจสงสัย จะสอบถามหรือดำเนินกรรมวิธีอะไรที่จะสอบทานในเรื่องนี้ เราก็พร้อมรับการตรวจสอบ