ประชาไท 17 พฤษภาคม 2555 >>>
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 55 เวลา 10.00 น. เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย ญาตินักโทษทางการเมือง นักโทษ ม.112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ เช่น นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) และ แม่นายสุรภักดิ์ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ เป็นต้น ได้รวมตัวกันประมาณ 50 คน บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 ทันที โดยให้รวมนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 เป็นนักโทษการเมือง ทบทวนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์และข้อเสนอของและคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) รวมทั้งพัฒนาความเป็นอยู่คุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง
โดยมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมารับจดหมายดังกล่าวแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมกับพูดคุยกับผู้ชุมนุม และยืนยันว่า "จะต้องไม่มีใครเป็นเหมือนอากงอีก" (ทั้งนี้ อากงหรือ นายอำพล หรือเป็นที่รู้จักในทางสาธารณะในนามว่า "อากง SMS" ผู้ต้องขังคดี ม.112 ที่ได้เสียชีวิตในเรือนจำเมื่อวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา)
น.ส.จิตรา คชเดช ผู้ประสานงานกลุ่มในนามเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า การมาครั้งนี้เพื่อยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองและยกสถานะนักโทษตามคดีอาญามาตรา 112 เป็นนักโทษการเมือง ข้อ 2 ให้ทบทวนการแก้ไขมาตรา 112 ที่รัฐบาลพูดมาตลอดว่าจะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 นี้ อยากให้หยิบไปทบทวนดู เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยหรือว่ากลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรแรงงานก็มีการเรียกร้องมาจากทั่วโลก รวมถึงคนในประเทศเองก็เห็นว่ามาตรา 112 มีปัญหา ซึ่งกรณีอากงหรือนายอำพลก็เสียชีวิตในเรือนจำ และข้อที่ 3 อยากให้ดูแลความเป็นอยู่ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร เรื่องการรักษาพยาบาลและเรื่องที่อยู่ที่ไม่แออัด
“รองนายกยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้มารับจดหมายแทนนายก ได้รับปากว่า เรื่องทั้งหมดที่เราพูดถึง ท่านเข้าใจดีและก็ทราบเป็นอย่างดีแล้วก็จะเร่งแก้ไขและดำเนินการให้อย่างเร่งด่วน” ผู้ประสานงานเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตยกล่าว
จิตรา คชเดช ให้เหตุผลที่ควรมีการแก้ไข ม.112 ว่า “เพราะเป็นมาตราหนึ่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดแย้งกับหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มีปัญหาเรื่องของใครก็ได้ที่จะแจ้งความจับใครก็ได้ และคดีนี้ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เวลาพิพากษาไปแล้วก็ไม่นำไปสู่สาธารณะ เพราะอาจจะโดนข้อหาหมิ่นฯ ซ้ำได้ เพราะฉะนั้นเมื่อมาตรา 112 เป็นปัญหาแบบนี้ มันเท่ากับมันไม่มีเสรีภาพที่เราจะพูดอะไรหรือจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือที่จะเข้าถึงข้อมูลได้โดยมาตรานี้ คิดว่าจะต้องมีการแก้ไข”
“เราจะเห็นได้ว่าคนที่โดนมาตรา 112 นี่ มันจะไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เพราะว่าคนที่โดนมาตรา 112 สิ่งที่เขาพูดหรือเผยแพร่ออกไปมันไม่ได้ไปสู่สังคมส่วนใหญ่เลย เรียกว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาพูดหรือเขาทำอะไร เพราะฉะนั้นสังคมส่วนใหญ่แทบไม่รับรู้ ในเมื่อสังคมส่วนใหญ่ไม่รู้มันก็ไม่กระทบกระเทือนต่อสังคมอยู่แล้ว แต่มันกลายเป็นว่ามันเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม หรือว่าเป็นเรื่องของการรับรู้ภายในแล้วก็มีการลงโทษกันภายใน ซึ่งถือว่าเป็นโทษรุนแรงมากถ้าเทียบกับโทษอื่นๆ” จิตรากล่าว
นอกจากนี้จิตรา ยังได้เปิดเผยถึงกิจกรรมของทางกลุ่มในครั้งต่อไปว่าในวันที่ 19 พ.ค. นี้ จะมีการเดินรณรงค์จากลาน ร.6 หน้าสวนลุมพินีไปที่ ราชประสงค์ เพื่อเรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 แล้วก็ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองด้วย
ทั้งนี้ในส่วนของจดหมายที่ทางกลุ่มนี้ได้ยื่นต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีใจความว่า เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมประชาธิปไตยและญาตินักโทษการเมือง นักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 เห็นปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่อนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 เกี่ยวกับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งมีความพยายามประกันตัวหลายครั้งให้กับนักโทษที่คดียังไม่สิ้นสุด และสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ จนได้มีเหตุการณ์ที่ทุกคนขวัญเสียเป็นอย่างมาก กรณี นายอำพล ตั้งนพกุล (อากง) นักโทษคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งศาลมีคำพิพากษาลงโทษ 20 ปี โดยที่ทนายความมีความพยายามประกันตัวถึง 8 ครั้ง แม้จะอ้างหลักฐานการป่วยเป็นมะเร็ง หรือให้อาจารย์มหาวิทยาลัย 7 ท่านมาช่วยค้ำประกัน พร้อมด้วยเงินจากกรมคุ้มครองสิทธิอีก 1 ล้าน แต่ไม่ได้รับอนุญาต จนกระทั่งต้องยอมถอนอุทธรณ์และได้เสียชีวิตในเรือนจำในวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมาจากเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และไม่มีการรักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่ควรจะได้รับ
ในขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมาคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)ได้เสนอแนะรัฐบาล ว่าควรผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตราดังกล่าว เช่นเดียวกับ "คณะนิติราษฎร์" ที่เสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายมาตรานี้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรเพิกเฉยควรนำมาพิจารณา พร้อมทั้งเปิดให้สังคมได้มีการแลกเปลี่ยนถกเถียงประชาพิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ตัวอย่างของปัญหามาตรา 112 เช่น การที่ใครๆก็ฟ้องได้ การที่ไม่อนุญาตให้พิสูจน์ "ความจริง" อย่างกฏหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา มาตรา 329 ที่ยกเว้นความผิดถ้าเป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรม ขณะที่มาตรา 330 ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็น "ความจริง" ก็ไม่ต้องรับโทษ(เว้นแต่เป็นเรื่องส่วนตัว และไม่เป็น "ประโยชน์สาธารณะ") แต่ ม.112 ไม่สามารใช้ได้ รวมทั้งมาตรานี้ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันก็ได้รับการบัญญัติขึ้นโดยคณะรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ออกคำสั่งในนามคณะปฎิรูปการปกครองแผ่นดิน ยกเลิกมาตรา 112 เดิม แล้วบัญญัติ 112 ขึ้นใหม่ โดยเพิ่มโทษสูงสุดจาก 7 เป็น 15 ปี และเป็นครั้งแรกที่มีโทษขั้นต่ำของความผิดนี้ คือ "ตั้งแต่ 3 ปี" ไว้ด้วย มาตรา 112 จึงเป็น "กฎหมาย" หรือ "ผลพวง" ของคณะรัฐประหาร และขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย แม้แต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โทษสูงสุดเพียง 3 ปี และไม่มีโทษขั้นต่ำ
จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้
1. ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 ทันที โดยให้รวมนักโทษที่โดนคดีอาญามาตรา 112 เป็นนักโทษการเมืองด้วย
2. ให้รัฐบาลทบทวนการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์และข้อเสนอของ คอป.
3. ให้รัฐบาลเข้าไปดูแลความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ เช่น การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐบาลทั่วไป และทันท่วงที และให้มีหมอ พยาบาล เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วย และจัดอาหารที่เพียงพอ สะอาด มีประโยชน์ หลากหลายและรสชาติที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงที่พักที่ไม่แออัดให้กับนักโทษทุกเรือนจำทั่วประเทศทันที