กม.ปรองดอง อีกด่านทดสอบ ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทย

มติชน 27 พฤษภาคม 2555 >>>




การเมืองไทย เดินมาถึงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้ง ภายหลังคำปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ "คนเสื้อแดง" ช็อกไปตามๆ กัน
19 พ.ค. เป็นวันรำลึก 2 ปี เหตุการณ์สลายม็อบ 98 ศพ เป็นอีกครั้งที่คนเสื้อแดงมาชุมนุมที่ราชประสงค์เป็นจำนวนมากที่สุด
ด้วยปัจจัยเร่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณี "อากง" ไปจนถึง กรณีศาลวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดงอีกคนหนึ่งสิ้นสุดลง และเป็นวันที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทิ้งไพ่แบใจกับคนเสื้อแดงอย่างตรงไปตรงมา
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวผ่านวิดีโอลิงก์ มีสาระสำคัญว่า ตนเองเดินมาสุดทางแล้ว ขอบคุณเสื้อแดงที่มาส่ง พร้อมกับเรียกร้องให้คนเสื้อแดงสนับสนุนการปรองดอง ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังดำเนินการอยู่
ในรายละเอียด พ.ต.ท.ทักษิณ ยังกล่าวว่า ความขัดแย้งที่ยังดำเนินไป ไม่เป็นประโยชน์กับใคร มีแต่จะเจ็บตัวด้วยกัน
คำปราศรัยครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กับคนเสื้อแดง มีเส้นทางเดินและเป้าหมายที่แตกต่างกัน
ก่อนหน้านี้ คนเสื้อแดงมีเรื่องคาใจกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหลายประเด็น ต้องยอมรับว่า การที่พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก้าวถึงเก้าอี้นายกฯได้ และทำให้ถนนทุกสายมุ่งไปที่ดูไบ แยกไม่ออกจากการสนับสนุนของคนเสื้อแดง
ขณะเดียวกัน ทำให้เสื้อแดงคาดหวังว่า รัฐบาลที่มาจากการสนับสนุนของคนเสื้อแดง จะนำความเป็นธรรม ความยุติธรรมกลับมาเป็นการตอบแทน
ภายหลังการสลายม็อบ 2553 คนเสื้อแดงแตกฉานซ่านเซ็นจากบ้านเมืองตนเอง หลายคนเป็นผู้ลี้ภัยการเมือง ลี้ภัยกฎหมาย จำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้ต้องคดี ผู้ต้องขัง ในคดีความอันเนื่องจากการชุมนุม ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งกลายเป็นผู้ต้องคดีในความผิดตามมาตรา 112
ความหวังที่จะใช้อำนาจรัฐ ที่ได้มาโดยผ่านการเลือกตั้ง ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
แกนนำพรรคเพื่อไทยเอง ยังต้องออกมาเผยว่าแม้ในสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลขณะนั้นก็มีอำนาจที่แท้จริงในมือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์
การจัดตั้งรัฐบาล ต้องพบกับแรงเสียดทานมากมาย จากอำนาจแฝงและขั้วการเมืองตรงข้าม ทำให้แกนนำรัฐบาล ไม่กล้านำเอาคนเสื้อแดงเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี
เมื่อเข้ารับหน้าที่ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเดินหน้านโยบายปรองดอง ด้วยการเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี รวมไปถึงการแสดงท่าทีเป็นมิตรกับแม่ทัพนายกองต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วม ทำให้รัฐบาล ต้องไปโฟกัสที่ปัญหาในภาพรวม
คดีความเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม แม้จะคืบหน้าไปมาก แต่ไม่มีความคึกคักเท่าที่ควร และยังไม่ชัดเจนว่า จะเอาผิดใครได้แค่ไหน การจ่ายเงินเยียวยา กว่าจะเกิดขึ้นได้หืดขึ้นคอ เพราะต้องฝ่าแรงต้านจากฝ่ายค้าน และขั้วการเมืองที่ออกแรงคัดค้านเต็มที่ ทั้งหมดนี้ เป็นสภาพที่ทำให้คนเสื้อแดง ตั้งคำถามต่อรัฐบาลมาตลอด
และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศ โดยตีความได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มี "เป้าหมาย" ของตนเอง ที่อาจจะต่างกับคนเสื้อแดง ความข้องใจของคนเสื้อแดงก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พยายามบรรลุเป้าหมายของตนเอง โดยเอาพลังและชะตากรรมของคนเสื้อแดงไปต่อรองหรือไม่
หลังจากคำปราศรัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2556 ผ่านความเห็นชอบของสภาในวาระ 1 ก็มีข่าวทันทีว่า มีการยื่น พ.ร.บ.ปรองดอง เข้าสู่สภาแล้ว
ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่ยื่นเข้าสภา กำหนดให้บังคับใช้ระหว่าง 2548 ถึง 2554 ครอบคลุมเหตุการณ์ตั้งแต่ม็อบเสื้อเหลืองขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ จนถึงการยุบสภา ปิดฉากรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ขอบข่ายในการนิรโทษกรรม ได้แก่ ผู้ชุมนุมที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งทหารและตำรวจ รวมถึงผู้สั่งการ
นอกจากนี้ยังให้ลบล้างผลทางกฎหมาย ที่เกิดจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 รวมถึงคดีความต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ริเริ่มจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่วนคดีที่อยู่กระบวนการอื่นๆ ให้ระงับ ถอนฟ้อง หรือจำหน่ายคดี คนที่ได้รับผลจึงไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ทุกคนที่ถูก คตส. สอบเป็นร่าง พ.ร.บ. ที่เสนอโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และ ส.ส. หลายพรรค จำนวน 34 คน
แต่กรอบของเนื้อหาร่าง พ.ร.บ. เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังกันมามาก จากการให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคนรวมถึง นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ผู้มีบทบาทผลักดันเรื่องนี้ อยู่ระหว่างรอบรรจุวาระการประชุม หากบรรจุเมื่อไหร่ มีความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง อาทิ อาจใช้เสียงข้างมาก ขอเลื่อนระเบียบวาระ ลัดคิวขึ้นมาพิจารณาทันที หรืออาจจะยื่นคาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่นๆ หรือ ส.ส. เสนอร่าง พ.ร.บ. ทำนองเดียวกันมาประกบ ขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสที่จะหยั่งกระแสความคิดเห็นของสังคมไปพร้อมกัน
การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เกิดขึ้นขณะที่ความคิดเห็นในพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่เป็นเอกภาพเพราะมีบางกลุ่มเห็นว่า เป็นจังหวะก้าวที่โฉ่งฉ่างท้าทาย หรือ "เรียกแขก" มากเกินไป อาจกลายเป็นชนวนปลุกให้เกิดการรวมตัวของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นได้ แม้กระทั่งกลุ่มเสื้อแดงเอง ซึ่งก็เริ่มมีเสียงออกมาแล้วว่า เป็นการปรองดองภายใต้หลักการใด
โดยเฉพาะถ้าเป็นหลักการแบบ "เจ๊า" กันไป ก็เป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงที่สูญเสียชีวิตไปมากมาย ยอมรับไม่ได้เช่นเดียวกัน ก็เป็นเรื่องยากที่ฝ่ายต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จะยอมรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เพราะจะหมายถึงโอกาสกลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ สถานการณ์ในห้วงเวลาต่อไปนี้ จึงน่าสนใจเป็นพิเศษว่าร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะนำการเมืองไทยไปสู่ทิศทางใด
และความเห็นต่างระหว่างคนเสื้อแดง กับ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคเพื่อไทยจะส่งผลอย่างไรต่อร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง และการเมืองโดยรวม