พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช: เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง 'หมอมิ้ง' ไม่ปฏิเสธ

คมชัดลึก 21 พฤษภาคม 2555 >>>




หลังวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ นักการเมืองระดับชั้นหนึ่งที่เรียกกันว่า "บ้านเลขที่ 111" จะพ้นโทษแบนทางการเมือง 5 ปีและเข้าสู่สนามการเมืองที่พวกเขาคร่ำหวอดอีกครั้ง  
และหนึ่งในนั้นก็คือ "นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช" หรือ "หมอมิ้ง" อดีตเลขาธิการนายกฯ สมัย "รัฐบาลทักษิณ" ซึ่งได้รับการยอมกันว่าเป็นระดับ "มันสมอง" และเป็น "นักยุทธศาสตร์" ในการวางเกมทางการเมืองที่ยอดเยี่ยม
"นพ.พรหมินทร์" บอกว่า การเกิดบ้านเลขที่ 111 เพราะต้องการจัดการพรรคของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งการตัดสิทธิ์เช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากแค่ไหน และสิ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับประชาชนก็คือเมื่อไรก็ตามที่มีอำนาจที่ฝืนแนวทางของประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาผลพวงเป็นอย่างไร ถือเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามากกว่าน่าเสียดายโอกาสของประเทศที่เคยฝันว่าเราเองก็น่าจะเด่นในภูมิภาค แต่วันนี้ในโอกาสแบบนั้นก็หายไปเยอะ ส่วนวิถีของการเปลี่ยนแปลงว่าใครจะมีบทบาทอย่างไรนั่นเป็นเรื่องรอง
"หมอมิ้ง" เชื่อว่ารัฐบาลที่ไม่ใช่วิถีประชาธิปไตยนั้นได้รับการยอมรับน้อย ตรงข้ามกับรัฐบาลในวันนี้ที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย ได้รับการต้อนรับจากต่างประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนภาพประชาชนมอบดอกไม้ให้แก่ทหารหลังจากรัฐประหารรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ คือการสร้างภาพให้น่าเกลียดน่ากลัวสำหรับนักการเมือง ภาพนี้ไม่ต่างจากการปฏิวัติ รสช. เมื่อปี 2535 แต่หลังจากการรัฐประหารแล้วประชาชนก็ลุกขึ้นสู้กับสิ่งนั้น ลองไปถามประชาชนว่าการเกิดรัฐประหาร 19 นี้อยากให้เกิดไหม ไม่แน่ว่าคนที่ไปเสียบดอกไม้ อาจจะบอกว่าไม่แล้ว
"หมอมิ้ง" ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับการนำสมาชิกบ้านเลขที่ 111 มาร่วมงานกับรัฐบาลเพื่อไทยเพื่ออุดช่องว่าง เพราะเห็นว่ารัฐบาลเพื่อไทยมีนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้นำ การตัดสินใจก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ พรรคเพื่อไทยเองก็มีกรรมการบริหารพรรค แต่ก็เป็นสิทธิที่คนมุ่งหมายอยากจะเข้ามาช่วย ก็อาจจะช่วยในการพัฒนาพรรค เพราะพรรคนี้ได้รับความไว้วางใจกับประชาชน คนที่เชื่อมั่นในพรรคก็อยากจะอาสาตัวเข้ามาทำงาน ก็เป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาพัฒนา
ส่วนสมาชิกบ้านเลขที่ 111 จะทำให้พรรคเพื่อไทยหรือรัฐบาลเข้มแข็งขึ้นหรือไม่ "หมอมิ้ง" บอกว่า ต้องดูว่าคนที่อยู่ในบ้านเลขที่ 111 มีความประสงค์ประการใด ถ้ายังมีความประสงค์ที่ต้องการรักษาสถาบันที่ตัวเองเกี่ยวข้อง ประสงค์อยากให้ประเทศดี เขาจะทำอย่างสร้างสรรค์ การแย่งตำแหน่งมันอาจจะมีบ้างตามกระแส แต่ข้อเท็จจริงใหญ่ๆ ที่จะคลี่คลาย คือผู้ที่ออกมาล้วนเป็นผู้ใหญ่ เขาเองก็จะรู้ว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน ผมไม่เห็นมีใครประกาศว่าอยากได้ตำแหน่ง มีแต่หลายท่านพูดชัดว่าวันนี้พร้อมจะทำงานเพื่อประเทศชาติ
สำหรับตัว "หมอมิ้ง" บอกว่า ผมรีไทร์แล้วบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป มีคนรุ่นใหม่ๆ มาทำงาน แต่ถ้าเรายังมีความรู้ก็อาจจะส่งผ่านไปให้คนที่เขาอยากได้ ถ้าใครมาแลกเปลี่ยนก็มีความเห็นไป และถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะให้คำปรึกษารัฐบาลขอให้ไปข้อมูลกับรัฐบาลถ้าทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ อยู่ที่ไหนก็ทำได้อยู่แล้ว แต่ถ้านายกฯ ยิ่งลักษณ์กรุณาให้ผมมาเป็นที่ปรึกษา ถ้าเป็นในสิ่งที่ผมไม่ถนัด คงไม่รับ แต่ถ้าพอทำได้และเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ผมคงไม่ปฏิเสธ
ส่วนปัญหาสินค้าของแพงที่อาจกระทบต่อคะแนนนิยมรัฐบาล "หมอมิ้ง" มองในมุมกลับกันว่า ถ้าคุณมีกำลังซื้อมากขึ้น ราคาของก็จะปรับขึ้นเป็นธรรมดา ความต้องการคืออุปสงค์มากกว่าอุปทาน อุปสงค์เกิดขึ้นจากการที่กำลังซื้อมากขึ้น ต้องการบริโภคมากขึ้น ซึ่งตอบว่าเรากำลังเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่เมื่อรายได้ยังไม่ถูกเกลี่ยก็ต้องปรับปรุง แต่ถ้ามองโดยภาพรวม สถาบันอย่างกระทรวงพาณิชย์ได้ตรวจสอบว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่อยู่ได้
   "อีกตัวที่ยากต่อการควบคุม คือ ต้นทุนด้านราคาพลังงานซึ่งรัฐบาลอาจต้องให้ความสำคัญดูแลมากขึ้น และที่ผ่านมารัฐเองก็ใช้เครื่องมือ 2 ตัว คือภาษีสรรพสามิต กับเงินกองทุน ซึ่งเป็นตัวเหมือนกับจะปรับระดับกับราคากับความต้องการได้ บางช่วงลด บางช่วงใส่คืน กลไกเหล่านี้ถ้าให้ความสนใจและดูเรื่องนี้จริงจัง อย่างที่รัฐบาลทำ มีมาตรการที่เหมาะสม แต่ถ้ามองในฐานะผู้วิจารณ์ก็ต้องคิดว่ารัฐบาลเองยังไม่ค่อยอธิบายอย่างได้ผล" อดีต รมว.พลังงาน กล่าว
"หมอมิ้ง" ยอมรับว่า ของแพงจริง แต่เป็นบางเรื่อง ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามเน้นคือของไม่ได้แพง ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ผิดมาตลอด ถ้าไปตรวจสอบ รัฐบาลเองก็บอกว่ามีบางอย่างแพงและไม่แพงและก็ไปจัดการ มีกลไก มีทางเลือก และจัดการกันอยู่ แต่กับการควบคุมราคาของอาหารส่วนตัวผมคิดว่าไม่จำเป็น อะไรที่มีทางเลือกไม่ควรไปยุ่งกับราคา ผมเชื่อทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมคือ ในกลไกตลาดมันก็จะปรับสมดุลตัวมันเอง
เมื่อถามถึงมองว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมีสถานะอย่างไรหลังกลุ่ม 111 เข้าช่วยงานการเมืองพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ "หมอมิ้ง" แม้จะออกตัวไม่ขอวิจารณ์ แต่ก็บอกตบท้ายเปรียบเปรยให้ฟังว่า ของเก่าๆ ที่ไม่เคยปรับตัว มันก็ใช้ไม่ได้ ดังนั้นอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องปรับตัวไปเอง สถาบันทางสังคมก็ต้องปรับตัวไปเอง มิเช่นนั้นก็ไม่มีราคา และตราบใดผู้ที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน ประชาชนเขาก็จะเลือก ตรงกันข้ามถ้าเลือกมาแล้วไม่ทำประโยชน์ให้แก่ใครหรือทำแล้วไม่ถูกใจ ให้เกิดปัญหา หมดความเชื่อถือ การเลือกตั้งครั้งหน้าก็หายไป