วรเจตน์ ภาคีรัตน์: สื่อคือปัจจัยสำคัญในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน

ประชาไท 23 พฤษภาคม 2555 >>>




วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ปาฐกถาในโอกาสครบรอบ 7 ปี เว็บไซต์ประชาไท ระบุสื่อคือปัจจัยสำคัญในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน หวังให้สื่อได้เสนอข้อเท็จจริงอย่างไม่บิดเบือน ให้ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการแสดงออกซึ่งอำนาจการเมืองของเขา

ประชาไท, 22 พ.ค. 55 - ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ซอยทองหล่อ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ปาฐกถาหัวข้อ “สื่อ..และที่ทางของเสรีภาพในสังคมไทย ?” ในโอกาสครบรอบ 7 ปี เว็บไซต์ประชาไท โดยวรเจตน์เริ่มต้นกล่าวว่า ในปัจุจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย เพราะสื่อนั้นนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน การที่สื่อสามารถรายงานและวิเคราะห์ข่าวอย่างเสรี เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย และสื่อจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐสภาที่เป็นองค์กรของรัฐกับประชาชน สื่อจะทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออก การใช้อำนาจของรัฐ เปิดเผยการกระทำที่ไม่ถูกต้องของบรรดาบุคคลที่เข้าไปมีอำนาจในรัฐ ซึ่งใม่ใช่แค่นักการเมือง แต่รวมถึงหน่วยงานและสถาบันที่มีบทบททางการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม ลับหรือเปิดเผย ภารกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็โดยที่สื่อเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทั้งการเงินและการเมืองของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ประเด็นสำคัญที่ว่าการก่อตั้งเจตจำนงของประชาชนให้เป็นไปได้โดยอิสระ ต้องมีสื่อที่มีความสามารถในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนมีความพร้อมในการแสดงออกซึ่งอำนาจการเมืองของเขา
ดังนั้น ไม่ใช่แค่ระดับการศึกษาที่แสดงออกที่จะเป็นปัจจัยสำคัญ หากแต่เป็นความหลากหลายในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผมเห็นต่างกับความคิดที่ว่า สังคไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย เพราะสำนึกประชาธิปไตยต่างหากที่มีผล และการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายมีความสำคัญกว่าอย่างเทียบไมได้
ที่ผ่านมาสื่อมวลชนได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์ควรค่าแก่ความพอใจแล้วหรือไม่ ตลอดเวลาที่ผมได้สัมผัสโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักรัฐประหาร คำตอบที่ได้คือสื่อมวลชนไทยยังไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างน่าพอใจ และเราอาจจะพบว่าสื่อมวลชนไทยมีปัญหาในการนำเสนอ ปัญหาในการควบคุมวิชาชีพสื่อ
วรเจตน์ได้ตั้งคำถามถึงคุณค่าพื้นฐานของสื่อมวลชน โดยระบุว่าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยากให้สื่อมวลชนเป็นมืออาชีพ ไม่ต่างกับเวลาที่ฟังความเห็นของนักวิชาการที่ต้องการความเป็นมืออาชีพ แล้วความเป็นมืออาชีพอยู่ตรงไหน อย่างน้อยที่สุดต้องเสนอข้อเท็จจริงหรือความจริงก่อน เพราะถ้าไม่นำเสนอข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงแล้ว การที่ประชาชนจะเข้าถึงข้อมูลอย่างถูกต้องก็เป็นไปไม่ได้
   “หลายปีที่ผ่านมา ผมเป็นแหล่งข่าว ผมพบว่า หลายครั้งสื่อไม่แยกความเห็นกับข้อเท็จจริงที่ต้องการนำเสนอ สิ่งที่พิสูจน์ได้ดีก็คือตอนที่คณะนิติราษฏร์เสนอเรื่องการล้มล้างผลพวงการรัฐประหารในรูปที่เป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแถลงข่าว พบว่าสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริง ยังไม่พูดถึงว่าเขามีความเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอนิติราษฎร์ เช่น การเสนอให้ล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร บรรดาคดีความต่างๆ ทีเริ่มต้นขึ้นจากการตั้งเรื่องของ คตส. คดีเหล่านี้ เมื่อศาลพิพากษาไปแล้วให้มีการลบล่งคำพิพากษา แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ ไปตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ผมพบว่าสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งนำเสนอข้อเท็จจริงนี้ไปในแง่ที่ว่าคณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเราเห็นได้ว่า เป็นคนละเรื่อง แค่ข้อเท็จจริงแค่นี้ยังไม่สามารถนำเสนอให้ตรงได้ เราจะคาดหวังว่าสื่อมวลชนจะแสดงบทบาทและใช้เสรีภาพให้ตรงตามหลักประชาธิปไตยได้อย่างไร”
อีกประเด็นหนึ่ง การควบคุมกันเอง การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าสื่อจะรายงานข่าวของตนไปตามที่เสกสรรปั้นแต่งขึ้นก็ได้ และเมื่อมีการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง ทำให้คนอื่นเสียหาย หรือนำไปสู่ความขัดแย้ง องค์กรที่ควบคุมวิชาชีพสื่อก็น่าจะมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ปัจจุบัน เราไม่สามารถควบคุมสื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพ เราไม่อาจจะเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว แต่ต้องเน้นเรื่องความรับผิดชอบด้วย
   “ถ้าดูประวัติศาสตร์ เราพบว่าการเซ็นเซอร์สิ่งพิมพ์มีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ มีการเผาหนังสือ แต่ผมมีความเห็นว่าการเซ็นเซอร์จากรัฐแม้จะน่ากลัวก็ยังน่ากลัวน้อยกว่าการที่สื่อจงใจเซ็นเซอร์หรือจงใจไม่รายงานข่าวบางอย่างที่ไม่สอดคล้องกับทัศนคติของตัว ไม่ว่าจะด้วยความกลัวหรือด้วยอคติอย่างอื่น”
วรเจตน์กล่าวต่อไปว่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าสื่อมวลชนไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าควบคุมการใช้อำนาจรัฐโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
   “แต่ผมเห็นว่าในสังคมไทย การทำเท่านี้ยังไม่เพียงพอ ผมเห็นว่าสื่อมวลชนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงและข่าวสารของอำนาจที่ไม่ได้เปิดเผยโดยตรงหรือหลายคนไม่รู้สึกอยากไปแตะต้อง ผมกำลังพูดถึงการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวพันกับสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และศาล นั้นหมายความว่าถ้าเราอยากจะเห็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนรอบด้าน ต้องกล้าหาญมากขึ้น และเสนอข่าวสารที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ กองทัพ และศาล ได้มากขึ้น ถ้าไม่สามารถทำได้ การก่อตั้งเจตจำนงของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยก็ไม่อาจจะเกิดได้อย่างครบถ้วน มีคุณภาพ และรอบด้าน”
ทั้งนี้ เมื่อมองไปรอบตัวเราพบว่ามีสื่อทางเลือกจำนวนมาก การเกิดขึ้นของสื่อจำนวนไม่น้อยที่เองที่ทำให้ในที่สุดสื่อกระแสหลักจะปรับตัวมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาก็พบว่าปรับตัวน้อยมากและตามไม่ทันสื่อมวลชนทางเลือกมากขึ้นๆ
วรเจตน์กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่เกี่ยวกับประชาไท เขาพบกับประชาไทตั้งแต่ปีแรกๆ ตั้งแต่ปี 2547 ช่วงแรกมีคนรู้จักน้อยมาก โดยสังเกตพบว่าคนที่อ่านข่าวหรือแสดงความเห็นในเว็บบอร์ดส่วนหนึ่งเป็นบรรดานักวิชาการต่างๆ แม้จะเสนอข่าวสารเอ็นจีโอหรือคนด้อยโอกาสทางสังคม แต่คนที่มารับข่าวสารมักเป็นคนที่มีการศึกษาพอสมควร ต่อมาก็เล่นข่าวในทางการเมืองมากขึ้น และทำให้ต้องแสดงจุดยืนทางการเมือง และพบว่าประชาไทมีโอกาสแสดงจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจนหลังการรัฐประหาร ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่
   “มีสื่อจำนวนน้อยมากที่กล้าจะยืนขึ้นบอกว่าการรัฐประหารไม่ถูกต้อง โดยไม่กลัวว่าการทำเช่นนั้นเป็นการเข้าข้างหรือรับใช้คณะรัฐบาลที่ถูกล้มไป นี่เป็นความประทับใจของผมต่อประชาไท ประเด็นที่ประชาไทเสนอนั้นหลายเรื่องเสนอก่อนสื่ออืนๆ เช่นการวาพกษ์วิจารณ์ตุลาการภิวัตน์”
อย่างไรก็ตาม วรเจตน์กล่าวว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของประชาไทที่เป็นสื่อเล็กและมีคนติดตามไม่มาก แต่ต่อมาได้กลายเป็นสื่อทางเลือก เป็นกระแสหลักในกระแสรองไป และดำรงอยู่มาจนปัจจุบัน แต่หากถามว่าการเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาไทครบถ้วนสมบูรณ์ขนาดที่ไม่ต้องปรับปรุงแล้วหรือไม่ เขาคิดว่าในแง่ของสื่อความสมบูรณ์คงไม่มี มีแต่พัฒนาการที่ต้องทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
วรเจตน์กล่าวด้วยว่าเสียดายที่ประชาไทต้องปิดเว็บบอร์ดลง แต่ก็เข้าใจ ทั้งยังกล่าวว่า ประชาไทนั้นมาไกลมากแล้วในการนำเสนอด้านสถาบันกษัตริย์ และตุลาการ แต่ยังไม่ได้นำเสนอด้านกองทัพมากนักซึ่งเข้าใจว่าเป็นข้อจำกัดของนักข่าว
วรเจตน์กล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่อยากเห็นจากประชาไทว่า อยากเห็นประชาไทนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่เป็นข้อเท็จจริงล้วนๆ เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์มากกว่านี้ คนที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจมากขึ้น ถ้าประชาไทจะทำข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง ก็น่าจะทำในเชิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้น และอยากเห็นความหลากหลายในการตีความประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับบริบทการเมืองไทยในปัจจุบันและคิดว่าประชาไทน่าจะเป็นสื่ออันดีในการนำเสนอได้
   “ในมุมมองของนักวิชาการคนหนึ่งที่ติดตามบทบาทของประชาไท อยากให้ประชาไทคงไว้ซึ่งบทความทางวิชาการ และอยากเห็นมุมมองทีต่างออกไปจากปัจจุบันมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาควรจะดำรงไว้ และไม่ต้องกังวลว่าจะไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งคือการนำเสนอบทบรรณาธิการที่เสนอจุดยืนของหลักประชาธิปไจตย ประชาไทจะเป็นด่านหน้าในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่อยู่บนความถูกต้องและเป็นธรรม ในยามที่สื่อจำนวนมากละเลยต่อภารกิจนี้”
ตอนท้ายเขาได้กล่าวขอขอบคุณจอน อึ๊งภากรณ์ ที่ได้ก่อตั้งประชาไทขึ้นมา และหวังว่าประชาไทจะอยู่คู่กับข้อมูลข่าสารและดึงตัวเองขึ้นไปเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักในอนาคต และคงจุดยืนในการรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย นิติรัฐ และประเด็นที่สุ่มเสี่ยงแต่สำคัญในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน “และหวังว่าในอนาคต เมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ประชาไทก็จะเป็นสื่อมวลชนที่โดดเด่นเป็นสง่าและเป็นแบบอย่างให้สื่อมวลชนอื่นๆ ของบ้านเรา” วรเจตน์ กล่าวในที่สุด