16 พ.ค. เวลา 13.30 น. ที่อาคารรัฐสภา 2 นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมพิจารณาศึกษากรณีการเสียชีวิตของนายอำพล หรือ อากง ในระหว่างถูกคุมขังในราชทัณฑ์ เพื่อไม่ให้ปรากฏเหตุในลักษณะเช่นเดียวกันอีก โดยเชิญหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สำนักงานศาลยุติธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมทั้งทนายความและญาติของผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มีประชาชนที่สนใจและสื่อมวลชนเข้าร่วมฟังคับคั่ง
การประชุมเริ่มโดยผู้แทนกรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ รายงานถึงผลกระทบจากกรณีการเสียชีวิตของนายอำพลว่า สื่อต่างประเทศได้รายงานและวิพากษ์วิจารณ์การเสียชีวิตของนายอำพลมากพอสมควร โดยเชื่อมโยงกับประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เสรีภาพการแสดงออก และการเมืองภายในประเทศ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ทางกระทรวงต้องให้ข้อมูลแก่ประชาคมโลก สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่นายอำพลยังไม่เสียชีวิตได้แสดงความกังวลเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 และย้ำเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของไทย รองโฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้มาสอบถามรายละเอียดเหตุผลการเสียชีวิตของนายอำพล ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ และเสนอข้อเรียกร้อง 3 เรื่อง คือ สิทธิในการได้รับการประกันตัว สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ต้องหา และให้ดำเนินการชันสูตรศพนายอำพลเพื่อหาสาเหตุการตาย
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่าศาลเองก็ไม่สบายใจกับเหตุการณ์ที่เกิด ศาลได้เคยอนุญาตให้ปล่อยตัวนายอำพลชั่วคราวเมื่อ 4 ต.ค. 2553 ด้วยหลักประกัน 5 แสนบาท แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รับการประกันตัวอีก ในคดีมาตรา 112 ศาลก็เคยอนุญาตให้บางคนประกันตัว เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล จากการเก็บสถิติในกระบวนยุติธรรม ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยที่เป็นคนไทยร้อยละ 93 ไม่อนุญาตร้อยละ 7 เท่านั้น รัฐธรรมนูญบอกว่าการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่ก็ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 ที่จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ศาลจะใช้ดุลยพินิจเป็นรายกรณี
การที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวแม้ว่านายอำพลจะมีอาการป่วย นายสราวุธ ชี้แจงว่าปกติศาลจะปล่อยตัวถ้ามีหลักฐานแสดงชัดเจนเพียงพอ แต่ตอนที่นายอำพลยื่นคำร้องขอประกันตัว เอกสารที่ยื่นมีใบรับรองแพทย์ ศาลเห็นว่าอาการเจ็บป่วยยังไม่ได้ปรากฏมาก น่าเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และอาการป่วยยังสามารถรักษาระหว่างจองจำได้ ถึงมีการยืนขอปล่อยตัวชั่วคราวหลายครั้ง แต่ถ้าศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงยังคงเหมือนเดิม ศาลก็ยังยืนยันตามเดิม ใช้เหตุผลซ้ำๆ กับที่เขียนไว้ของเดิม และต้องชี้แจงว่ารูปแบบคำสั่งกับคำพิพากษาแตกต่างกัน คำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวหรือไม่ต้องทำอย่างรวดเร็วในวันเดียวกัน ที่มีผู้ถามว่าทำไมศาลไม่รู้สึกว่าอาการเจ็บป่วยนั้นร้ายแรงทั้งที่ใบรับรองแพทย์ระบุว่าเป็นมะเร็ง จริงๆ มะเร็งมีหลายระยะ ระยะแรกๆ อาจรักษาหาย ควรมีการระบุความรุนแรงของอาการ นายสราวุธยืนยันว่าศาลมีความเป็นกลาง พิจารณาตามหลักฐานและเกณฑ์ที่กำหนด แต่การใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาแต่ละคนมีความแตกต่างกันภายใต้กรอบกฎหมาย ตนมีความหนักใจในการแถลงครั้งนี้เช่นกัน เพราะตนไม่ใช่ศาล
นายอานนท์ อำภา ทนายความนายอำพล ตั้งข้อสังเกตว่าในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คำสั่งศาลไม่ได้ออกมาในวันเดียวกันอย่างที่นายสราวุธกล่าว ตนเคยยื่นขอปล่อยตัวจำเลย แต่เดือนครึ่งแล้วศาลก็ยังไม่สั่งจนต้องถอนอุทธรณ์ ตนไม่แน่ใจว่าจะต้องรอให้อากงปากพูดไม่ได้ เลือดออกหูจึงจะให้ประกันหรือเปล่า และปัญหาสำคัญในกระบวนการยุติธรรมคือ เห็นได้ว่าการไม่อนุญาตให้ประกันตัวมันบังคับให้จำเลยไม่สู้คดี เช่น กรณีนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความนายอำพลอีกผู้หนึ่ง เสนอว่า ในการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลควรเขียนระบุให้ชัดเจนว่าข้อเท็จจริงที่อาศัยเป็นฐานของดุลยพินิจ “เกรงว่าจะจำเลยหลบหนี” นั้นคืออะไร และเสนอให้ราชทัณฑ์เพิ่มงบประมาณการตรวจรักษาโรคที่ต้องเฝ้าระวังเช่นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ เพราะแม้ผู้ป่วยจะอาการไม่รุนแรงระยะแรกแต่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเพื่อเฝ้าระวังว่าโรคลุกลามไปแค่ไหนแล้ว ตนมีแต่ใบรับรองแพทย์ก่อนที่อากงจะเข้าคุกมาให้ศาลพิจารณา แต่หลังจากนั้นก็ยากลำบากในการติดตามอาการของอากง
ขณะที่นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ในฐานะผู้มีส่วนร่วมชันสูตรพลิกศพอากง ระบุว่า อากงเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลาม ไม่ใช่ระยะสุดท้าย ซึ่งพบชิ้นเนื้อมะเร็งประมาณ 7 เซนติเมตร แต่เชื้อดังกล่าวนั้น ไม่ได้ลามไปถึงหัวใจ และทำให้ตนตั้งข้อสังเกตว่า ขั้นตอนในการส่งตัวไปรักษานั้น มีความบกพร่องมากน้อยหรือไม่ เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้น ทางกรมราชทัณฑ์ก็ควรแก้ไขปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว
นายสรสิทธิ์ จงเจริญ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ชี้แจงการดูแลทางการแพทย์ในเรือนจำว่าผู้ต้องขังที่เข้ามาใหม่ทุกคนต้องพบแพทย์และสอบถามประวัติความเจ็บป่วย ถ้าผู้ต้องขังไม่สบายสามารถพบแพทย์ในเรือนจำได้ทุกวัน จะมีเวรพยาบาลดูแลอยู่ หากสถานพยาบาลในเรือนจำรักษาไม่ไหวจึงจะส่งไปที่โรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์ หากผู้ป่วยมีจำนวนมากจนแพทย์และเครือมือไม่เพียงพอก็จะมีการส่งผู้ป่วยออกไปข้างนอกประจำ
นายแพทย์บุญมี วิบูลย์จักร แพทย์ในโรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์ ยอมรับว่าโรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้เต็มศักยภาพเท่าโรงพยาบาลข้างนอกที่มีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มอัตรา เนื่องจากทัณฑสถานไม่ใช่ที่สำหรับคนทั่วไป เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์จะทำงานตอนกลางวัน แต่กลางคืนจะใช้ระบบเวรพยาบาลแทน ส่วนกรณีที่คนไข้เจ็บป่วยรุนแรง เวรพยาบาลจะแจ้งแพทย์ทราบและให้แพทย์สั่งรักษาทางโทรศัพท์ การรักษาคนไข้ที่ถูกคุมขังมีข้อจำกัดเพราะระบบการกักตัวนักโทษในบางเวลา วันเสาร์ อาทิตย์ ก็ใช้แต่ระบบเวรพยาบาล ไม่มีแพทย์เว้นแต่เหตุฉุกเฉิน
ส่วนการดูแลรักษานายอำพลก่อนเสียชีวิตนั้น นายแพทย์บุญมีเล่าว่าตอนแรกอากงได้แจ้งความเจ็บป่วยเรื่องมะเร็งช่องปาก แพทย์ด้านหูคอจมูกได้ตรวจอาการ แต่ไม่พบอาการกำเริบ เมื่อกลางปีที่แล้ว คนไข้บอกว่ามีรู้สึกอาการจะกลับมาเป็นใหม่ แพทย์ตรวจแล้วก็ยังไม่พบอาการผิดปกติ แต่ก็ได้ส่งไปตรวจ MRI ที่คอในโรงพยาบาลรัชวิภา ก็ยังไม่พบอาการมะเร็งที่ช่องปาก กระทั่งเดือนมกราคมปีนี้ อากงมาหาแพทย์อีกครั้งโดยบอกว่าเจ็บที่คอ แพทย์พบว่าต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เบื้องต้นให้ยาปฏิชีวนะ อาการก็ดีขึ้น ต่อมน้ำเหลืองก็ยุบลงไปและกลับไปเรือนจำตามเดิม คนไข้จะหายไปจากการรักษาเป็นช่วงๆ ระหว่างนั้นก็ใช้ชีวิตเหมือนผู้ต้องขังปกติ ไม่ได้มีอาการเหนื่อยหรือเจ็บป่วยร้ายแรง
นายแพทย์บุญมีกล่าวว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์สามารถผ่ามะเร็งเบื้องต้นได้ทันที แต่กรณีของอากงนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไร โรคที่ช่องปากก็ผ่านการรักษาอย่างถูกต้องแล้ว ส่วนอาการปวดท้องนั้นยังอยู่ในช่วงการตรวจหาโรค ตอนนั้นอากงเริ่มปวดท้อง ท้องบวมโต เราก็รับไว้ในโรงพยาบาลโดยได้ให้ยาเพื่อรอตรวจในวันถัดไปเหมือนโรงพยาบาลอื่นๆ แต่เพราะคนไข้มาในวันศุกร์ ช่วงนั้นเป็นวันหยุดราชการ เสาร์ อาทิตย์ กระบวนการส่งต่อจึงชะงักไปก่อน อาการอากงตอนนั้นยังดูไม่อยู่ในขั้นรุนแรง ความดันปกติ ทานอาหารได้ เหมือนอาการทั่วไปของโรคในช่องท้อง เดินเหินช่วยเหลือตัวเองได้ แพทย์วางแผนจะตรวจข้างนอก แต่ต้องส่งในเวลาทำการ
หลังจากการประชุมเสร็จสิ้น โรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ทนายความของกลุ่มคนเสื้อแดงในเหตุสลายการชุมนุมปี 53 ซึ่งมาร่วมฟังการประชุม ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ตนรู้ถึงอาการป่วยของอากงจากการที่ไปเยี่ยมคราวที่แล้ว ในฐานะนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน มองว่าการที่ศาลปฏิเสธการประกันตัวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ตนได้เรียนกับรัฐบาลว่าปัจจุบันประเทศไทยมีนักโทษทางความคิดหรือนักโทษการเมืองจำนวนมาก รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพเรือนจำ รัฐบาลนี้ได้รับการเลือกตั้งมาโดยประชาชน รัฐบาลต้องตอบสนองมาตรฐานสากลเรื่องสิทธิมนุษยชน ในช่วงรัฐบาลทหารที่นำโดยนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น แต่ตอนนี้ต้องยุติลงเพราะเรามีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เราต้องรับประกันว่าการตายของอากงจะไม่สูญเปล่า เราต้องประกันสิทธินักโทษทางการเมืองและนักโทษทางความคิดทุกคนด้วย